svasdssvasds

AstraZeneca ล็อตแรกที่ผลิตในไทย 
มีกลยุทธ์กระจายวัคซีนยังไง ไปดูกัน

AstraZeneca ล็อตแรกที่ผลิตในไทย 
มีกลยุทธ์กระจายวัคซีนยังไง ไปดูกัน

วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตร้าเซนเนก้าในต่างประเทศแล้ว และเริ่มจัดส่งล็อตแรก 1.8 ล้านโดส ส่วนเรื่องแผนการกระจายวัคซีนในประเทศไทยเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกัน

อดทนอีกหน่อย...ทำตามมาตรการอีกสักระยะ เพราะวัคซีน AstraZeneca ล็อตแรกที่ผลิตจาก ศูนย์การผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กำลังจะเข้าสู่กระบวนการจัดส่งและกระจายตามจุดฉีดเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเราชาวไทย

    บางข้อความหลังผลิต AstraZeneca ล็อตแรกสำเร็จ    

"การที่ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ที่มีมาตรฐานด้านคุณภาพได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนั้นถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีพันธมิตรด้านการผลิตที่ยอดเยี่ยมอย่าง สยามไบโอไซเอนซ์" เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

สยามไบโอไซเอนซ์ AstraZeneca

แอสตราเซเนกา

วัคซีน AstraZeneca

ฝั่งผู้ผลิตยาชีววัตถุชั้นนำของไทย นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากประเทศอังกฤษสู่เมืองไทยว่า 

“สยามไบโอไซเอนซ์ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ตระหนักดีถึงหน้าที่สำคัญในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากลให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุด และรู้สึกภาคภูมิใจที่บริษัทของคนไทยได้รับเลือกจากแอสตราเซนเนกาให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca และสามารถส่งมอบวัคซีนล็อตแรกได้ตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา เพื่อจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของคนในชาติ รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจไทยจะได้กลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง”

WHO Thailand

   กลยุทธ์การบริหารจัดการโรคระบาด จากการเสวนาแบบ Virtual   

ช่วงค่ำของวันที่ 2 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO Thailand) องค์การยูนิเซฟ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ Virtual briefing with media on COVID-19 vaccination โดยพูดถึงแผนกระจายวัคซีนในไทย, วัคซีน AstraZeneca และสิ่งที่ควรดำเนินการต่อ ดังต่อไปนี้

1. วัคซีนโควิด 19 ใช้ได้ผลดีและช่วยรักษาชีวิตของผู้คนทั่วโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน คุณควรเข้ารับวัคซีนทันทีที่มีโอกาส

- การศึกษาในปัจจุบันระบุว่าวัคซีนที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ที่ผ่านการรับรองสำหรับการใช้แบบฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกหรือที่ได้รับการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ล้วนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ทั้งจากสายพันธุ์ดั้งเดิมและเชื้อกลายพันธุ์

2. วัคซีน AstraZeneca ที่จะใช้ในประเทศไทยนั้นใช้ได้ผลจริง สามารถป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ได้

- วัคซีน AstraZeneca ประมาณ 500 ร้อยล้านโดส ถูกจัดสรรไปยัง 170 ประเทศทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว และมีรายงานว่า พบผลข้างเคียงจากวัคซีน AstraZeneca (รวมถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน) มีโอกาสเกิดขึ้นแต่น้อยมาก ความเสี่ยงจากการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 นั้น ยังมีสูงกว่าการพบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรงจากวัคซีนหลายเท่า

3. องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ใหญ่ทุกคนเข้ารับวัคซีน AstraZeneca หากเป็นไปได้ และขอสนับสนุน 'แผนฉีดวัคซีนให้ประชากร 50 ล้านคนภายในสิ้นปี' ของประเทศไทย

  • การฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้ได้จำนวนมากที่สุดในขณะที่ยังปฏิบัติมาตรการทางสาธารณสุขอื่นๆ คือกลยุทธ์ดีที่สุดในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ
  • แผนการฉีดวัคซีนครั้งนี้ป็นความหวังอันดับหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจ (เช่น ภาคการท่องเที่ยว) ดีขึ้น และทำให้การเรียน การทำงาน กลับไปสู่สภาวะก่อนยุคโควิด 19
  • การฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมจะช่วยลดความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ในปัจจุบันและในอนาคต

4. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิต ควรได้รับวัคซีนโดสแรกก่อนกลุ่มอื่น

  • ควรมุ่งเน้นไปที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน เป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต นี่คือจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของระบบสาธารณสุข
  • วิธีนี้คือหนทางที่แน่นอนที่สุดที่สามารถยืนยันว่าบริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนจะยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง และวิธีนี้คือหนทางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดในการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

5. ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยควรเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

  • หากพิจารณาจากทั่วโลก จะพบว่ายิ่งมีคนฉีดวัคซีนมากเท่าใด การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า วัคซีนได้ผล เพราะไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 นั้นไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและสัญชาติ การรับวัคซีนจะป้องกันคุณจากการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19
  • การที่รัฐบาลไทยสามารถให้วัคซีนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็ว และจะพาประเทศกลับสู่วิถีชีวิตแบบก่อนยุคโควิด 19 ได้ด้วย

6. การปรับเปลี่ยนแผนการและกลยุทธ์เกี่ยวกับวัคซีนตามสถานการณ์ คือสิ่งที่พึงกระทำ

  • แผนปัจจุบันของรัฐบาลที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคแทรกซ้อนก่อนนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวปฏิบัติของทั่วโลก แต่แผนการดังกล่าวอาจจำเป็นที่จะต้องปรับเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ รวมถึงภาวะขาดแคลนวัคซีนที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในทุกประเทศ

7. การฉีดวัคซีนร่วมกับการใช้มาตรการสาธารณสุขอื่นๆ เป็นกลยุทธ์ในการหาทางออกจากการแพร่ระบาดใหญ่อย่างไร

  • คุณสามารถป้องกันตัวเองจากโรคโควิด 19 ได้ด้วยการล้างมือเป็นประจำ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตรตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หรือสถานที่ปิดที่มีการระบายอากาศไม่ดี แม้ว่าคุณจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม ให้ปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ต่อไปอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องคนรอบข้างที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ดร.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

   AstraZeneca จะมาเป็นงวดๆ  

“เนื่องจากกรมควบคุมโรคจะได้รับการส่งมอบวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตมาเป็นงวดระยะ ประมาณ 4 งวดในเดือนมิถุนายน ดังนั้น การส่งต่อให้โรงพยาบาลจึงเป็นงวดเช่นเดียวกัน” ดร.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ Virtual briefing with media on COVID-19 vaccination

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เชื้อไวรัสก็เช่นกัน ที่สามารถกลายพันธุ์ได้ไม่จบสิ้นและแพร่กระจายได้เร็วยิ่ง รุนแรงกว่าเดิมอย่างยิ่งยวด การดีลงาน - ดำเนินงานในสถานการณ์วิกฤตจึงต้องมีความยืดหยุ่น แผนกระจายวัคซีน จึงต้องปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยทางกรมควบคุมโรคระบุ 4 เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับแผนกระจายวัคซีน ดังนี้

  1. จำนวนประชากรในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ 
  2. จำนวนวัคซีนที่มีในแต่ละช่วงเวลา 
  3. สถานการณ์การระบาดในพื้นที่นั้นๆ 
  4. กลุ่มเป้าหมายที่มีการปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญตามช่วงเวลา

   ไทม์ไลน์กระจายวัคซีน AstraZeneca ล็อตแรก   

เนื่องจากเป็นวัคซีน AstraZeneca จะเป็นวัคซีนหลักของประเทศ เดือน มิ.ย. จึงเป็นช่วงสำคัญของการดำเนินงานเพื่อกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงเผยช่วงเวลาและจำนวนวัคซีน AstraZeneca ที่จะกระจายในช่วงเดือนมิถุนายนไว้ดังนี้

AstraZeneca ปผนกระจายวัคซีน มิ.ย.

