นักวิทย์ฯกังวล ไฟป่าอาจจะรุนแรงขึ้น 50% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ พื้นที่น่าห่วงคืออาร์กติก ติดตามสถานการณ์ไฟป่าทั่วโลกได้ แล้วทำไมถึงเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบ 100 ปี
ไฟป่า เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ สำหรับภัยพิบัติธรรมชาติที่สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ แต่ทุกการอุบัติมักมีต้นสายของการเกิดเสมอ หรือพูดง่ายๆว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่า ที่แตกต่างกันออกไป มาจากธรรมชาติก็ดี หรือมาจากมนุษย์ก็ดี แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมาจากทางไหน ท้ายที่สุดก็จะจบลงที่การสูญเสียเสมอ
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์จากการเฝ้าสังเกตจากสถานการณ์ไฟป่าทั่วโลกว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้น โดยอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 50% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ตามรางงานใหม่ของสหประชาชาติ นอกจากนี้ในรายงานยังพบอีกว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือพื้นที่แถบอาร์กติกและภูมิภาคอื่นๆก่อนหน้าที่เคยเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง
นักวิทย์ฯจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) นิยามไฟป่าเหล่านี้ว่า เป็นเพลิงไหม้ที่ไม่ธรรมดา เป็นปรากฏการณ์ที่หายาก 100 ปี มี 1 ครั้ง นักวิจัยยังชี้อีกว่าอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากการเผาไหม้ที่ดำเนินมาเนิ่นนานกับวิธีการใช้งานที่ดินของมนุษย์ผลักดันให้เกิดไฟป่าถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น
การศึกษาใหม่เหล่านี้เรียกร้องให้มีการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินใหม่ ตั้งแต่การดับเพลิงไปจนถึงการป้องกันอัคคีภัย แต่ปัญหาสำคัญที่กำลังศึกษาเต็มกำลังอยู่ตอนนี้คือ ไฟเริ่มลุกลามไปในพื้นที่ทางตอนเหนือที่ห่างไกลและรกร้าง ในพื้นที่ป่าพรุที่แห้งแล้งและแผ่นดินที่เย็นยะเยือก แต่ความเย็นเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ไฟเหล่านั้นลดความร้อนแรงลงได้นะ แต่มันกำลังเป็นตัวเร่งให้พื้นที่และน้ำแข็งในบริเวณนั้นละลายเร็วขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภัยแล้งโปรตุเกสรุนแรงเป็นประวัติการณ์ เสี่ยงกระทบพืชผลและแหล่งน้ำ
น้ำทะเล รอบสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้น 1 ฟุตในปี 2050 โลกร้อน ทำให้ภัยมาเร็วขึ้น
ดินถล่มบราซิล จากฝนตกหนัก คร่าชีวิตผู้คนบราซิลไปแล้วกว่า 94 ชีวิต
ป่าแอมะซอนทุบสถิติ สูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 7 เท่าของแมนฮัตตัน
การศึกษาล่าสุดระบุว่าไฟป่าที่รุนแรงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 14% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับจำนวนที่บันทึกไว้ในปี 2010-2020 การเพิ่มขึ้นอาจถึง 30% ภายในปี 2050 และ 50% ภายในสิ้นศตวรรษนี้
หากนึกภาพไม่ออก ดร.แอนดรูว์ ซิลลิแวน จากองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพ (CSIRO) ในเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า
“ถ้าคุณนึกภาพไม่ออก ให้นึกภาพอาร์กติก ที่ไม่มีมนุษย์อยู่ ไฟกระจายเป็นเซนติเมตรต่อชั่วโมง ไม่จำเป็นว่าเป็นไฟนรกที่โหมกระหน่ำก็ได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆและมันก็กำลังแพร่กระจายไปยังพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่ไม่มีใครอยู่คอยควบคุม การวิเคราะห์เหล่านี้อิงมาจากคำจำกัดความของการเกิดเพลิงไหม้ร้ายแรงที่เกิดขึ้นทุกๆ 100 ปี ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ที่มีความถี่ต่ำมาก ความรุนแรงของไฟประเภทนั้นจะเพิ่มขึ้น 1.3-1.5 เท่าเลยทีเดียว”
หรือพูดง่ายๆจากที่คุณซิลิแวนพูดคือ พื้นที่อาร์กติกทางเหนือที่ห่างไกลนั้น มันกว้างมากๆ และมันหนาวเย็นจนไม่มีมนุษย์ไปอยู่อาศัย แต่ถ้าเกิดไฟป่าขึ้นมาแน่นอนว่ามันสามารถเกิดได้ เพราะพื้นที่ทั้งแห้งและเย็น เป็นฉนวนติดไฟได้ด้วย และยิ่งเป็นพื้นที่รกร้างที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปอยู่อาศัย แล้วใครเล่าจะดับไฟ เพราะความเย็นของอากาศในที่นี้ไม่สามารถช่วยดับไฟได้นะ มันจะกลายเป็นไฟไปทำให้น้ำแข็งในพื้นที่ละลายมากกว่า และเหตุการณ์ลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี หรือก็คือ 100 ปี จะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ถือเป็นสถานการณ์ที่หายาก และไม่น่ายินดีเอาซะเลย
