svasdssvasds

อย. ย้ำ วัคซีนซิโนแวค ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องรอ WHO EUL รับรอง

อย. ย้ำ วัคซีนซิโนแวค ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องรอ WHO EUL รับรอง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจง ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ไม่ต้องอ้างอิงรายการวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO EUL) ย้ำ วัคซีนซิโนแวค มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีนักวิชาการตั้งข้อสงสัยกรณีรัฐบาลนำ วัคซีนซิโนแวค ที่ยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกมาฉีดให้แก่คนไทย ส่งผลให้คนไทยรับวัคซีนน้อยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า 

วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) มีไว้สำหรับใช้ในโครงการ COVAX และอาจใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบการกำกับดูแลด้านวัคซีนที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าวัคซีนที่ไม่ได้อยู่ใน WHO EUL ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะการขึ้นทะเบียนในแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องอ้างอิงรายการวัคซีนขององค์การอนามัยโลก 

ซึ่งจะเห็นว่าวัคซีนของไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ต่างก็ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป ก่อนได้รับรอง WHO EUL 

ดังนั้น การที่กล่าวว่าวัคซีนที่แต่ละประเทศใช้ต้องเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบการกำกับดูแลวัคซีนที่ได้รับการรับรอง WHO PQ จากองค์การอนามัยโลก และเป็นสมาชิกของ PIC/s ด้วย จึงสามารถดำเนินการพิจารณา ขึ้นทะเบียนวัคซีนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าก่อนการรับรองของ WHO EUL

ทั้งนี้ วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีการอนุมัติให้ใช้กว่า 45 ประเทศทั่วโลก ซึ่ง อย. ได้ประเมินและขึ้นทะเบียนโดยผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลกเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันโรคมากกว่า ร้อยละ 50 สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 100 ป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ร้อยละ 77.9 (ผลการศึกษา Phase 3 จากประเทศบราซิล)

รวมทั้ง ประสิทธิผลของการใช้ วัคซีนซิโนแวค ในประเทศชิลี พบว่า ป้องกันโรคได้ ร้อยละ 67 ป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ร้อยละ 85 ป้องกันการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนัก ร้อยละ 89 และป้องกันการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 80 (ข้อมูลจาก Evidence Assessment ของวัคซีนซิโนแวค องค์การอนามัยโลก) 

นอกจากนี้ จากการศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีด วัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้ว เป็นเวลา 1 เดือน ในประเทศไทย ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ พบว่า เกิดภูมิต้านทาน ร้อยละ 99.4 ในขณะที่ 4-8 สัปดาห์ หลังติดเชื้อโดยธรรมชาติ ตรวจพบภูมิต้านทานได้ ร้อยละ 92.4

เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า วัคซีนที่ผ่านการประเมินและได้รับทะเบียนจาก อย. เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 3 รายการ ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 

อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย คือ วัคซีนโมเดิร์นนา ดังนั้น อย. จึงขอเชิญชวนประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดได้โดยเร็ว

related