ชา ขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่การเดินทางของมันนั้นไม่ธรรมดาเลย Springnews ชวนไปรู้จักกับจุดกำเนิดของชาแต่ละชาติ และที่มาของ วันชาสากล ว่าเป็นมาได้ยังไง
วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี ‘วันชาสากล’ (International Tea Day) จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2548 โดยเริ่มมาจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็กๆหลายกลุ่มในแบงกอลตะวันตกและทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้รวมตัวเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมในการค้าชา เพราะอุตสาหกรรมชาในประเทศอินเดียนั้นมีความซบเซาและการจัดการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ
ถึงแม้ว่ากระบวนการผลิตและผลที่ได้รับนั้นจะถูกปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ในเรื่องของเทคโนโลยีและกระบวนการเก็บที่มีคุณภาพขึ้น แต่เกษตรกรเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคา นั่นจึงทำให้องค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC-Centre for Communication and Education) องค์ที่คอยให้ความช่วยเหลือสิทธิของเกาตรกรและผู้ผลิรายย่อย ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
บนโลกใบนี้มีชาหลากหลายรูปแบบมากๆ Springnews จึงอยากชวนทุกคนไปรู้จักต้นกำเนิดของชาแต่ละประเทศว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อไหร่ จุดเริ่มต้นที่แท้จริงคือที่ไหน ใครเป็นผู้ค้นพบ
ชาจีน
ชาที่เก่าแก่ที่สุด มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน ย้อนไปสมัยโบราณของจีนเมื่อเกือบ 5,000 ปีที่แล้ว ตามตำนานเล่าว่าเมื่อ 2732 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิเซินหนงสื่อ ผู้ชื่นชอบการศึกษาสมุนไพรและพฤกศาสตร์ ค้นพบใบชา โดยมีใบชาใบหนึ่งเผลอพัดปลิวตกลงมาในหม้อต้มน้ำของเขา เขาสนใจในกลิ่นหอมของมันทันทีและลองดื่มเพื่อชิมรสชาติ ตำนานกล่าวว่า จักรพรรดิได้บรรยายถึงความรู้สึกอบอุ่นในขณะที่เขาดื่มด่ำกับมัน เขารู้สึกว่าของเหลวดังกล่าวมันได้ไหลเวียนไปยังทุกส่วนของร่างกาย
จักรพรรดิได้ตั้งชื่อมันว่า “Ch’a” ซึ่งตามอักษรจีน หมายถึง ตรวจสอบหรือสอบสวน ในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล สมัยจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นปกครอง เมื่อพวกเขาพูดถึงชาพวกเขาจะใช้ตัวอักษรพิเศษ เป็นรูปกิ่งไม้ หญ้า และผู้ชายระหว่างทั้งสองอักขระ ที่เมื่อรวมกันจะออกเสียงว่า ‘ชา’ ซึ่งสัญลักษณ์นี้มีความหมายที่ลึกซึ้งคือ ชาได้นำมนุษยชาติเข้าสู่สมดุลกับธรรมชาติสำหรับวัฒนธรรมจีน
ในประเทศจีน ความนิยมของชายังคงเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 8 ไม่เพียงแต่ใช้เป็นสรรพคุณทางยาเท่านั้น ชายังมีคุณค่าต่อความสุขและความสดชื่นในทุกๆวันอีกด้วย ชาที่นิยมส่วนใหญ่เป็นชาผูเอ๋อร์ ไร่ชาได้กระจายไปทั่วประเทศจีน พ่อค้าชา กลายเป็นผู้ร่ำรวย และถ้วยชามีความหรูหราและมีราคาแพง ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของจีนที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง
จักรวรรดิจีนควบคุมการเตรียมการและการเพาะปลูกชาอย่างเข้มงวด มีการระบุไว้ด้วยว่า มีเพียงหญิงสาวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ดูแลใบชา หนึ่งในนั้นคือการผสมรวมไปกับความเชื่อว่าหญิงสาวคือผู้บริสุทธิ์ ซึ่งใบชาคือสิ่งที่บริสุทธิ์เหมาะสมกับหญิงสาว หญิงสาวที่เป็นผู้ดูแลใบชาไม่ควรกินแม้กระทั่งกระเทียม หัวหอมหรือเครื่องเทศแรงๆ เพราะเกรงว่ากลิ่นฉุนเหล่านั้นจะปนเปื้อนไปกับใบชาอันล้ำค่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์พลิกโลก กับ เกร็ดชีวิต 7 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้
พายุทอร์นาโดในสหรัฐฯคร่าชีวิตไป 100 คนแล้ว ทำไมพายุถึงเกิดบ่อยในสหรัฐฯ?
