svasdssvasds

โรคเบาหวาน กับพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ก่อโรคได้จริงหรือ?

โรคเบาหวาน กับพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ก่อโรคได้จริงหรือ?

ปัจจุบันเราพบว่าคนเป็นเบาหวานที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยพบว่าประชาชนไทยเป็น โรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นมาประมาณปีละ 1 ล้านคนในช่วง 5 ปี สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามความชุกของเบาหวาน ก็คือ ความอ้วน อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็น โรคเบาหวาน ประมาณกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ และจากการสำรวจเมื่อปี 2557 คนไทยเป็นเบาหวานประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอคำนวณเป็นตัวเลขประชากรแล้วอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคน ถ้าย้อนไป 5 ปี ก่อนที่จะมาเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ พบว่าคนไทยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมาถึงประมาณปีละ 1 ล้านคน เลยทีเดียว 

สาเหตุการเกิดโรคเบาหวาน

นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ในที่นี้ขอพูดถึงเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นในเด็กมันเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกันทำให้ตับอ่อนเขาเสียหายไปเลย ไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องฉีดอินซูลินทุกวัน แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ก็คือ กลุ่มที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ 

สาเหตุหลักในการก่อโรคเบาหวานมีองค์ประกอบหลัก 2 อย่าง ดังนี้

1. เป็นเรื่องของความอ้วน ก็คือพฤติกรรมที่ทำให้เราอ้วนขึ้น ความอ้วนมีผลอย่างไร ขออธิบายง่ายๆ อย่างนี้ว่า เมื่อเราอ้วนขึ้น ร่างกายมีความต้องการเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้น เวลารับประทานอาหารเข้าไป ตับอ่อนจะต้องสร้างอินซูลินเข้ามาช่วยเอาน้ำตาลไปใช้ เพราะฉะนั้นเมื่อถูกบังคับให้ทำงานเยอะขึ้นๆ ตับอ่อนมันก็ไม่ไหว จึงทำให้ก่อโรคได้

2. เรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ร่างกายไม่สามารถเอาชนะน้ำตาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ ก็เลยเกิดโรคเบาหวานขึ้น บางครั้งมันยากมากที่เราจะไประบุได้ว่า ใครมีพันธุกรรมเป็นเบาหวาน บางทีคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็น แต่ย้อนกลับไปอาจมี ปู่ ย่า ตา ยาย เราเป็นก็ได้

พฤติกรรมการบริโภคก่อให้เกิดโรคจริงหรือ?

นพ. เพชร ยืนยันว่า พฤติกรรมการบริโภคที่เกินความจำเป็นสามารถก่อโรคเบาหวานได้จริง ยกตัวอย่างง่ายๆ คนปกติทั่วไป ผู้หญิงผู้ชายต้องการอาหารประมาณ 1,500 แคลอรี่/วัน ซึ่งหากเราทานอาหาร 3 มื้อ ปกติก็จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 แคลอรี่อยู่แล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมการทานที่เมื่อทานเสร็จแล้วต้องไปแถมด้วยของหวานหรือของที่ให้พลังงานเกินความจำเป็น บวกเข้ากับปัจจุบันคนเราทำงานแบบนั่งโต๊ะกันมากขึ้น ใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ใช้ไลน์ ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวลดน้อยลงในแต่ละวัน จึงทำให้การเผาผลาญพลังงานของเราไม่ได้เยอะเพียงพอ ในขณะที่เราบริโภคอาหารเกินความจำเป็น

