โปรดระวัง! มิจฉาชีพคืบคลานในสื่อโซเชียลเยอะ อย่าลืม เช็กก่อนรับ ตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่แอดมาใหม่ ก่อนกดยืนยันรับเป็นเพื่อน ทั้งในเฟซบุ๊ก, ไลน์, ไอจี หรือ ทวิตเตอร์ ป้องกันการตกเป็นเหยื่อที่โดนแฮกข้อมูล
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มซึ่งเป็นที่นิยม เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์, ไอจี, ทวิตเตอร์ เป็นต้น
การกดรับเพื่อนในโซเชียล หลายคนไม่มีการคัดกรอง กดรับมั่วๆ อาจมีผู้ที่ไม่หวังดี ใช้บัญชีอวตาร (Avatar) หรือบัญชีที่มาในลักษณะไร้ตัวตน ที่ใช้รูปคนอื่น, ชื่อคนอื่น, ชื่อที่ไม่ใช่ชื่อคนทั่วไป, เป็นคำกลอน, หรือใช้รูปการ์ตูน, รูปสิ่งของ หรือ ภาพวิวทิวทัศน์ ฯลฯ มาขอเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์
เนื้อหาที่ใกล้เคียง
หากเรารับบัญชีเหล่านี้ ก็จะถูกส่องหรือติดตามพฤติกรรมที่เราโพสต์ สถานที่ที่เราไป หรือแม้กระทั่งบ้านที่พักอาศัย สมาชิกในครอบครัว กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถูกประทุษร้ายทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง เช่น ถูกเข้าถึงข้อมูลของเราโดยมิชอบ (Hack) , การหลอกลวงฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ (Fraud,Romance Scam,Email Scam), การแชร์ข่าวหรือข้อมูลปลอม (Fake News) , นำภาพหรือชื่อเราไปเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม อาจถูกข่มขู่ คุกคาม หรือ ประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือร่างกาย เป็นต้น
รองโฆษก ตร. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ในครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มิจฉาชีพใช้ประทุษร้ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก ,ไลน์ ,ไอจี ตามลำดับ ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบตร.) มีความห่วงใยประชาชน จึงได้มีนโยบายในการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการป้องกันตัวเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในทุกรูปแบบ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการรับเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
• ไม่ควรรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน
• หากต้องการรับที่ไม่รู้จักมาเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง มิใช่เป็นบัญชีอวตาร เช่น มีการโพสต์เป็นปกติหรือไม่ หรือมีแต่การแชร์ข่าวต่างๆ เป็นต้น และพิจารณาให้ดีก่อนว่าจะรับบุคคลดังกล่าวเป็นเพื่อนหรือไม่
• ไม่ควรรับบัญชีที่ใช้ภาพวิวทิวทัศน์ หรือไม่ใช้ชื่อ นามสกุล เป็นเพื่อน
• หากเป็นคำขอเป็นเพื่อนจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก และบัญชีดังกล่าวใช้รูปโปรไฟล์ที่ดูดี หน้าตาดี มีฐานะ หรืออ้างว่าเป็นชาวต่างชาติ ให้ระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นผู้ไม่หวังดีแอบอ้างเป็นบุคคลตามภาพ เพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเรา
ตรวจสอบประวัติการโพสต์ รูปภาพ การเช็คอินสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนวันที่สร้างบัญชี • หากเป็นบุคคลจริง มักจะมีการโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว มีการแสดงความคิดเห็นในโพสต์โดยบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อน และบัญชีดังกล่าวถูกสร้างมาเป็นเวลานานพอสมควร หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่บัญชีดังกล่าวจะเป็นบัญชีของจริง
• ไม่ควรตั้งค่าสาธารณะและไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เช่น ทรัพย์สินมีค่า บ้านพักอยู่ที่ใด มีสมาชิกในบ้านกี่คน ช่วงเวลาไหนที่อยู่บ้านคนเดียว หรือไม่มีคนอยู่บ้าน เป็นต้น