25 พฤศจิกายน 1844 วันเกิด คาร์ล เบนซ์ ผู้ประดิษฐ์ "รถยนต์คันแรก" ของโลก
21 พ.ย. วันทีวีโลก World Television Day : ความบันเทิงที่อยู่คู่ทุกบ้าน
ชาทิเบต
ชาวจีนได้นำชามาสู่ทิเบตในศตวรรษที่ 9 สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและภูมิประเทศที่มีแต่หิน ทำให้การเพาะปลูกพืชเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงต้องนำเข้าชาจากจีนผ่านคาราวานจามรี การเดินทางที่แสนยาวนานและเหน็ดเหนื่อยด้วยฝูงจามรีจากจีนสู่ทิเบต ใช้เวลาเกือบ 1 ปีจากลักษณะประเทศที่มีแต่ภูเขาสูงชัน นอกจากนี้ยังต้องกังวลเรื่องของการปล้นและโจรที่ชุกชุมระหว่างทาง ในแต่ละวันจึงมีจามรีที่แบกชาประมาณ 200-300ตัว เดินทางขึ้นมาบนภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน
ชาทิเบตแบบดั้งเดิมตามเนื้อผ้าจริงๆ มีตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 เรียกว่า เผอจา หรือชาเนยจามรี ใบชาที่นำมาใช้จะเป็นใบชาผู่เอ้อ (Puer Tea) ประเภทชาดำจะทำโดยการต้มใบชาประมาณครึ่งชั่วโมงจนกว่าน้ำจะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ก่อนที่จะกรองของเหลวผ่านกระชอนที่ทำจากขนม้าลงในภาชนะกระบอกไม้ยาวๆไว้ปั่นชา และจะถูกเติมเกลือและเนยจามรี (Yak Butter)ลงไปด้วยและคนให้เข้ากัน แล้วชักลูกสูบขึ้น-ลง จนกว่าน้ำชาจะผสมเข้ากันจนมีลักษณะข้นจึงถือว่าใช้ได้ การเติมเครื่องเคียงเหล่านี้เป็นการเพิ่มไขมันให้กับชา เหมาะสำหรับคนที่อยู่ตามภูเขา ส่วนมากชาวทิเบตมักจะดื่มชา 40-60 ถ้วยเลยทีเดียว
ชาญี่ปุ่น
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 9 หรืออาจราวๆต้นสมัยเฮอัน (Heian)ชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนประเทศจีนได้รู้จักคุณค่าและประเพณีของการดื่มชา พระเด็งเกียว ไดชิ ได้รับเกียรติในการนำใบชาจากจีน ไปยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อเขากลับจากการไปศึกษาในต่างประเทศ ชากลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในอารามของญี่ปุ่น พระสงฆ์ใช้ชาเพื่อช่วยให้ตื่นตัวระหว่างการทำสมาธิ
ในช่วงต้นปี ค.ศ.1300 ชาได้รับความนิยมในสังคมญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นให้ความสำคัญกับศาสนา จึงทำให้คุณค่าของชามีการเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ก่อให้เกิดพิธีชงชาแบบญี่ปุ่นขึ้นมา
ต่อมาในช่วงตอนต้นสมัยคามาคุระ (Kamakura) นักบวช Eisai ผู้ก่อตั้งนิกาย Rinzai หนึ่งในพุทธศาสนาเซน ได้นำเมล็ดชามาจากจีนเป็นจำนวนมากพร้อมกับกรรมวิธีการผลิตชากลับมาด้วย นั่นก็คือการดื่มชาในสไตล์ Matcha นั่นเอง
ในอดีตการดื่มชาเป็นที่นิยมกันในหมู่นักรบ ขุนนาง ตลอดจนพ่อค้าชาวเมืองที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ต่อมาท่าน เซ็น โนะ ริคิว (Sen no Rikyu) ได้ทำให้พิธีชงชากลายเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า “Chanoyu (ชาโนะยุ )” ที่ถูกพัฒนาขึ้นในปลายศตวรรษที่ 15 ภายใต้อิทธิพลของปรัชญาญี่ปุ่นของพุทธศาสนานิกายเซน พิธีที่ให้ความสำคัญสูงสุดในการเคารพการปรุงและการดื่มชา
