สืบ นาคะเสถียร ประวัตินักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ การสละชีวิตเพื่อผืนป่า 1 กันยายน 2564 รำลึก 31 ปี ตำนานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าของวลี "ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า" ต้นแบบข้าราชการที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
ประวัติ สืบ นาคะเสถียร ชื่อเดิม "สืบยศ" ชื่อเล่น "แดง" เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่ตำบลท่างา อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรคนโตในพี่น้องสามคนของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร
วัยเยาว์ของ สืบ นาคะเสถียร ศึกษาที่โรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นนักดนตรีเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และยังชื่นชอบในการวาดภาพจนขึ้นแท่นเป็นตัวแทนของโรงเรียน ทั้งหมดบ่งบอกคุณลักษณะความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังได้เป็นอย่างดี
การเรียนในระดับอุดมศึกษา สืบ นาคะเสถียร วัยหนุ่มเลือกศึกษาคณะวนศาสตร์ ศาสตร์ด้านการป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามด้วยระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา
ปี 2518 แม้จะสอบเข้ากรมป่าไม้ได้แต่ สืบ นาคะเสถียร เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่ จังหวัดชลบุรี เพราะมองว่าจะได้ใช้องค์ความรู้ และใกล้ชิดสัตว์ป่าได้มากกว่า จากนั้นในปี 2522 ได้รับทุน British Council ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ University of London ประเทศอังกฤษ
หลังสำเร็จการศึกษาในปี 2524 สืบ นาคะเสถียร ได้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จังหวัดชลบุรี และเริ่มงานวิจัยทรงคุณค่าชิ้นแรกด้วยการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิดเพื่ออนุรักษ์ และต่อยอดในการปกป้องที่อยู่อาศัยของสัตว์
ปี 2528 - 2529 ถือเป็นช่วงเวลาบ่มเพาะประสบการณ์ของ สืบ นาคะเสถียร หลังจากได้มีโอกาสลงพื้นที่ไฟป่าที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ และรับบทหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน นอกจากภารกิจดังกล่าวยังส่งผลให้เจ้าตัวค้นพบ "รังนกกระสาคอขาวปากแดง" ครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
ปี 2530 - 2531 หลังทราบปัจจัยสำคัญที่ทำลายป่า สืบ นาคะเสถียร เดินหน้าคัดค้านโครงการต่างๆที่กระทบที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เกิดจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จ.กาญจนบุรี หรือ คัดค้านการสัมปทานทำไม้บริษัทไม้อัดไทย ที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งทุกครั้งเขาจะใช้คำว่า "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า" ก่อนเริ่มอภิปราย
ปี 2532 สืบ นาคะเสถียร ปฏิเสธทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเข้ารับตำแหน่ง "หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" อุดมสมบูรณ์รายล้อมด้วย แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา บนเนื้อที่กว่า 2,780 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก มีความสำคัญต่อการศึกษาความรู้ทางธรณีวิทยา ชีววิทยา และที่สำคัญคือการได้ดูแลปกป้องเหล่าสัตว์ป่ามากมายที่เขารัก
ตลอดขวบปีในการทำงานที่ห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ต้องเจอกับปัญหามากมายที่เขาพยามต่อสู้แบบไม่หวั่นเกรงอำนาจผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่า, การล่าสัตว์ หรือแม้แต่การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ถูกยิงเสียชีวิต สืบ นาคะเสถียร ไม่ย่อท้อ เขาทำการเขียนรายงานนำเสนอหน่วยงานสากลจน "ยูเนสโก" อนุมัติให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก นั่นทำให้ผืนป่าใหญ่ของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังเป็นการการันตีว่าพื้นที่แห่งนี้จะได้รับการคุ้มครองเต็มที่ตามกฎยูเนสโก นี่คือแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนฉุกคิดถึงความสำคัญของผืนป่า
แน่นอนว่าภารกิจดังกล่าวลุล่วงไปอย่างงดงาม แต่ยังมีปัญหาอีกมากมายที่ สืบ นาคะเสถียร ต้องต่อสู้อย่างยากลำบากจนในที่สุด เช้าวันที่วันที่ 1 กันยายน 2533 "เสียงปืนดังสนั่นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" เขาตัดสินใจทำอัตวิบาตรกรรม หรือฆ่าตัวตาย โดยทิ้งจดหมายสะสางงานที่ติดค้าง พร้อมแสดงเจตจำนงค์หนักแน่นเรียกร้องให้สังคม หรือหน่วยงานราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง
และนี่คือทั้งหมดของ ประวัติ สืบ นาคะเสถียร ปูชนียบุคคลแห่งผืนป่า ต้นแบบข้าราชการที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่ หวังว่าเรื่องราวดังกล่าวจะสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นในสำนึกคุณค่าของป่า และสัตว์ป่า ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นไปอีกนาน
ขอไว้อาลัย 31 ปี การจากไป 1 กันยายน 2564 "วันสืบ นาคะเสถียร"
Cr. ภาพ และเนื้อหา www.seub.or.th, wikipedia