คลายปมที่คนไทยสงสัยในประเด็น "การฉีดวัคซีนสลับชนิด" มีผลการทดลองที่เชื่อถือได้ในความปลอดภัยแล้วหรือ จากการแถลงข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ และจากการตอบคำถามผ่าน Zoom โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
คนไทยกำลังสับสนเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดที่ยังไม่มีประเทศใดออกมาเผยรายงานด้านความปลอดภัยอย่างเป็นทางการเนื่องจากอยู่ในระหว่างการทดลอง
แต่สถานการณ์วิกฤตโควิดที่กำลังย่ำแย่ในไทย สองแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาจึงออกมาให้คำตอบในประเด็น "การให้วัคซีนโควิด 19 สลับชนิด" ผ่านคนละแพลตฟอร์มในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
คลายปมที่คนไทยสงสัยเรื่องสลับฉีดวัคซีน โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายผ่านเพจเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข ว่า
"เมื่อร่างกายติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่ มันต้องการภูมิที่สูงขึ้น จึงทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงทุกตัว ขณะที่วัคซีนบางตัวยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า
"แต่เดิมคิดว่าไวรัสเวกเตอร์เข็มเดียวไม่สามารถป้องกันได้ จึงเป็นที่มาของการหาจุดสมดุล ทำอย่างไรที่จะให้มีภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดในขณะที่ไวรัสมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก"
“การฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน (SV) ทำให้ร่างกายเราติดเชื้อแล้วไปสอนนักรบหรือหน่วยความจำของร่างกาย จากนั้นไปใช้ไวรัลเวกเตอร์ (AZ) ต่อเพื่อสร้างภูมิต้านทาน จะทำให้มีภูมิต้านทานที่สูงในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ แทนที่จะรอไปถึง 12 สัปดาห์
“จากการศึกษาเบื้องต้นมีการฉีดสลับไปแล้วมากกว่า 1,200 คน ที่ฉีดมากที่สุดคือ รพ.จุฬา ซึ่งมีการบันทึกในหมอพร้อม และไม่มีใครมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้น ข้อมูลในหมอพร้อมยืนยันได้ว่า มีความปลอดภัยจริง”
หมอยงเปิดภาพผลวิจัยและภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นมากที่สุดและเร็วที่สุดหลังจากมีผู้ฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก แล้วต่อด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง เพราะถ้าใช้แอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองเข็ม ระหว่างรอเข็มที่สองจะทำให้การสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายยิ่งช้าออกไป
ฟังคลิปที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิด
คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนน่าเป็นห่วงอย่างไร อ่านคำอธิบายจาก 3 หมอ
การศึกษาวิจัยเรื่องผสมสูตรวัคซีนที่ WHO ไม่มีข้อมูลรองรับ
เนื่องจากอเมริกาและยุโรปไม่ได้ใช้วัคซีนซิโนแวคอย่างในเอเชีย การศึกษาวิจัยเรื่องผสมสูตรวัคซีนจึงไม่มีรายงานใดๆ ออกมา แต่เมื่อกระแสนิยมเรื่องสลับฉีดวัคซีนแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ดร.โสมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก ออกมากล่าวว่า
“นี่เป็นเทรนด์ที่อันตรายอยู่ เพราะเราไม่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐานแน่ชัดเรื่องการมิกซ์แอนด์แมตช์วัคซีน”
"และอาจก่อให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายในบางประเทศได้ หากพลเมืองเริ่มตัดสินใจเองว่า เมื่อไหร่และใครเหมาะกับวัคซีนเข็มที่ 2, 3 และ 4"
ที่มา : Reuters
ในวันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ยังสื่อสารเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดและอธิบายเหตุผลที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยอมรับผ่านทาง facebook.com/yong.poovorawan
...............
การศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรากำลังทำการศึกษากับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ delta และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR
แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้
ข้อมูลขณะนี้ผมมีเป็นจำนวนมาก มากพอที่จะสรุป เพราะทุกท่านให้ความร่วมมือดีมาก รวมทั้งอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา เป็นจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง
ข้อดีที่ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้
1 ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้
2 เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด
3 การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์
ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1,200 ราย โดยไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด
...............
คลายปมที่คนไทยสงสัย โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
จากการบรรยาย “อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย ในประเด็น : แนวทางเกี่ยวกับการรับวัคซีน เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ และภาพรวมการรับมือของประเทศไทยในการกระจายวัคซีนและการยับยั้งการติดเชื้อโควิด 19
วัคซีนสำคัญต่อการรักษาชีวิต แต่ในเมื่อวัคซีนเข้ามาไม่ทันใช้ ไม่ทันสร้างภูมิต้านทาน การให้ฉีดวัคซีนสลับชนิด จึงเป็นทางออกหนึ่งที่ทีมแพทย์พิจารณาว่า ใช้แก้ปัญหาและช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชนได้เร็วที่สุด โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ออกมาแถลงข่าวและตอบคำถามผ่าน Zoom โดยชี้แจงว่า เป็นงานวิจัยที่มีการเก็บข้อมูลจริง ไม่ได้ให้ใครเป็นหนูทดลอง
จากงานวิจัยและคำอธิบายทั้งหมดทั้งมวลจึงนำมาสู่การออกมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คือ ฉีดวัคซีนสลับชนิดให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 นี้
ที่มา : การบรรยาย “อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย: ถอดบทเรียนเพื่อก้าวผ่านวิกฤต” ผ่าน Zoom (facebook.com/siriraj)