svasdssvasds

‘การทูตวัคซีน’ จีนสไตล์ ควบตำแหน่งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้บริจาค Sinovac

‘การทูตวัคซีน’ จีนสไตล์ ควบตำแหน่งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้บริจาค Sinovac

อันที่จริง ถ้าจะเทียบประสิทธิภาพวัคซีนก็ควรจะเทียบที่แพลตฟอร์มการผลิตเดียวกัน แต่คนส่วนใหญ่ก็มองประสิทธิภาพโดยรวม ซึ่งวัคซีนตะวันตกมีการเก็บข้อมูลมากกว่า ตรวจสอบประสิทธิภาพแล้วก็สูงกว่า ผู้คนในหลายประเทศจึงอยากได้ Pfizer, Moderna มากกว่า Sinovac, Sinopharm

แต่ไทยผูกปิ่นโตกับจีนเรื่องวัคซีน Sinovac ไปแล้ว โดยข้อมูลจากภาครัฐระบุว่า มีการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac จำนวน 4 ล้านโดส (ก.พ. 2 แสน/มี.ค. 8 แสน/เม.ย. 1.5 ล้าน/พ.ค. 1.5 ล้าน) บวกกับที่ได้รับบริจาค 500,000 โดส เท่ากับว่าเราได้มาแล้ว 4.5 ล้านโดส และในเดือนมิถุนายนยังมีการสั่งซื้ออีก 1.5 ล้านโดส รวมแล้วไทยจะได้ Sinovac ทั้งหมด 6 ล้านโดส

ข้อมูลข้างต้นต่างจากบนเว็บไซต์ Bridge Consulting ที่ระบุว่า ไทยมียอดสั่งซื้อวัคซีน Sinovac รวม 7.6 ล้านโดส และมียอดบริจาคอีก 500,000 โดส รวมยอดที่วัคซีนจะเข้าไทยเป็น 8.1 ล้านโดส โดยวัคซีนที่นำเข้าแล้ว 4 ล้านโดสจากยอดสั่งซื้อ กับที่ได้รับบริจาคมา 500,000 โดส รวมเป็น 4.5 ล้านโดส ตรงตามที่รัฐบาลระบุ

sinovac info

   Sinovac คุณภาพและสัมพันธภาพในช่วงวิกฤต   

การจองวัคซีนในปีที่ผ่านมา ไม่มีใครฟันธงได้แน่ชัดว่า วัคซีนที่ผลิตด้วยแพลตฟอร์มใด ยี่ห้อใด จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด เพราะล้วนแล้วแต่เป็น 'ของใหม่' ซึ่งต่างก็เร่งกระบวนการผลิตชนิดที่เรียกได้ว่า พลิกโฉม (Transformation) อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ในระดับโลกเพื่อต่อสู่กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) เลยทีเดียว 

ปกติแล้ว การผลิตวัคซีนต้องใช้เวลาทดลอง ทดสอบ (Clinical Trials) เป็น 10 ปี แต่ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในกระบวนการเร่งผลิตจนได้วัคซีนโควิด 19 ออกมาภายในเวลา 1 ปี องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Centers for Disease Control (CDC) ตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ แล้วทยอยอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดใหม่ได้ในกรณีฉุกเฉิน กล่าวคือ ใช้ในประเทศที่เกิดการระบาดหนักจนควบคุมได้ยาก

ดูจากสถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา ยังคงมีการระบาดหนักระลอกแล้วระลอกเล่าในหลายประเทศ แม้หลายประเทศจะใช้วัคซีน Sinovac แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ WHO ยังไม่ได้ประกาศอนุมัติให้ Sinovac วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ใช้ในกรณีฉุกเฉิน สำหรับประเทศไทยซึ่งสั่งซื้อ Sinovac แล้วได้ล็อตแรกมาฉีดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์) ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นข่าวใหญ่เพราะมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนอย่างรุนแรง จนต้องรื้อดูว่าล็อตไหนเป็นล็อตไหน และได้ข้อสรุปออกมาว่า น่าจะมีการปนเปื้อนในระหว่างกระบวนการผลิตวัคซีนที่ไม่ใช่ล็อตแรก