พุทธศาสนานิกายเซนให้เกียรติแก่องค์ประกอบสำคัญของปรัชญาญี่ปุ่น (ความสามัคคี ความบริสุทธิ์ ความเคารพและความสงบ) ระหว่างชาโนะยุ พิธีชงชาจึงมีความสำคัญอย่างมากจนต้องมีการสร้างห้องชงชาเป็นพิเศษในสวนหลังบ้าน รวมไปถึงนำไปรวมกับพิธีสำคัญอย่างการแต่งงานด้วย
ชาที่ใช้ในพิธี ชาโนะยุ นั้นทำขึ้นด้วยการผสมน้ำลงในชาเขียวที่มีความเข้มข้น หรือที่เรารู้จักกันดีคือ “มัจฉะ” แม้ว่าจะแปลกตาแปลกปากจากชาแบบตะวันตกไป แต่ชาวญี่ปุ่นก็ชอบรสชาติที่สดใหม่ของมัจฉะมากกว่าวิธีชงชาแบบเข้มข้น การชงชาแบบ Steeped หรือการชงชาเขียวด้วยการแช่ใบชาไว้ตลอดการดื่ม ได้รับความนิยมอีกครั้งในญี่ปุ่น เมื่อปลายศตวรรษที่17 หรือค.ศ 1730 มีขั้นตอนการชงที่ง่าย ใช้อุปกรณ์น้อย และได้รสชาค่อนข้างคงที่ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวก
ปัจจุบันชาได้รับการยอมรับอย่างสมบูรณ์แบบในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ชาจะถูกเสิร์ฟในอาหารทุกมื้อและใช้สำหรับรับรองแขก นอกจากนี้ชายังถูกบรรจุลงขวดขายในตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและร้านค้าต่างๆ หรือมีแม้กระทั่งไอศกรีมรส ‘ชาเขียว’
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ที่จำกัด จากการเป็นหมู่เกาะและภูเขา และด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของญี่ปุ่นนั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมากในหมู่ประเทศเอเชีย อุตสาหกรรมชาในญี่ปุ่นจึงทันสมัยและเติบโตมากที่สุดในโลก ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกชาในญี่ปุ่นใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีชงชาที่พิถีพิถันแบบโบราณ
ชารัสเซีย
ในปี ค.ศ. 1618 ชาวจีนได้มอบชาให้กับซาร์อเล็กซิสแห่งรัสเซีย (Tsar Alexis of Russia) ทุกคนสมัยนั้นอยากรู้จักสินค้าใหม่ๆที่มาพร้อมกับคาราวานอูฐ โดยเฉพาะเครื่องดื่มอย่างชาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คาราวานอูฐขนส่งชาเข้ามาในประเทศผ่านระยะทางกว่า 11,000 ไมล์ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ปีเศษๆ เพื่อนำส่งชาไปถึงมือของชาวรัสเซีย ช่วงนั้นมีการใช้อูฐเพื่อขนส่งถึง 6,000 ตัวซึ่งแต่ละตัวจะมีชาประมาณ 600 ปอนด์เข้ามายังรัสเซียทุกปี
ในปี 1903 คาราวานอูฐถูกแทนที่ด้วยรถไฟทรานซ์ไซบีเรียอันโด่งดัง ซึ่งได้ย่นระยะเวลาการขนส่งจาก 1 ปี เหลือเพียงสัปดาห์เดียว ซึ่งชารัสเซียนิยมเป็นชาดำ รสชาติเข้มข้น ยิ่งเข้มยิ่งดี
ชายุโรปหรือชาอังกฤษ
ชาวโปรตุเกสและดัตช์นำเข้าชามายังยุโรปครั้งแรกในปีค.ศ.1610 หรือสมัยที่ Rembrandt Harmenszoon Van Rijn จิตรกรและช่างพิมพ์ชื่อดังแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรปมีอายุได้เพียง 4 ขวบเท่านั้น และชาก็ได้แพร่หลายไปสู่อังกฤษในทศวรรษ 1650
ปีค.ศ. 1662 เมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งบราแกนซา (Catherine of Braganza) ชาวโปรตุเกส ราชินีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรชื่นชอบชามาโดยตลอดและได้นำหีบชาจีนชั้นดีติดตัวไปด้วยเสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินสอดทองหมั้นของเธอเอง เธอเริ่มเสิร์ฟชาให้เพื่อนขุนนางของเธอและเครื่องดื่มจากตระกูลชั้นสูงแบบนี้ก็ได้เริ่มแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