“ไฟแบบนี้ในพื้นที่ป่าพรุเป็นไฟรุนแรง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คุณจะคิดว่าเป็นไฟรุนแรง ถ้าคุณอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย (เพราะเกิดบ่อยจนชิน)” และแม้ว่าการศึกษาจะคาดการณ์เฉพาะเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุการณ์ไฟป่าที่น้อยลงจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สิ่งนี้อาจมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากการเผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
แต่การเปลี่ยนแปลงความถี่จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยท้องถิ่นหลายประการ โลกมีแนวโน้มที่จะเห็นไฟป่ามากขึ้นในภูมิภาคอาร์กติก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในภูมิภาคนี้
ในทางกลับกัน แอฟริกาซึ่งเกิดไฟป่าบ่อยประมาณ 2 ใน 3 ของโลก มีแนวโน้มว่าไฟจะเกิดน้อยลงในทศวรรษหน้า เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นกำลังเคลียร์พื้นที่ป่าสำหรับการทำการเกษตรมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะช่วยขจัดไฟป่าได้แล้วจบนะ เพราะแอฟริกายังคงต้องเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงและการขาดแคลนอาหาร จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าการเกษตรของพวกเขานั้นจะได้ผลหรือไม่
ดร.กลินนิส ฮัมฟรีย์ (Dr.Glynis Humphrey) จากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์กล่าวว่า “ในแอฟริกา จำนวนการเกิดเพลิงไหม้ลดลง เนื่องจากการใช้ที่ดินเปลี่ยนไปและการเกษตรทวีความรุนแรงขึ้น จริงๆแล้ว เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เผาไหม้ของเราลดลงและไฟของเรามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆเนื่องจากปริมาณเชื้อเพลิงที่ลดลง”
มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายเพื่อเหตุการณ์อัคคีภัยขนาดใหญ่ ขณะนี้ การศึกษาระบุว่าการวางแผนและการป้องกันได้รับเงินทุนน้อยกว่า 1% ในขณะที่การดับเพลิงใช้งบประมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มีอยู่ รัฐบาลหลายแห่งมีเจตนาที่ดีในแง่ของการใช้จ่ายมากขึ้นในการวางแผนและป้องกัน แต่ความเป็นจริงบนพื้นดินนั้นแตกต่างออกไป
Prof. Paulo Fernandes จาก Universidade de Trás-os-Montes e Alto Douro ในโปรตุเกส กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องลงทุนมากขึ้นในการป้องกันอัคคีภัย ในการจัดการเต็มรูปแบบ รวมถึงเพื่อให้ไฟสามารถบรรลุบทบาททางนิเวศวิทยาได้"
สรุปเนื้อความทั้งหมดจากผู้เขียน
ไฟป่ากำลังเพิ่มจำนวนและวามรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาร์กติกที่หนาวเย็นและแห้ง โอกาสการเกิดไฟป่าจึงสูงขึ้น ไม่มีมนุษย์ผู้คอยดับไฟ รวมไปถึงในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกที่มักเกิดไฟป่า อย่างเช่น ป่าแอมะซอน ออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนีย เป็นต้น จะมีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพื่อการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่า เงินทุนและงบประมาณจัดสรรไม่เพียงพอ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้นและคาดว่าอาจจะกลายเป็นศตวรรษแห่งไฟ จากการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ไฟป่าหายาก 100 ปี มี 1 ครั้งจากนักวิทย์ฯ
แต่ในทางกลับกัน แอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้งผนวกกับความแห้งแล้งกลับมีการศึกษาคาดการณ์ว่าปริมาณไฟป่าจะเกิดน้อยลง เนื่องจากการเข้าไปเคลียร์ที่ของประชาชนสำหรับการทำการเกษตรมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะแอฟริกาก่อนหน้านี้เผชิญกับความหลากหลายของสภาพภูมิอากาศมาก เช่น ความแห้งแล้ง ฝนตกหนัก อากาศหนาวเฉียบพลัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมต่างประเทศของผู้เขียน การเกิดไฟป่าหรือปรากฎการณ์ต่างๆทางธรรมชาติถือว่าคาดเดาไม่ได้ ว่าจะรุนแรงขึ้นมาอีกเมื่อใดหรือจะเปลี่ยนแปลงไปทางใดได้บ้าง
ดังนั้นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นตอนนี้คือการจัดสรรงบประมาณของพื้นที่เกิดอัคคีภัยในแต่ละภูมิภาคให้เพียงพอต่อการดับไฟและการป้องกัน เพื่อควบคุมการลุกลามของไฟไปยังภูมิภาคอื่น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศด้วย และจะสามารถรักษาชีวิตของสัตว์ป่าและสุขภาพของประชาชนได้ด้วย
ที่มาข้อมูล