แต่จะพูดหรือว่าอะไรไปที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน Sinovac Biotech Ltd. ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีนที่มีต่อกันมายาวนานกว่า 45 ปี จนกล่าวกันว่า 'ไทย-จีน พี่น้องกัน' กับหุ้นส่วนทางธุรกิจของ Sinovac นั่นคือ Sino Biopharmaceutical Ltd. ธุรกิจเวชภัณฑ์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เป็นธุรกิจหนึ่งของกลุ่ม CP (ในจีนแผ่นดินใหญ่) เข้าซื้อหุ้น 15% ของบริษัทผู้ผลิต Sinovac ด้วยมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม จีนสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่า ขณะที่ไทยกำลังเข้าขั้นโคม่า จีนจึงบริจาควัคซีน Sinovac มาช่วยและเสมือนเป็นการชดเชยล็อตที่มีปัญหาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จำนวน 500,000 โดส

อย่างที่ทั่วโลกรับรู้ว่า เกาฝู (高福) ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน ออกมายอมรับในเดือนเมษายนว่า วัคซีนของจีนไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงดังที่คาดหวังไว้ จีนจึงเดินหน้าวิจัยต่อเรื่องการใช้วัคซีนต่างชนิดกัน (เข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 คนละยี่ห้อ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งต่อมา ไทยเจอเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียกับแอฟริกาบุกประเทศ คุณภาพวัคซีนจะสูงหรือไม่ ก็จำเป็นต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนเร็วที่สุด มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิต

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว ลี่เจียน (赵立坚) ก็ออกมายืนยันว่า การบริจาควัคซีนไม่เกี่ยวกับภารกิจทางการทูตแต่อย่างใด เป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดผลดีต่อโลกเท่านั้น

sinovac xinhuathai
Source : Xinhuathai

   จริงๆ แล้ววัคซีน Sinovac กระจายไปมากแค่ไหน   

ด้วยนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (习近平) ที่ต้องการให้วัคซีนเป็น สินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) นำมาสู่การผลิต ส่งออก และบริจาควัคซีนแบบจัดเต็ม เพื่อให้ประชากรโลกได้ใช้วัคซีนจีนในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งถ้ารวมหลายยี่ห้อที่จีนส่งออกล่าสุดก็หลายร้อยล้านโดส และถ้าแบ่งตามภูมิภาค มี 4 ภูมิภาคที่ได้ใช้วัคซีนจีน (รวมแบรนด์) รวมๆ ก็ 91 ประเทศ

China’s Vaccines Around the World
 

vaccine

sinovac vaccine

   วิเคราะห์เส้นทางกระจาย Sinovac   

ถ้าดูการแบ่งเส้นทางกระจายวัคซีนตามภูมิภาค จีนเชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และกำหนดยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนในแต่ละพื้นที่ต่างกันออกไป 

  • เอเชียแปซิฟิก - อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับจีน และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งด้านการค้าและโลจิสติกส์
  • แอฟริกา - เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีประเทศยากจนจำนวนมาก จีนจึงไม่ได้ขายวัคซีนในภูมิภาคนี้ มีแต่การบริจาคให้จากเริ่มต้นที่จีนเข้าร่วมใน COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility) โครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ระดับโลก ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากเท่าการบริจาคให้กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก
  • ยุโรป - พื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าระดับภาคพื้นตามแนว เส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) 
  • ละตินอเมริกา - เช่น อาร์เจนตินา บราซิล กลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสัมพันธ์เหินห่างกับสหรัฐอเมริกา จึงควรที่จีนจะเข้าไปช่วยเหลือและผูกมิตรด้วยอย่างยิ่ง

แม้ประธานาธิบดีจีนจะยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ การทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy) หากแต่เป็นธุรกิจและเป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม วัคซีนก็กลายเป็นหนึ่งในตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ - หลายประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดก็เป็นภาพสะท้อนถึงภาพลักษณ์ด้านมิตรจิตมิตรใจที่จีนมีให้ชาวโลก

ถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายฝ่ายรอ WHO ประกาศอนุมัติ Sinovac ซึ่งคาดว่าคงอีกไม่นาน เพราะ WHO เผย ผลการพิจารณาของคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization -SAGE) ว่า Sinovac มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 14 วัน 

SAGE WHO Sinovac

นอกจากนี้ การที่จีนยังขยายฐานการผลิตวัคซีนไปยังหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มองได้อีกมุมว่า จีนกำลังเพิ่มบทบาทตัวเองในเวทีโลก ร่วมกับการขยายอิทธิพลออกไปให้ชาวโลกยอมรับในฐานะชาติตะวันออกที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และที่สำคัญ มีกำลังการผลิตวัคซีนมากกว่าชาติใดในโลก

ที่มา : 

related