'ชา' เป็นสัญลักษณ์ของสินค้าชนชั้นสูง เป็นสินค้านำเข้าที่หรูหรา มีเพียงเศรษฐีเท่านั้นที่สามารถดื่มชาได้ ค่าชาที่แพงที่สุดที่เคยมีนั้นเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของค่าแรงคนงานหนึ่งเดือน การดื่มชากลายเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกฐานะทางสังคมและบ่งบอกถึงสติปัญญาและชาติตระกูลที่ดูดี ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวชาวอังกฤษและชาวดัตช์ผู้มั่งคั่งในศตวรรษที่ 18จำนวนมากจึงมักมีภาพวาดของครอบครัวที่มีท่าทางการดื่มชาด้วยเสมอ
ชายามบ่าย หรือ Afternoon tea ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ เป็นกิจกรรมยอดฮิตของอังกฤษ ที่ได้รับการยกย่องจากแอนนา ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดที่ 7 ผู้ซึ่งชอบบ่นว่าระยะเวลาระหว่างอาหารเช้ากับอาหารเย็นนั้นช่างยาวนานซะเหลือเกิน เพื่อบรรเทาความหิวของเธอ เธอก็แนะนำให้สาวใช้นำหม้อชาและเครื่องดื่มเย็นๆมาที่ห้องของเธอ และในไม่ช้าเธอก็ได้ชักชวนเพื่อนของเธอมาร่วมดื่มชาและพูดคุยกัน และรูปแบบนี้ก็ได้แพร่หลายออกไป
ชาอินเดีย
สงครามแห่งชา เมื่อการบริโภคชาเติบโตขึ้น การส่งออกของสหราชอาณาจักรก็ไม่ตอบสนองต่อความต้องการในการนำเข้าชาได้ นอกจากมันจะเน้นไปยังกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น และชาวจีนก็มองเม็ดเงินสำคัญกว่าฝ้าย ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสหราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ตาม การหาแร่เงินมาแลกกับช้าก็กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น
ดังนั้นชาวอังกฤษจึงหันไปปลูกชาในอาณานิคมของเอเชียขนาดใหญ่แทน นั่นคือ อินเดีย ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงปี 1839 เมื่อจีนได้ส่งชา 20,000 หีบไปยังหลุมศพในทะเลใกล้กับเมืองแคนตันซึ่งก็ยังไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดและ อีก 1 ปีต่อมา อังกฤษได้ประกาศสงครามกับจีน และจีนก็ตอบโต้ด้วยการสั่งห้ามส่งออกชาอย่างเข้มงวด
ไร่ชาในอินเดีย จีนลังเลที่จะค้าขายกับตะวันตกในช่วงก่อนที่สงครามชาจะเริ่มขึ้น จีนเชื่อว่าชาติของตนมีความพอเพียงและสามารถแยกตัวได้ ความยากลำบากในคำสั่งห้ามส่งชาของจีน ทำให้อังกฤษต้องสำรวจทางเลือกอื่นๆ เช่นการปลูกชาของตัวเองขึ้นมา ทั้งในอังกฤษและอินเดีย
ชาส่วนใหญ่จะนิยมเป็นชาอัสสัมและชาดาร์จีลิง ซึ่งปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างรัฐอัสสัม
ชาไทย
เครื่องดื่มสีส้มสุดฮิตของคนไทย ความหวานของมันทำให้หลายคนหลงใหล และแน่นอนว่าเราก็ได้รับวัฒนธรรมการดื่มชามาจากจีนเช่นกัน ส่วนการเติมให้มันหวานๆนั้น มาจากอินเดีย
การเริ่มต้นของพฤติกรรมการดื่มชาคาดว่าจะเป็นเช่นเดียวกับชาวอังกฤษ คือนำเข้าชาจีนเพื่อมาถวายผูกสัมพันธ์กับเชื้อพระวงศ์องค์เจ้า ซึ่งจากหลักฐานการจดบันทึกไว้ คาดว่าเป็นช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้ปกครองสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่วิธีการดื่มดูแปลกๆไป คือ ต้องอมก้อนน้ำตาลไว้ในปากก่อน จากนั้นจึงดื่มชาร้อนตาม และแน่นอนว่าการดื่มชาจีนนั้นไม่ได้แพร่หลายไปเร็วนัก เพราะคนนิยมนำไปถวายพระ หรือใช้ในขณะว่าราชการเท่านั้น รวมไปถึงเป็นเครื่องดื่มเฉพาะสำหรับคนชนชั้นสูง