คนชอบถามว่า ทานชาไข่มุกแล้วทำให้เป็นเบาหวานหรือเปล่า เราต้องไปดูก่อนว่ากิจวัตรประจำวันของเราเป็นคนแอคทีฟไหม ออกกำลังกายยังกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า หรือว่าทำงานนั่งโต๊ะดูคอมพิวเตอร์ตลอด เรามีพฤติกรรมพอทานข้าวปกติแล้วสมมุติว่าได้ 1,500 แคลอรี่แล้ว ไปทานชาไข่มุก หรือเครื่องดื่ม หรือของหวานที่เกินความจำเป็นหรือเปล่า ยกตัวอย่าง ชาไข่มุกจะมีแคลอรี่หรือพลังงานตั้งแต่ 200-400 แคลอรี่/วัน/แก้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราทานเข้าไป 400 แคลอรี่/แก้ว มันก็เกิน พอเกินแล้วไปไหน มันก็ไปสะสมเป็นไขมันในร่างกายทำให้เราอ้วนขึ้น หรือพอน้ำตาลเข้าไปเยอะขึ้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ตับอ่อนจะต้องทำงานหนักขึ้นๆ เพื่อเอาชนะน้ำตาลในเลือดที่สูง เมื่อตับอ่อนเราทำงานมากขึ้นๆ ปุ๊บตับอ่อนก็จะเสื่อม ทำให้เกิดเบาหวานเร็วขึ้น” 

ปัจจุบันเราพบว่าคนเป็นเบาหวานที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ แต่ก่อนเราจะพบว่า คนเป็นเบาหวานคือผู้ใหญ่ไม่ก็เป็นผู้สูงอายุ แต่ปรากฏว่าตอนนี้วัยทำงานเป็นเบาหวานอยู่ประมาณกว่า 2 ล้านคน เหตุหนึ่งมาจากเขาเปลี่ยนลักษณะงาน ทำงานที่เคลื่อนไหวน้อยลง และบริโภคอาหารที่เกินความจำเป็นหรือเกินความต้องการของร่างกาย

โรคเบาหวาน คือโรคที่มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดเกินระดับที่เหมาะสมกับร่างกาย พอน้ำตาลในเลือดเกิน  มันก็จะไปสะสมแล้วทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา 
โรคเบาหวาน

ทานแล้วค่อยไปเผาผลาญก็น่าจะไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานแล้ว จริงหรือไม่?

นพ. เพชร กล่าวว่า เมื่อทานเข้าไปแล้วมันสะสมเลย จะมาบอกว่าวันนี้ทานสัก 2 แก้ว หรือว่ากินขนมหวานสักชิ้นใหญ่ๆ สักหนึ่งชิ้นไม่เป็นไร พรุ่งนี้เช้าค่อยวิ่ง อันนี้ไม่ช่วยป้องกันเบาหวาน ทานเข้าไปแล้ว พลังงานเกินแล้ว เริ่มกระบวนการสะสม เริ่มกระบวนการก่อโรค

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เราเจอกันในปัจจุบันของคนเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ก็คือ ตับอ่อนเขาทำงานลดลงเหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มอ้วนขึ้นๆ ตับอ่อนยังสู้ได้อยู่ แต่ถ้าตับอ่อนทำงานได้ดรอปลงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ น้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น นั่นบ่งบอกว่าเริ่มเป็นเบาหวานแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเกิดตับอ่อนทำงานไม่ดี เราบริโภคอาหารที่ให้พลังงานเกินก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น อาการเบาหวานจะรุนแรงขึ้น 

ความเข้าใจเรื่องเบาหวาน กับสารให้ความหวานเทียม

กรณีที่ไปทานเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเทียม คนเป็นเบาหวานสามารถทานได้ ไม่เกี่ยวกับการเพิ่มพลังงาน พลังงานไม่ได้เกินจนทำให้ตับอ่อนทำงานมากขึ้น ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นเบาหวาน

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ คือ การบริโภคอาหารที่หวาน ถึงแม้จะไม่ได้ให้พลังงานก็ตามที อาทิ น้ำตาลเทียมสารทดแทนความหวานต่างๆ สิ่งเหล่านี้แม้ไม่ได้ทำให้เขาเป็นเบาหวานก็จริง แต่มันอาจจะทำให้ติดหวานได้ 

