ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามองในปี 2022 มีหลายประเด็นที่น่าติดตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกกระทุ้งให้ออกมาเด่นชัดมากขึ้นแล้ว ดังนั้นเราควรติดตามประเด็นอะไรบ้างนะ?
เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ควรรอช้า ปัญหาด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ และปรากฎการณ์โลกรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ ไม่ควรมองข้าม ตัวช่วยที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาคือการตระหนักและการลงมือทำให้มันเป็นรูปธรรมมากที่สุด รวมไปถึงรู้ต้นเหตุของปัญหาเพื่อป้องกันล่วงหน้า ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามองในปี 2022 รวบรวมโดย The Revelator ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Covering Climate Now เป็นการร่วมมือกันในด้านของงานวารสารศาสตร์ระดับโลกที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสภาพอากาศ
แม้ว่าจะขึ้นปีใหม่มาแล้ว แต่ประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆยังประเดประดังขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และผนวกกับปีที่ผ่านๆมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังคงผ่านเข้ามาเรื่อยๆและผ่านไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่สำนักข่าวทั่วโลกเริ่มหันมานำเสนอเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ถูกมองข้ามหรือเป็นกระแสแค่เพียงไม่กี่วันเท่านั้น งั้นเรามามองดูประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามองในปีนี้กันดีกว่าว่ามีเรื่องราวใดน่าสนใจบ้าง เพราะถือว่าปีนี้เป็นปีที่มีทีท่าการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หิมะตกบนทะเลทรายซาฮารา ครั้งที่ 5 ภายในระยะเวลา 42 ปี ส่อปัญหาภาวะโลกรวน
วิกฤตสหราชอาณาจักร ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงกว่าครึ่งในรอบศตวรรษ
วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
ปีที่ผ่านมามีผลการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ออกมารายงานการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ระบุว่าหลายพื้นที่มีการสูญพันธุ์ของสปีชีส์กลุ่มใหญ่ จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลามถูกคุกคาม เช่นเดียวกับต้นไม้ที่เสียหายไปกว่าร้อยละ 30 เต่าเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโลก แมลงปอร้อยละ 16 นกยุโรปร้อยละ 30 และนกออสเตรเลียร้อยละ 16 ตัวเลขเหล่านี้คือหายนะของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา สัตว์อีกหลายสายพันธุ์อยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์กว่าสี่หมื่นสปีชีส์
น่าเศร้ามากไปอีก เมื่อนักจัยเริ่มหมดหวัง โดยพวกเขาเคยหวังว่าจำนวนเหล่านี้จะลดลงในปี 2022 แต่นั้นดูเป็นไปได้ยาก สัตว์หายากที่เหลือน้อยเต็มที อาจสูญพันธุ์ในปีนี้ ช้าไปที่เราจะช่วยขยายพันธุ์ให้กับพวกมันได้ แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องร้ายๆ สัตว์บางสายพันธุ์ยังคงอยู่รอดได้ด้วยการอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าคุ้มครอง แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จากการขยายเมืองและการตัดไม้ ล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย
นอกจากนี้อุปสรรคของการอนุรักษ์ คือการระบาดครั้งใหญ่ของโคโรนาไวรัส ทำให้ประเด็นที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ถูกกลบไปหลายเรื่อง การเข้าถึง รับรู้ และการตระหนักจากข้อมูลข่าวสารจึงลดน้อยลงไปในสายตาสาธารณชน อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการทำวิจัยเชิงภาคสนามน้อยลงมากทั่วโลกจากการระบาดครั้งใหญ่นี้
ขยะพลาสติกเกลื่อนโลก
อันตรายจากขยะพลาสติก ปัญหาใหญ่ระดับโลกที่แก้ไขไม่ได้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รายงานใหม่จาก Nation Academy of Sciences ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมเปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนอันดับต้นๆของปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯสร้างขยะพลาสติกในปี พ.ศ. 2559 มากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งคิดเป็น 42 ล้านเมตริกตันซึ่งมากกว่าสหภาพยุโรปและมากกว่าเป็น 2 เท่าของประเทศจีน แต่นั่นก็เป็นของปี 2559 เพราะปีที่ผ่านมา 2564 นี่เอง จีนก็เริ่มไต่ลำดับขึ้นมาแล้ว ในฐานะประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุด
สหรัฐอเมริกาได้เปิดตัวพระราชบัญญัติใหม่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ชื่อ Break Free From Plastic มีหน้าที่ในการวางแบบแผนพัฒนานโยบายให้ครอบคลุมเพื่อลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และยังมีอีกกลยุทธ์หนึ่ง คือการปิดก๊อกการผลิตพลาสติกโยหยุดการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้สำหรับผลิดวัตถุดิบพลาสติกและหยุดการสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่แห่งใหม่เพิ่ม
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพิษต่อชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นอีกด้วย และขยะพลาสติกนั้นไม่ได้คงอยู่เพียงเฉพาะในเมืองหรือถังขยะเท่านั้น มันอยู่ทุกที่ที่มีผืนดินและผืนน้ำ จากกระบวนการกำจัดที่ไม่ถูกต้องและจำนวนที่มากเกินไป ถึงเวลาของความเป็นผู้นำแล้ว ไม่ใช่แค่ในประเทศนี้ แต่ทั่วโลก ต้องออกมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมและยุติธรรมมากที่สุด
สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วทั่วโลก
ไม่มีอะไรน่าแปลกใจไปกว่า เรากำลังดำรงอยู่ในสภาพอากาศเลวร้ายทุกปีในขณะนี้ จากเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดอย่างภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรอบตัวตลอดปี ไม่ว่าจะไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม หิมะตกบนทะเลทราย พายุถล่ม เป็นต้น เรามักแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุเสมอ
สาเหตหลักของภัยพิบัติเหล่านี้มาจากสภาพอากาศแปรปรวน โลกร้อนขึ้น ซึ่งมีมูลเหตุมาจากมนุษย์เราเอง เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนสะสมในชั้นบรรยากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การทำลายหน้าดินด้วยการขุดเหมือง เป็นต้น
นักวิจัยแสดงให้เห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเหตุการณ์สภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์จาก World Weather Attribution แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยพิบัติได้ร้อยละ 70 ของ 407 สถานการณ์ด้านความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นและรุนแรงขึ้น
พลังงานทดแทนและธุรกิจ ECO-LIFE
หลังจากการเรียกร้องของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม NGO และรายงานจากงานวิจัยหลากหลายแหล่งทั่วโลก ทำให้เกิดการประชุม COP26 และอีกหลายการประชุมที่ผ่านมาของสหประชาชาติ และการมุ่งเป้าไปยังภาคอุตสาหกรรมธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างมลพิษก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การหาทางออก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมหรือการแก้ไขนโยบายบริษัทนายทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดมากขึ้น
การผลักดันให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้นำหลายประเทศเริ่มรณรงค์และออกมาตรการ เพราะได้รับคำแนะนำมาจากหลากหลายแหล่งว่า การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศได้น้อยกว่าจนแทบจะเป็น 0
แม้ในความเป็นจริงนั้น การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะดีในแง่ของการปล่อยมลพิษในด้านของปัจเจกบุคคลที่ใช้งานรถยนต์เหล่านั้น แต่ในทางกลับกันในด้านของการผลิตนั้น ยังคงมีการใช้พลังงานถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตลิเธียมสำหรับผลิตแบตเตอรี่ให้กระแสไฟฟ้าที่ใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า จึงยังมองว่า รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นพลังงานบริสุทธิที่แท้จริง ทั้งนี้จึงต้องมองการพัฒนาต่อไปในอนาคตว่าจะหาทางออกได้อย่างไรบ้าง
ในด้านของกระแสธุรกิจ หลายๆแบรนด์เริ่มทำการประชาสัมพันธ์ และการจับมือกับผลิตภัณฑ์หรือนโยบายที่สนับสนุนไลน์การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกของยุคปัจจุบัน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสียงของการเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มดังขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่คาดหวังได้รวดเร็วอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ เช่น หลายธุรกิจมีการเปลี่ยนจากการใช้รณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ออกโปรโมชั่นนำแก้วมาเอง จะได้ลดราคาค่าเครื่องดื่ม หรือมาตรการไม่รับช้อนหรือส้อม เป็นต้น
กฎหมายและข้อบังคับใช้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ข้อกฎหมายหรือข้อบังคับด้านการควบคุมมลพิษหรือปัญหาต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มมีการบังคับใช้มากขึ้นแล้วหลังการประชุมของสหประชาชาติ ข้อตกลงปารีสและการประชุม COP26 หลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการลงมือทำมากขึ้น อย่างน้อยๆก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อกฎหมายบ้าง เพราะที่ผ่านมาการละเลยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งมาจากต้นเหตุคือกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่รุนแรงพอๆกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยเงียบที่ค่อยๆคืบคลานมาหา
มีรายงานข่าวต่างประเทศหลายกรณีในเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสสั่งแบนพลาสติกห่อหุ้มผักและผลไม้ สหภาพยุโรปออกเงินช่วยประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เบอร์ลินผุดไอเดียถนนปลอดรถยนต์ google maps ออกฟีเจอร์เส้นทางคาร์บอนต่ำในการเดินทาง เป็นต้น บางเรื่องอาจไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ชัดเจน แต่ถือเป็นข้อเสนอที่มีแนวโน้มนำไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่าในอนาคต
หรือจะมองประเด็นใกล้ตัวอย่าง น้ำมันดิบรั่วที่ระยองกว่า 400,000 ตัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างและผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและชุมชนด้วย ประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายที่ยังไม่ชัดเจนนั้น จึงเป็นคำถามที่เราตั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าของธุรกิจปิโตรเลียมและภาครัฐในการเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีกระบวนการอย่างไร กฎหมายเข้มพอหรือยังในการป้องกันภัยอุบัติเหตุลักษณะนี้ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก การบีบรัดทางข้อบังคับและกฎหมายที่รุนแรงอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้บริษัทเจ้าของธุรกิจดังกล่าวมีมาตรการที่รัดกุมมากขึ้น ในการขนส่งน้ำมันครั้งต่อไป รวมไปถึงมาตรการป้องกันที่หนาแน่นมากขึ้น นั่นคือการคาดหวังต่อชุมชน อีกด้านหนึ่งคือการคาดหวังกับทีท่าของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรต่ออุบัติเหตุครั้งนี้ รวมไปถึงความโปร่งใสของการทำงานด้วย นั่นจึงทำให้เราต้องจับตาดูกันต่อไป
กฎหมายที่มีข้อบังคับที่รุนแรง อาจเป็นส่วนหนึ่งในการให้คน กลุ่มคน หรือประเทศหนึ่ง มีการระแวดระวังปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยสามารถเริ่มต้นได้ที่ตนเองและร่วมมือกันนำโลกใบนี้กลับสู่สมดุลเพื่ออยู่ร่วมกันต่อไป ทางสปริงนิวส์จะรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกให้ได้ติดตามกันต่อไป โปรดติดตามได้ทุกช่องทาของทางสปริงนิวส์ เพื่อไม่พลาดข่าวสารที่น่าสนใจ
ที่มาข้อมูล
https://www.unep.org/news-and-stories/story/2022-emergency-mode-environment
https://www.weforum.org/agenda/2022/01/climate-change-action-trends-2022-un/