ศิริราชรายงานผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค บุคลากร 13,596 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เผย 2.7% พบอาการภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที และ 23.1% พบภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลทำการสำรวจความต้องการของบุคลากร สำหรับเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรที่แสดงความจำนงค์ ที่จะขอรับการฉีดวัคซีนที่มีในประเทศไทยตามความสมัครใจ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564
ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 พบว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับบุคลากรของคณะฯ ไปแล้วจำนวน 13,596 ราย คิดเป็น 80.8% ของบุคลากรทั้งหมด โดยได้รับวัคซีนชนิด ซิโนแวค จำนวน 12,797 ราย เนื่องจากมีอายุน้อยกว่า 59 ปี 10 เดือน และได้รับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 799 ราย เนื่องจากมีอายุมากกว่า 59 ปี 10 เดือน หรือเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัย
บุคลากรที่ได้รับวัคซีนเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 10,741 ราย และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 2,855 ราย โดย 76.9% ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ มีรายงานภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที 2.7% ประกอบด้วย อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด (1.38% ) อาการชาตามร่างกาย (0.36%) อาการปวดศีรษะ (0.31%) ปวดกล้ามเนื้อ (0.16%) ผื่นตามร่างกาย (0.14%) และอื่นๆ (0.35%) โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการชั่วคราว และสามารถหายเป็นปกติได้ในที่สุด
สำหรับภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่พบ 30 นาที หลังได้รับวัคซีนพบได้ 23.1% ได้แก่ อาการปวดกล้ามเนื้อ (4.84 %) คลื่นไส้ (4.16%) ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด (3.97%) ปวดศีรษะ (3.36%) อ่อนเพลีย (2.83%) มีไข้ (1.57%) และอื่นๆ (2.37%) สำหรับอาการชาตามร่างกายหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยพบ 0.46% เมื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษในรายที่มีอาการมาก ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ โดยส่วนใหญ่ (72.6 %) สามารถหายได้เองภายในเวลา 30 นาที หลังมีอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ทุกรายสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอสรุปรายงานผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในบุคลากรของคณะฯ จำนวน 13,596 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 12,797 ราย ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 799 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ สำหรับผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์สามารถหายได้และสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