svasdssvasds

เหตุสลายการชุมนุมจะนะรักษ์ถิ่น ย้อนดูคำสัญญาที่รัฐให้ไว้

เหตุสลายการชุมนุมจะนะรักษ์ถิ่น ย้อนดูคำสัญญาที่รัฐให้ไว้

เจ้าหน้าที่คฝ.เข้าสลายการชุมนุมอย่างสันติของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น โดยอ้างว่าการจับกุมเป็นไปตามหลักสากล หลังจะนะรักษ์ถิ่นออกมาทวงสัญญาที่รัฐให้ไว้ แล้วรัฐสัญญาอะไรไว้?

เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.เวลาประมาณ 21.20 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ตำรวจติดอุปกรณ์ปราบม็อบนับร้อยนาย และรถผู้ต้องขัง 2 คัน เข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะหรือจะนะรักษ์ถิ่นกว่า 50 ชีวิต หลังเดินทางจากจังหวัดสงขลามายังกรุงเทพฯเมื่อช่วงเย็นวาน เพื่อเข้าชุมนุมอย่างสันติเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่รัฐเคยให้ไว้กับชาวจะนะในการตรวจสอบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ นำโดย นางสาว ไครียะห์ ระหมันยะ (ลูกสาวทะเลจะนะ)

จากไลฟ์ของคุณ Somboon Khamhang ที่เผยแพร่ช่วงการสลายการจับกุมของเจ้าหน้าที่ พร้อมเสียงตะโกนกรีดร้องของชาวจะนะ ใจความว่า “อย่านะ ตำรวจทำร้ายประชาชน เราไม่มีอาวุธเลย” แม้ชาวจะนะจะทำการอารยะขัดขืน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานจำนวนของเจ้าหน้าที่ล้อมเข้ามาได้

ในช่วงระหว่างก่อนการสลายชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้กันสื่อออกไปจากบริเวณเต็นท์ของชาวจะนะ และไล่ให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม หากไม่ทำตามจะจับไปด้วย พร้อมกับฉายเลเซอร์และไฟฉายใส่กล้องมือถือและกล้องถ่ายรูปของผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว การจับกุมเกิดขึ้นที่บริเวณประตู 1 หน้าทำเนียบรัฐบาล ชาวจะนะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก แต่หลังจับกุมเจ้าหน้าที่พาตัวขึ้นรถตู้ไปที่สโมสรตำรวจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย. นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ (ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ) ได้เดินทางมากรุงเทพฯและปักหลักทวงคืนสัญญาด้วยตัวเองหน้าทำเนียบรัฐบาลฯ โดยมุ่งหวังให้รัฐทำตามข้อตกลง(MOU)ที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 คือ

  • รัฐต้องยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และระงับการแก้ไขผังเมืองเอาไว้ก่อน
  • จัดทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์

แต่สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ สิ่งที่เรียกร้องคือ

  • รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยต้องตรวจสอบในครบทุกมิติ
  • รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษาทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ ศอ.บต (ศูนย์อำนวยการการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้)
  • ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการตามข้อ1 และข้อ 2 จะแล้วเสร็จ

แต่จนแล้วจนเล่า ข้อเรียกร้องและข้อสัญญาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น กล่าวคือ กระบวนการตรวจสอบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งไปนั้น ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น การศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม กำลังเพี้ยนไปจากที่เสนอไว้ และรัฐยังปล่อยให้ศอ.บต และบริษัทเอกชนผู้ป็นเจ้าของโครงการเร่งดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

ย้อนกลับไปดูแผนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่เป็นปัญหาที่ชาวจะนะคัดค้าน

จำได้หรือไม่ เมื่อต้นปีที่แล้ว กับฉากหลังตู้คอนเทนเนอร์หลายตู้วางเรียงซ้อนกันหน้าทำเนียบรัฐบาล ครั้งหนึ่งกลุ่มจะนะรักษ์ทะเลได้ออกมาประท้วงเพื่อคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และทางฝั่งรัฐบาลก็ได้ส่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมารับเรื่องจากชาวจะนะ และสัญญาว่าดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่จนมาวันนี้ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณความคืบหน้าใดๆมาให้รับทราบกัน

ชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา รวมตัวกันเรียกร้องไม่เอานิคมอุตสาหกรรมจะนะบริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 cr.Nichanan Tanthanawit

แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ

การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้นเริ่มต้นมาจากโมเดลแผนพัฒนา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ถูกเสนอโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการพิจารณาและเห็นชอบ เมื่อวัน 21 กุมภาพันธ์ 2562 ภายใต้โครงการ เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำการอนุมัติไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

พื้นที่สีม่วงคือพื้นที่ที่จะเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ บริเวณหาดสวนกงถูกตรวจสอบพื้นที่และวิเคราะห์โดยนักวิชาการถึงความเหมาะสมต่อการเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อเป็นท่าเรือจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ จึงนำไปสู่การเรียกร้องคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรม นำโดย นางสาว ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ได้ออกมาเรียกร้องและขอให้รับฟังเหตุผลถึงข้อเสียของการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่บ้านเกิดของตน

