ในช่วงหน้าหนาวนี้ ผู้ปกครองและสถานศึกษาควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กอาจเสี่ยงป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก ได้
สถานการณ์ของ โรคมือเท้าปาก ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 32,304 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ปี 2564 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1-17 มกราคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย 916 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ
อันดับที่ 1 เด็กแรกเกิด-4 ปี พบร้อยละ 87.5
อันดับที่ 2 เด็กอายุ 5 ปี พบร้อยละ 4.69
อันดับที่ 3 อายุ 7-9 ปี พบร้อยละ 4.15
จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา แพร่ เชียงราย เลย และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ
อาการของเด็กที่ป่วยจะเริ่มด้วยการมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้สูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่เป็นสาเหตุของ โรคมือเท้าปาก ชนิดรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูหนาว โรคที่ต้องระมัดระวังคือ โรคมือเท้าปาก ซึ่งพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ประกอบกับช่วงนี้ในบางพื้นที่โรงเรียนประกาศให้เด็กหยุดอยู่บ้านเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เด็กๆ อาจมีการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ในชุมชน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคมือเท้าปากได้ ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเปิดเรียนตามปกติในขณะนี้ ขอให้เคร่งครัดมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการเด็ก ร่วมกับมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ก่อนเข้าเรียนทุกเช้า
"หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด"
1. ลดการสัมผัสเชื้อ ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้
2. หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท
3. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
4. หากบุตรหลานป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ
หากพบบุตรหลานมีอาการข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้ง โรคมือเท้าปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
วิธีปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากโรค โควิด 19
วิธีป้องกันดวงตาจากเจ้าฝุ่นตัวร้าย PM 2.5
โรคเบาหวาน กับพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ก่อโรคได้จริงหรือ?