สงสัยไหม ทำไมเดือนนี้(มิถุนายนแล้ว) ยังร้อนโหด ร้อนอย่างกับกลางเมษา วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศในปีนี้ เกิดปรากฏการณ์อากาศร้อนมากผิดปกติในเดือนพ.ค.-ต้นมิ.ย. ทั้งๆที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.
นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำ(สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เล่าว่า กรณีเกิดปรากฏการณ์อากาศร้อนมากผิดปกติในเดือนพฤษภาคม-ต้นมิถุนายน ทั้งๆที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม แต่ฝนในเดือนพฤษภาคมนั้นน้อยกว่าฝนในเดือนเมษายน ซึ่งสภาพฝนจะมีลักษณะ มาในช่วงสัปดาห์แรกในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นฝนก็จะน้อยลง จนเข้าสู่ต้นเดือนมิถุนายน ฝนน้อยลงมาก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านลงมาบนพื้นผิวดิน ความร้อนสะสมตัว ไม่ว่าบนพื้นถนน และตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ
โดยเฉพาะในเมืองที่มีตึกสูงจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานคร ได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่บวกกับกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เป็นลมฤดูฝนพัดมาน้อยลง เป็นเหตุให้เดือนพฤษภาคมมาถึงต้นเดือนมิถุนายน ร้อนกว่าเดือนเมษายน ที่เป็นฤดูร้อนมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านี้ที่มีอากาศร้อนมาก เป็นเพราะมีความกดอากาศต่ำ ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ท้องฟ้ากลับมีเมฆน้อยมาก หรือบางพื้นที่ไม่มีเมฆมาบังแสงอาทิตย์เลย จึงยังคงทำให้มีอากาศร้อนอยู่ ที่น่าเป็นกังวลมากเวลานี้คือ เมื่อมีประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรก็เริ่มเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกพืชผล แต่ฝนตกลง อีกทั้งยังพบว่าเวลานี้ น้ำใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำเหลืออยู่แค่ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
เมื่อถามว่า ที่เป็นอยู่เช่นนี้ ถือว่าเป็นความผิดปกติแปรปรวนหรือไม่ นายสุทัศน์ กล่าวว่า อาจจะเป็นเพราะทุกๆปีที่ผ่านมา เราพบว่าเดือนเมษายนมีกาศร้อนมาก บวกกับฝนตกน้อย แต่มาปีนี้กลับตรงกันข้าม เมื่อเอามาเปรียบเทียบกันกับเดือนพฤษภาคมก็รู้สึกว่าไม่เหมือนเดิม และร้อนมาก
ความจริงแล้วทุกประเทศทั่วโลกได้รับอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอยู่ โดยช่วงต้นปี ได้รับอิทธพลจากปรากฏการณ์ลานีญา ที่มีฝนเยอะ และต่อมาปรากฏการณ์ลานีญา ค่อยๆเปลี่ยนเป็นกลาง คือ ฝนค่อยๆน้อยลงและมีอากาศร้อน
อย่างไรก็ตาม ต้นสัปดาห์หน้า จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นบริเวณประเทศเมียนมา และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ก็จะกลับมาพัดแรงขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ ของประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตะวันตกมีฝนตกเพิ่มขึ้น ช่วยให้อุณหภูมิลดลงได้