การติดหวานนี่เป็นเหตุผลสำคัญเหมือนกัน ลองคิดดูว่าหากเราไปทานอะไรนอกบ้าน แต่ไม่สามารถหาน้ำตาลเทียมหรือว่าความหวานทดแทนได้ พอเราติดหวาน เราไปทานก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ถ้าคนที่เขาไม่ติดหวานเสิร์ฟมาอย่างไรก็เท่านั้น แต่ถ้าคนติดหวานเขาก็จะต้องเติมน้ำตาลเพิ่มอาจถึง 2-3 ช้อนได้ ประเด็นสำคัญคือตัวมันเองอาจไม่ก่อโรค แต่ว่าจะทำให้เกิดภาวะติดหวาน ถ้าเราติดอะไรสักอย่าง ความต้องการมันจะเพิ่มมากขึ้น เรื่องความหวานก็เหมือนกัน ถ้าเราติด ความต้องการก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำตาลก็จะเกิน

ความเข้าใจผิดของคนเป็นโรคเบาหวาน 

เรื่องที่ 1 

มักมีคนมาบอกว่าเป็นเบาหวานทานอันนี้ได้น้ำตาลไม่สูง ไกลซีมิกอินเด็กซ์ต่ำ (ไกลซีมิกอินเด็กซ์ หรือดัชนีน้ำตาลในเลือด) 

เมื่อเราทานน้ำตาลกลูโคสเราคงเคยได้ยินอยู่ หรือทานน้ำตาลทราย ทานเข้าไปน้ำตาลจะขึ้นในเลือดทันที พอขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่ได้ไปใช้งานมัน ไม่ได้ไปออกกำลังกาย น้ำตาลก็จะสูงอยู่ในเลือด 

สารให้ความหวานบางตัว น้ำตาลบางชนิดมีไกลซีมิกอินเด็กซ์ต่ำ ก็คือรับประทานไปแล้วน้ำตาลจะค่อยๆ ขึ้นในกระแสเลือด เจอโฆษณาหลายอันว่าสารตัวนี้ดี เป็นเบาหวานกินได้ไกลซีมิกอินเด็กซ์ต่ำ หรือให้ความหวานน้อย มันขึ้นช้าจริง แต่เมื่อครบเวลาของมันแล้ว มันดูดซึมเข้าไปเป็นพลังงานได้เช่นเดียวกัน

สารให้ความหวานประเภทนี้ จึงเหมาะกับคนไข้เบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูง ทำให้หลังอาหารน้ำตาลจะค่อยๆ ขึ้นอย่างช้าๆ แต่ถ้าบริโภคเกินความจำเป็น โดยรวมพลังงานจะเกิน พอพ้นช่วงเวลาไปแล้วพลังงานเผาผลาญไม่หมด น้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้นได้อีก ก็จะทำให้มีอันตรายต่อร่างกายได้ หรือทำให้เบาหวานแย่ลง

เรื่องที่ 2 

เป็นเรื่องของการรักษา คนไข้มักจะเข้าใจผิดว่ากินยาเบาหวานมากๆ แล้วจะทำให้ไตวาย จริงๆ แล้ว โรคเบาหวาน หมอที่ดูแลคนไข้อยู่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคไต โรคตา หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว เพราะสาเหตุของโรคเหล่านี้เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง สูงจนกระทั่งการทำงานของไตเสียไป ยาที่ใช้รักษาจึงจะไปช่วยลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งยาบางตัวที่ให้ไปมีผลดีกับไตเสียด้วยซ้ำ ทำให้ไตไม่เสื่อม คนที่เป็นเบาหวานนานๆ แล้วไตเสื่อม ส่วนมากเป็นเพราะว่าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ไม่ใช่ตัวยาที่ทำให้ไตเขาไม่ดี 

ยารักษาโรคเบาหวานจะเป็นคนละกลุ่มกับยาแก้ปวดยาแก้อักเสบ ซึ่งยาบางตัวที่เขียนไว้ชัดเจนว่าควรระวังในคนที่อาจจะรับประทานระยะยาวอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องไตได้ จะต่างกับยาเบาหวานที่สามารถทานในระยะยาวได้ เป็นยาที่ผ่านการวิจัยและการทดลองแล้วว่าทานระยะยาวแล้วได้ ไม่มีผลกระทบกับเรื่องไต

การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวาน มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 องค์ประกอบ นั่นคือ เรื่องของตัวยา และเรื่องของพฤติกรรมที่ดีของคนไข้เอง ฉะนั้นหมอเบาหวานจะพูดคุยด้านการปรับพฤติกรรมเรื่องของการบริโภค การมีกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายให้สมดุล 

สเต็ปที่ 1

งานวิจัยในอังกฤษยืนยันผลชัดเจนมากว่า ถ้าเราคอนโทรลน้ำหนักตัวด้วยการออกกำลังกาย และการควบคุมอาหารอย่างดี เบาหวานจะลดลงอย่างชัดเจน การควบคุมนี้ให้ประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลในเลือดสูงกว่ายาบางตัวหรือหลายตัวด้วยซ้ำไป บางคนหายจากเป็นเบาหวานโดยไม่ต้องใช้ยาก็มี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานมาไม่นาน ฉะนั้นการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายถือเป็นสเต็ปแรกของการรักษา

สเต็ปที่ 2 

เรื่องของยา คือทำให้ร่างกายเอาน้ำตาลไปเผาผลาญได้ดีขึ้น ฉะนั้นคุณหมอจะเลือกยากลุ่มนี้ดูว่าคนไหนต้องใช้ยาชนิดไหน เขามีความอ้วนไหม เขามีโรคหัวใจอะไรไหม หรือเขาเป็นเบาหวานมานาน คนไข้เบาหวานตอนเริ่มต้นอาจจะใช้ยารับประทานได้ แต่ถ้าเกิดเขาเป็นเบาหวานมานานจริง 

เบาหวานตอนเริ่มต้นตับอ่อนเสื่อมไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าเป็นเบาหวานมานานหรือเป็นแล้วควบคุมได้ไม่ดี ทำให้ตับอ่อนทำงานหนัก ตับอ่อนก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ตีว่าประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ฉะนั้น 10 ปี เขาจะเสียไปอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ตั้งต้นมีอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ สิบปีก็เสียไปอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ก็คือการทำงานของตับอ่อนเรียกว่า 0 เลย เพราะฉะนั้นก็จะมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นเบาหวานมาระยะหนึ่งแล้วเขาควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ จำเป็นต้องใช้อินซูลินเข้าไปทดแทน 

นพ. เพชร กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่เป็นเบาหวาน จะสังเกตว่ายังมีคนที่เข้าใจผิดๆ อยู่บางประการ หรือความรู้ที่ยังไม่ลึกซึ้งเรื่องการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือการใช้ยา ตกลงต้องใช้อย่างไรแน่ ต้องฉีดอินซูลินหรือเปล่า ฉีดอินซูลินนี่คือวาระสุดท้ายแห่งชีวิตหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีแหล่งเรียนรู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งตัวคนไข้เองและญาติ โดยญาติสามารถไปเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วย ให้เขาได้เข้าใจผู้ป่วย รวมถึงคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานเองก็ควรเรียนรู้ไว้ เพราะในอนาคตอาจเกิดเบาหวานกับตัวเองได้

การเรียนรู้นี้ได้สร้างมาเป็นแพลตฟอร์มที่จำง่าย ใช้ง่าย ชื่อว่า T2DM คือ Type 2 Diabetes Mellitus นี่คือชื่อเต็มของ โรคเบาหวาน แล้วตามด้วย insulin ร่างกายต้องใช้อินซูลินในการควบคุมเบาหวาน จึงเป็นเว็บไซต์ https://www.t2dminsulin.com/ คนไข้และญาติที่ต้องการเรียนรู้และไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเบาหวานสามารถเข้าเว็บไซต์นี้ได้ทั้งโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้และเข้าใจ โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ผ่านการเรียนออนไลน์