คนไทยรู้หรือยัง DES และ NT ร่วมเปิดตัว ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 8,000 แห่ง กว่า 5,000 ตำบล ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ
ต่อจากนี้ คนไทยจะรู้ล่วงหน้าและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ดีขึ้น เพราะ ดีอีเอส โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ เอ็นที จัดทำ ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 8,000 แห่ง เพื่อเตือนภัยประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชัน RGuard
ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Data) เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบทุนอุดหนุนการวิจัยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เป็นผู้ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่นและภูมิอากาศในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) และแจ้งเตือนแก่ประชาชน
การเปิดตัวที่ทำการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกิดขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2565 ณ อาคาร NT Tower บางรัก กรุงเทพฯ โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในการเปิดศูนย์ฯ และ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที มากล่าวถึงประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนคนไทย จากการสนับสนุนของ ดีอีเอส โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีเป้าหมายในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวนทั้งสิ้น 8,000 สถานี ทั้ง 77 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 900 อำเภอ 5,000 ตำบล โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง หรือเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยสถานีทั้งหมดจะสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ฝุ่น PM 1 PM 2.5 PM 10 อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ รวมทั้งทิศทางและความเร็วลม
สำหรับข้อมูลคุณภาพอากาศและภูมิอากาศภายใต้โครงการนี้ จะมีการเก็บทุกๆ 5 นาที และส่งผ่านเครือข่าย LoRaWAN ของเอ็นที เข้าสู่คลังข้อมูล (Big Data) เพื่อจัดเก็บและวิเคราะห์ต่อไป และเมื่อโครงการฯ เก็บสะสมข้อมูลได้ต่อเนื่องมากพอ ระบบจะสามารถวิเคราะห์และพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดปัญหาฝุ่น PM เฉพาะพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ สถานที่ติดตั้งสถานีฯ ทั้งหมดของโครงการได้รับความร่วมมือจากกระทรวงหลักต่างๆ ของประเทศ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมได้จากสถานีตรวจวัดอากาศเหล่านี้ในแบบข้อมูลสาธารณะ (Open Data) แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ ให้สามารถนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเพื่อการวิจัย ข้อมูลสถิติ หรือสร้างเป็นซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอีกทางหนึ่ง
สำหรับโครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้ นอกจากจะเป็นการดำเนินงานเพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกตามนโยบายหลักของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นโครงการต้นแบบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสร้างทรัพยากรกลางด้านข้อมูล (Big Data) เพื่อให้ประชาชน สถาบันการศึกษา หรือบริษัทเอกชน นำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดจากการดำเนินการของภาครัฐต่อไป
คอนเทนต์ภาคต่อจากงานเสวนา : RGuard กับการใช้ Open Data เพื่อทำให้ชีวิตพวกเราดีขึ้น www.springnews.co.th/spring-life/822284