  • 1 - 3 มิ.ย. กระจายวัคซีน 240,000 โดส ใน 58 จังหวัด 
    จังหวัดละ 3,600 โดส รวมเป็น 208,800 โดส อีก 31,200 โดส กระจายใน กทม. ทั้งนี้ เป็นวัคซีน AZ ที่สั่งซื้อมาจากเกาหลี
  • 3 - 6 มิ.ย. กระจายวัคซีน 1,210,000* โดส ใน 19 จังหวัด  
    (เขต 4 ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง, เขต 5 กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร, เขต 6 ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ, เขต 13 กทม.)
  • 2 - 14 มิ.ย.​ กระจายวัคซีน 350,000 โดส ใน กทม.
    โดยเป็นล็อตที่จะจัดส่งเข้ามาเพิ่ม

*ตัวเลขที่คำนวณจากจำนวนวัคซีนขั้นต้น 1.8 ล้านโดส

ที่มา : กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข (4 มิ.ย. 2564)

แต่หากเป็นข้อมูลตลอดเดือนมิถุนายน จะมีการจัดส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 5 - 6 ล้านโดส ทั้งนี้ ทางสยามไบโอไซเอนซ์เปิดเผยว่า การจัดส่งวัคซีนตามสัญญาของแอสตราเซนเนกา ระบุไว้ว่าเดือนมิถุนายน แต่ไม่มีการระบุวันที่เอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ดำเนินการส่งมอบวัคซีน คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค ส่วนข้อมูลการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของแอสตราเซนเนกาให้แก่รัฐบาลไทยนั้น จะเริ่มทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่จะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จำนวน 1.8 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศไว้ และคาดว่าในวันที่ 7 เพียงวันเดียว จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากกว่า 500,000 โดส (รวมทั้งวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac)

สยาม ไบโอ AZ

   เรื่องอื่นๆ ที่ภาครัฐเคยประกาศไว้    

  • การส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของแอสตราเซนเนกา มีแน่นอน 4 - 4.6 ล้านโดส รอลุ้นว่าอาจได้ครบ 6 ล้าน หรือเกินเป็น 6.3 ล้านโดส
  • หลังจากตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพวัคซีน AstraZeneca เสร็จ การจัดเตรียมระบบฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนใช้เวลาเพียง 1 - 1.5 วัน จึงน่าจะทัน 7 มิ.ย.
  • แผนส่งมอบวัคซีน AstraZeneca เดือนละ 10 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป เป็นการระบุตัวเลขล่วงหน้าโดยรัฐบาลไทย
  • การนำเข้าวัคซีนหลังจากนี้จะทยอยเข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดส ดังนั้น หากนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม ไทยจะมีวัคซีนเข้ามาอีกราว 60 ล้านโดส

   เคลียร์เลขให้ชัด! เดือนมิถุนายนนี้จะนำเข้าวัคซีนอะไรบ้าง  

  • AstraZeneca 6,000,000 - 6,300,000 โดส
  • Sinovac 2,000,000 โดส + ที่จีนบริจาคมาอีก 500,000 โดส
  • Sinopharm 1,000,000 โดส (วัคซีนทางเลือก)
  • รวมสูงสุด 9,800,000 โดส (ยังไม่รวมยอดที่อเมริกาจะส่งมาให้ไทย)

นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าวัคซีนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุปกรณ์การฉีดวัคซีนที่จะจัดส่งในช่วง 2 - 4 มิ.ย. 64 ส่วนวัคซีนทางเลือกแบรนด์ต่างๆ จะเข้ามาในไตรมาส 3 - 4 ของปีนี้

ทั้งหมดคือ ความเคลื่อนไหวและแผนกระจายวัคซีน AstraZeneca ในไทย ก่อนที่จะผลิตเพื่อส่งออกวัคซีนโควิด 19 ไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

 
related