หมอประสิทธิ์ เผย ฉีดวัคซีนสลับชนิดมีประสิทธิภาพดี แต่ทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่รับรองและไม่แนะนำ เพราะผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างมีไม่มากพอ ยืนยัน การตัดสินใจตั้งอยู่บนฐานวิชาการ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าว่า ข้อมูลฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 10 ก.ค.พบว่า ฉีดไปแล้ว 11,975,996 โดส เฉลี่ยฉีดวันละ 242,481โดส ซึ่งประชากรในประเทศมี 69,980,009 คน คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วร้อยละ 12.6 และมีเพียงร้อยละ 4.6 ที่ได้รับครบ 2 โดส ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างน้อย
ส่วนการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา เชื้อกระจายรวดเร็วกว่าสายพันธุ์สหราชอาณาจักรถึง 1.4 เท่า ถ้าเมื่อไหร่ศักยภาพของการรักษาไม่เพียงพอ อัตราเสียชีวิตจะพุ่งสูงขึ้น และตอนนี้มีสายพันธุ์แลมบ์ดา (ประเทศเปรู) ที่องค์การอนามัยโลกประกาศเฝ้าระวังใน 30 ประเทศ
ส่วนกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ (ไวรัสลูกผสม) ยังไม่เจอผลการศึกษาว่า ผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าว จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
• ลิงค์ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม สำหรับประชาชนในพื้นที่สมุทรปราการ
• อย่าหลงเชื่อการอ้างซื้อขายคิวฉีดวัคซีนโควิด
• WHO เตือนอย่าหาทำ ! ฉีดวัคซีนผสมสูตร ไร้ข้อมูลรองรับผลกระทบด้านสุขภาพ
ขณะที่การฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ทางวิชาการเรียกว่า heterologous แต่ทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่รับรองและยังไม่ประกาศแนะนำ เพราะผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างมีไม่มากพอ แต่สำหรับสถานการณ์ในไทย หลายงานวิจัยที่นำมาใช้อ้างอิงประกอบการตัดสินใจ เชื่อว่า การฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ที่ต่างชนิดกัน มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ซึ่งข้อมูลวิชาการเป็นตัวบอกว่า คู่ไหนไขว้แล้วดี การตัดสินใจจะตั้งอยู่บนฐานวิชาการ
ปัจจุบันหลายบริษัทกำลังเร่งผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 คาดว่าเร็วสุดจะถูกนำมาใช้ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จุดประสงค์หลักเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ ทำให้ราคาวัคซีนถูกขึ้น จัดเก็บในอุณภูมิที่แตกต่างได้มาก และสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้นานกว่าเดิม
สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สำหรับผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้ว ทางทฤษฎีระบุว่า วัคซีนตัวดังกล่าวควรเป็นวัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ (ภูมิคุ้มกัน) แต่วิธีการนี้ยังต้องรอการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก เพราะยังไม่แนะนำเป็นทางการ ส่วนตัวมองว่า หากมีการใช้ หวังจะช่วยลดอัตราความรุนแรงในบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงาน ต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการขยายวงฉีดวัคซีนให้เพียงพอ
“ตอนนี้ไทยต้องรีบทุบสถานการณ์ให้ลงเร็วที่สุด หวังว่ามาตรการของรัฐบาล จะช่วยลดยอดผู้ป่วยใหม่ และนำไปสู่การผ่อนคลายในอนาคต”
ส่วนแนวทางการใช้ Antigen Test Kit เป็นการเข้าถึงประชาชน แต่ต้องกำหนดรูปแบบการใช้ให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ผู้ติดเชื้อหลุดรอดได้