22 กันยายน วันแรดโลก หรือ วันอนุรักษ์แรดโลก (World Rhino Day) จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมรณรงค์การต่อต้านล่าเอานอแรดไปขาย และตระหนักถึงความสำคัญของแรดที่กำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
รู้หรือไม่? 'แรด' เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นขนาดใหญ่รองลงมาจาก 'ช้าง' ที่ตอนนี้กำลังจะสูญพันธุ์ลงทุกที ซึ่งในวันที่ 22 กันยายนของทุกปี จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นเป็น วันอนุรักษ์แรดโลก (World Rhino Day)
ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการตอกย้ำ เตือนสติ และเพิ่มความตระหนักถึงการลดลงอย่างน่าเป็นห่วงของ 'แรด' ทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจนหมด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ย้อนดู วันก่อตั้งวันแรดโลก เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อปี 2553 คือจุดกำเนิดของ วันแรดโลก โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวันแรดโลกได้สำเร็จ จนกลายเป็นที่ยอมรับทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ได้แก่
1. แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา
2. แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
3. แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน
4. แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย
5. กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง
ซึ่งกำหนดให้ ทุกวันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์แรดโลก การจัดตั้งวันแรดโลก ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก จนเกือบจะกลายมาเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน
วิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด
ปัจจุบันแรดกลายมาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ใกล้สูญพันธุ์ เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายที่อยู่อาศัยของแรด และอีกสาเหตุหลักที่สำคัญคือ การล่าของมนุษย์ ที่ต้องการนำนอแรดไปขายแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงการนำนอแรดไปปรุงเป็นยา ตามความเชื่อของชาวจีนว่านอแรดสามารถรักษาโรคได้บางโรค แท้จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของคน
จากวิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีข่าวการปกป้องสัตว์สายพันธุ์นี้อย่างจริงจัง อย่างเช่นกรณีของ เจ้าซูดาน แรดขาวเหนือ (northern white rhino) เพศผู้ วัย 42 ปี ที่คาดว่าน่าจะเป็นแรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายของโลก ในวัยชรา ที่มีความหวังในการผสมพันธุ์กับตัวเมียริบหรี่เพราะอสุจิอ่อนแอ แม้จะพยายามผสมพันธุ์กันมาหลายครั้งก็ประสบความล้มเหลว ส่งผลให้ทางศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต้องออกมาตรการปกป้องคุ้มครองแบบถึงที่สุด โดยให้เจ้าหน้าที่ถือปืนคอยปกป้องดูแลมัน 24 ชั่วโมง เพราะเกรงว่าหากคลาดสายตา เจ้าซูดานอาจจะตกเป็นเหยื่อของนักล่าสัตว์ได้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการสูญสิ้นของสายพันธุ์แรดขาวเหนือเลยทีเดียว
การหายไปของแรดในเอเชีย
สำหรับการลักลอบฆ่าแรดเพื่อเอานอ พบว่าตลาดที่มีการค้าขายใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ เวียดนาม รวมทั้งพบว่า แรดชวาตัวสุดท้ายของเวียดนามถูกพบเป็นซากเมื่อเดือนเมษายน 2553
ขณะที่ประเทศไทยนั้น ในอดีตสามารถพบสัตว์ตระกูลแรดในประเทศไทยได้ 2 ชนิด คือ แรดชวาและกระซู่ ซึ่งเป็นสัตว์สงวนบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส แต่ปัจจุบันไม่มีใครพบสิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ชนิดนี้ตามธรรมชาติของผืนป่าไทยอีกแล้ว แม้จะยังมีรายงานว่าพบเพียงร่องรอยบ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครพบตัวเป็น ๆ แต่อย่างใด
จากวิกฤตการณ์การใกล้สูญพันธุ์ของประชากรแรด ทาง WWF จึงเชิญชวนทุกคนร่วมกันช่วยอนุรักษ์ประชากรแรด รวมทั้งช่วยกันต่อต้านค่านิยมการนำนอแรดมาทำเครื่องประดับ และความเชื่อผิด ๆ ที่เชื่อว่านอแรดสามารถนำมาปรุงยา และเพื่อไม่ให้สายพันธุ์แรดหมดไปจากโลก