จากการเปลี่ยนรูปแบบให้ชา มีรสชาติที่หวานเข้าปากกับคนไทยมากขึ้น คือไทยได้รับอิทธิพลมาจาก ‘อินเดีย’ ด้วยการเติมนมและน้ำตาลลงไป เพราะในช่วงสมัยนั้นไทยติดต่อค้าขายกับอินเดียมากเป็นพิเศษ ในปีพ.ศ.2436 ไทยเริ่มขายนมข้นหวานตราแหม่มทูนหัว ทำให้นมข้นนิยมนำมาใส่ในชาแทน และในปี พ.ศ.2446 มีการจัดตั้งโรงงานน้ำแข็งขึ้นแห่งแรกในไทย เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับเครื่องดื่ม จึงเพิ่มการเติมน้ำแข็งลงไปด้วย และในปลายรัชกาลที่ 6 ก็มีการตั้งร้านกาแฟโบราณเพิ่มขึ้นในพระนคร ทำให้ชาไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่กระจายออกไปโดยผู้มาเยือน
และชาส้มที่สุดฮิตของเรานี้ สิ่งที่ทำให้ชามีความโด่เด่นและแตกต่างจากชาอื่นคือ สีส้มของมัน ที่มาจาก ‘ชาซีลอน’ ที่นำมาปรับกลิ่น และแต่งสี เพื่อให้เวลาชงออกมานั้นสีสวย คนไทยนั้นชอบกินหวานมากๆ ชอบเติมนมหรือน้ำตาลไปเกือบทุกเมนู ไม่ว่าจะชาร้อน, ชาเย็น, ชาดำร้อน, ชาดำเย็น และชาไทย ซึ่งคำว่า ‘ชาไทย’ (Thai Tea) ก็มาจากชาวต่างชาติเรียก เพราะหาดื่มได้ที่ไทยเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีชาอีกหลายประเทศและรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เช่น
ชาอังกฤษ – เติมนมลงไปในชาดำ
ชาตุรกี – ชาร้อนเสิร์ฟในแก้วขนาดเล็ก พร้อมน้ำตาลก้อน
ชาโมร็อกโก – น้ำชาที่ราดลงบนใบมิ้นท์ที่จัดวางอยู่ในแก้ว เพื่อเพิ่มความสดชื่น
ชาฮ่องกง – ใส่นมข้นลงในชาและใส่น้ำแข็ง คล้ายๆชาเย็นบ้านเรา
ชาไต้หวัน – ใครๆก็รู้จัก ที่มีลูกดำๆที่เรียกว่าไข่มุก ทำจากแป้งมันสำปะหลัง เพิ่มรสชาติหวานและมีอะไรให้ได้ขบเคี้ยว มีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น
ชาสหรัฐอเมริกา – ดื่มชาดำกับมะนาวและน้ำตาล บางสูตรเพิ่มเบกิ้งโซดาลงไปด้วย
ชาปากีสถาน – ชา Masala ชาผสมเครื่องเทศและเนย
ชาอียิปต์ – ชาดำไม่ใส่น้ำตาล และชาฮิบิสคัส ที่ไว้เฉพาะเฉลิมฉลองในงานแต่งงาน
ชามองโกเลีย – ชงชากับนมและเกลือ ใส่ในภาชนะลักษณะเหมือนหม้อโลหะทรงแบน
ชาอาร์เจนตินา – ดื่มชาร่วมกับสมุนไพรที่มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ
ชาแอฟริกาใต้ – ชายอดนิยมคือ Rooibos เป็นชาสีแดงที่มีรสนุ่มหวาน
ชาคูเวต – ชาดำผสมกระวานและหญ้าฝรั่ง
และชาอีกมากมายบนโลก รอให้เราไปเสาะหาและดื่มด่ำไปกับวัฒนธรรมอันนุ่มลึกและคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ คุณล่ะ เคยดื่มชาของประเทศไหนกันมาบ้างแล้ว มาเล่าให้ฟังหน่อย
ที่มาข้อมูล
http://www.coffeeteawarehouse.com/tea-history.html
https://arit.kpru.ac.th/page_id/647/TH
https://www.thefirstultimate.com/travel/Butter-Tea
https://www.jnto.or.th/newsletter/sadou-japanese-tea-ceremony/
https://urbancreature.co/thai-tea/
https://www.marumura.com/japanese-green-tea-2/
https://allabout-japan.com/th/article/7830/