ซึ่งจากการที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์บังนี หรือนายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ เมื่อปี 2563 และอ้างอิงจากนิตยสารอ่างแก้วพลัส เล่มที่ 19  ของคณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์บังนีกล่าวว่า

“ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เขาว่ามามันกินพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะจะนะที่กำลังถูกพัฒนาให้เป็นต้นแบบที่ 4 ผมงงว่าอุตสาหกรรมต้นแบบมันต้องดีกว่านี้สิ แต่เพราะแบบเก่ามันถึงยังไม่ถูกพัฒนาให้ดีเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น ดูสภาพนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตอนนี้สิ น้ำเสียถูกปล่อยลงทะเลที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ทำกิน และมีผลเสียตามมาด้วยซ้ำ นักการเมืองบางคนก็พยายามที่จะมากว้านซื้อที่ดินราคาถูกเพื่อทำอุตสาหกรรมแล้วยื่นพิจารณาเพื่อเก็งราคาที่ดินเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง จากซื้อไร่ละ 300,000 แต่เอาไปขาย 600,000 ใช้อิทธิพลของตัวเองในการซื้อที่ของชาวบ้าน”

อีกทั้งหากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล เพราะสมาคมรักษ์ทะเลจะนะเห็นว่าสภาพแวดล้อม ณ ปัจจุบันสมบูรณ์อยู่แล้ว อีกทั้งยังได้รับผลกระทบมาแล้วบ้างจากตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งการที่ทุกคนออกมาช่วยกันปกป้องทะเลผืนนี้ร่วมไปกับไครียะห์ เป็นเพราะว่าทุกคนเห็นด้วย ตั้งแต่ต้นจนจบ ไครียะห์เป็นคนยื่นหนังสือเองทั้งหมด และหากมีนิคมอุตสาหกรรมฯเกิดขึ้น อนาคตที่ของพวกเขาอยากสานต่อการผู้พิทักษ์ทะเลและบ้านเกิดของตนคงจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

“การพัฒนาฐานจากทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช่ว่าจะเอาสิ่งแปลกปลอมมาใส่บนฐานทรัพยากรซึ่งมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ถ้าวันไหนเกิดค้นพบว่าที่นี่ไม่สมบูรณ์แล้วเหมาะแก่การสร้างนิคมอุตสาหกรรม เราจะไม่ขัดขวางเลย แต่ว่าตรงนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลา กระทั่งภูมิภาคอาเซียน คุณกำลังทำลายที่นี่ การเอานิคมอุตสาหกรรมมาคุณได้ GDP แต่ชาวบ้านได้อะไร ตั้งกี่หมู่บ้าน กี่แสนคนต้องเสียบ้าน ฐานทรัพยากรของเขาไป”

น่าจะพอได้แล้วเราควรมาเน้นในเรื่องอาหารการกินมากกว่าว่า ทำยังไงให้สามารถเผื่อแผ่มนุษย์ทุกคนได้ทั่วถึง กินได้เหมือนกับเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นชนชั้นไหนก็แล้วแต่ ยังไงเราก็สึกหิวเหมือนกัน เมื่อคุณหิว คุณก็จะรู้ว่าอาหารสำคัญมากแค่ไหนและยิ่งไปกว่านั้นคืออากาศ ตอนที่ไฟไหม้อินโดนีเซีย ฝุ่นควันยังมาถึงประเทศไทยเลย ถ้าเกิดมีนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานมีมลพิษ ผมคิดว่า คนแถวนี้คงทนอยู่ไม่ได้แน่นอน รัฐควรรู้ได้แล้วว่าจะพัฒนาในด้านไหน ให้มันสอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของชาวบ้าน

หาดสวนกง cr.หาดใหญ่โฟกัส ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการใช้ความรุนแรงโดยใช่เหตุ และรัฐเป็นผู้ก่อความรุนแรงก่อน เพราะการชุมนุมของจะนะรักษ์ถิ่นนั้นไม่ได้เป็นผู้เริ่มความรุนแรงก่อนและไม่มีอาวุธ อีกประการหนึ่ง ตรวจได้กล่าวว่า ตำรวจได้คุยตกลงกับ 6 องค์กรสื่อแล้ว สื่อเลยไม่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ แต่คุยตอนไหน ประเด็นใดเข้าข่ายบ้างไม่เข้าข่ายบ้าง สื่อยังไม่อาจรู้ได้ จึงต้องติดตามกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้มีหลายองค์กรและกลุ่มต่างๆออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เช่น สมัชชาคนจน, Saveหาดม่วงงาม, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.), สภานักศึกษาม.ปัตตานี, Beach for life และกป.อพช. เป็นต้น ทั้งนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่าเจ้าหน้าที่จะแถลงการณืการจับกุมครั้งนี้ว่าอย่างไร และด้วยเหตุผลใด

ที่มาข้อมูล

หนังสือพิมพ์อ่างแก้วและนิตยสารอ่างแก้วพลัส

สื่อเถื่อน ข่าว

The Matter

Noppakow Kongsuwan

The Reporters

related