svasdssvasds

จริงหรือไม่ ? วัคซีนโควิด-19 แต่ละตัว เหมาะกับช่วงอายุที่ต่างกัน

จริงหรือไม่ ? วัคซีนโควิด-19 แต่ละตัว เหมาะกับช่วงอายุที่ต่างกัน

กระแสข่าวที่กำลังถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงสถานการณ์ที่โควิดระบาด และกำลังเป็นที่สงสัยอยู่ในขณะนี้ เห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 แต่ละตัวเหมาะกับช่วงอายุที่ต่างกันนั้น จริงหรือไม่ ?

ตอนนี้การระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยค่อนข้างคลี่คลายไปในทางที่ดี เนื่องจากมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ออกมาช่วยกู้สถานการณ์ ไม่ว่าจะวัคซีน AstraZeneca, Sinovax, Pfizer, Johnson&Johnson, Moderna หรือ Sputnik V ฯลฯ และจากที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับความเหมาะสมของวัคซีนโควิด-19 แต่ละตัว มีผลกับช่วงวัยที่ต่างกันนั้น

วัคซีนโควิด-19

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)

เริ่มกันที่แอสตร้าเซนเนก้า จากการที่อังกฤษปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใหม่ ซึ่งคำแนะนำล่าสุดจากคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI) ของอังกฤษ รายงานว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้านั้นเหมาะกับกลุ่มคนที่มีอายุมาก กลุ่มคนที่ต่ำกว่า 40 ปี จะได้รับวัคซีนทางเลือกชนิดอื่น เนื่องจากความกังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตันซึ่งอาจเกิดในกลุ่มคนอายุน้อย

อย่างไรก็ตาม CVI ระบุว่า ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรกโดยไม่เกิดอาการข้างเคียงจะได้รับวัคซีนโดสสองตามกำหนด และผลการศึกษาทั้งของ MHRA และสำนักงานการแพทย์ยุโรปยืนยันว่า "ประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง"

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson& Johnson)

ทางด้าน Johnson& Johnson เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ฉีดเพียงแค่หนึ่งโดส ที่ก่อนหน้านี้ถูกองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration หรือ FDA) สั่งพักการใช้วัคซีนลงชั่วคราว เนื่องจากมีรายงานว่า พบผู้ได้รับวัคซีนของ Johnson& Johnson ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี เกิดภาวะผิดปกติในระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ประเทศแคนาดาได้แนะนำการใช้วัคซีนชนิดนี้ควรใช้กับผู้ที่มีอายุ 30 ขึ้นไป

ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech)

มาถึง Pfizer ที่ล่าสุดสำนักงานยาของสหภาพยุโรป (EMA) ได้อนุมัติให้สามารถใช้วัคซีนของไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีได้ โดยประเทศเยอรมนีจะเริ่มรับวัคซีนโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนนี้

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ให้กับกลุ่มคนอายุ 12-15 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มอายุนี้ในเยอรมนีจะไม่มีการบังคับฉีดวัคซีน และได้มีการสำรวจพบว่ามีผู้ปกครองเพียง 51% เท่านั้นที่ต้องการให้ลูกได้รับวัคซีน

โมเดอร์นา (Moderna)

ส่วน Moderna ได้มีการแถลงประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ได้ผล 100 % จากการศึกษากับกลุ่มวัยรุ่น 12-17 ปี เป็นวัคซีนชนิดที่ 2 หลังจาก Pfizer ที่แสดงประสิทธิภาพกับกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งวัคซีนโมเดอร์นานั้น ชื่อจริงว่า “mRNA-1273” เป็นวัคซีนชนิด mRNA (messenger RNA) เช่นเดียวกับไฟเซอร์ ต้องฉีด 2 โดส ห่างกันเข็มละ 4 สัปดาห์

ซิโนแวค (Sinovac)

มาถึง Sinovac กันบ้าง ที่เมื่อไม่นานมานี้สดๆ ร้อนๆ จากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้รับรองเป็นกรณีฉุกเฉินให้สามารถใช้วัคซีนซิโนแวค กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพกับคนที่อายุมากกว่า 60 ปี มากน้อยแค่ไหน แต่จากข้อมูลการฉีดวัคซีนซิโนแวคกับประชากรประเทศต่างๆ ชี้ว่าวัคซีนชนิดนี้อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการโควิด-19 ในผู้สูงอายุได้เช่นกัน

ซิโนฟาร์ม (Sinopharm)

และล่าสุดวัคซีนน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าบ้านเรา อย่าง Sinopharm เป็นวัคซีนประเภท Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตขึ้นมาจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสนี้

จากข้อมูลระบุว่าวัคซีนโควิดของซิโนฟาร์มมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ประมาณ 78.1 – 79.34% แต่สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 100% ซึ่ง WHO แนะนำการฉีดวัคซีนชนิดนี้กับกลุ่มคนอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป แต่กับกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตอนนี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอ

วัคซีนโควิด-19

จริงหรือไม่ วัคซีนโควิดแต่ละตัว เหมาะกับช่วงอายุที่ต่างกัน ?

แม้ว่าวัคซีนแต่ละชนิดจะมีข้อมูลระบุประสิทธิภาพของวัคซีนในช่วงอายุที่ต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติจากการที่ SPRiNG ได้สอบถาม นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ พบว่า ชนิดของวัคซีนโควิด-19 กับเกณฑ์การฉีดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ หากแต่พิจารณาจากตามกลุ่มเสี่ยง

เช่น ผู้สุงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด 19 หรือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหน้าที่ของวัคซีนคือการป้องกันความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตเพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และรีบรับวัคซีนให้เร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นายแพทย์นคร เปรมศรี ได้ย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนว่า ปัจจุบันมีข้อมูลที่ส่งต่อไปมากมายใน Social Media อ้างถึงผลข้างเคียงของวัคซีน ทำให้หลายคนเกิดความกังวลไม่กล้ามาฉีดวัคซีน ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนนั้นดีกว่าไม่ฉีดแน่นอน เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงหากติดเชื้อ แม้การรับวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจ แต่อยากให้ทุกคนถือเป็นหน้าที่รับวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอและปิดจบการระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

เกณฑ์การฉีดวัคซีนในต่างประเทศนั้นไม่ได้ระบุช่วงอายุกับการรับวัคซีนแต่ละชนิด แต่จะฉีดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงก่อน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือต้องทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ เช่น ในโรงพยาบาล จากข้อมูลของหัวหน้าสมาคมการแพทย์ผู้ป่วยหนักและฉุกเฉินของเยอรมนี ได้กล่าวว่า ผู้ใหญ่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อน เพราะพวกเขามีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะได้รับเชื้อไวรัสแล้วเกิดอาการรุนแรงได้มากกว่าวัยอื่น ซึ่งเด็กอายุ 12-15 ปีที่เยอรมนีจะไม่มีการบังคับฉีดวัคซีน จากการสำรวจผู้ปกครองพบว่ามีเพียง 51% เท่านั้นที่ต้องการให้ลูกรับวัคซีน

ที่สำคัญการ์ดอย่าตกแม้ว่าจะรับวัคซีนไปแล้วก็ตาม ควรตั้งการ์ดไว้อยู่เสมอ คือสวมหน้ากากอนามัยเวลาพบปะพูดคุยกับผู้คน เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักจัดการกับความเครียด

Cr.  www.bbc.com / www.hfocus.org / www.bangkokbiznews.com / www.nytimes.com / www.tnnthailand.com / www.medicalnewstoday.com /  www.thaipublica.org