ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ เรียนออนไลน์ จึงต้องกลับนำมาใช้อีกครั้งเพื่อลดการแพร่เชื้อ การเตรียมการจึงสำคัญ ฉะนั้น โรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ต้องรับมือให้ดี
การสอน เรียนออนไลน์ โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ได้นำไปเตรียมการเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัย
1. เปิดใจยอมรับว่าการ เรียนออนไลน์ ของลูกเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มองด้านดีว่าการเรียนออนไลน์อาจช่วยพัฒนาทักษะไอทีของลูก และช่วยให้ลูกไม่เสียโอกาสการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันควรเตรียมใจว่าพ่อแม่ต้องเหนื่อยมากข้ึน เพราะต้องช่วยกำกับดูแล ช่วยครูสอน ช่วยลูกเรียน นั่นคือพ่อแม่ต้องเรียนไปพร้อมกันกับลูก
2. รีบแจ้งทางโรงเรียนและคุณครูประจำชั้นให้ทราบโดยเร็ว เมื่อมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่ทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมการเรียนออนไลน์ให้ลูกได้ เพื่อทางโรงเรียนจะได้ช่วยหาแนวทางอื่น ในการช่วยให้เด็กได้เรียน
3. เมื่อพร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยี หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ลูกจำเป็นต้องใช้ ในการเรียนออนไลน์
4. จัดห้องหรือสถานที่ที่จะให้ลูกนั่งเรียนให้เหมาะสม ไม่มีเสียงรบกวน ไม่พลุกพล่าน ไม่มีสิ่งเร้าที่จะทำให้ลูกว่อกแว่ก หากเป็นไปได้แยกไม่ให้น้องมารบกวนพี่ หรือพี่ไปรบกวนน้อง ขอความร่วมมือผู้ใหญ่ในบ้านไม่ให้มาชวนคุย หรือคอยส่งน้ำส่งขนมระหว่างที่ลูกกำลังเรียน
5. จัดตารางเวลาสำหรับทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ตื่นนอน รับประทานอาหาร พักผ่อน เล่น ออกกำลังกาย เข้านอน ฯลฯ ให้ใกล้เคียงกับตารางเวลาในช่วงปกติที่ลูกไปโรงเรียนเท่าที่เป็นไปได้
6. ศึกษาวิธีการตั้งค่าการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต (parental control) เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแอบเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เล่นเกม หรือดูยูทูประหว่างการเรียนออนไลน์
7. พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่ได้เรียนในแต่ละวัน ช่วยทบทวน ตรวจทานงานที่ได้รับมอบหมาย หรือการบ้าน
8. ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรช่วยเหลือกัน อย่าผลักภาระในการช่วยลูก เรียนออนไลน์ ให้เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหน่ึง เพราะงานนี้เป็นงานที่หนัก ท้าทาย และกระตุ้นใหเ้กิดความเครียดได้ง่าย
9. อย่าละเลยการทำกิจกรรมออฟไลน์ร่วมกันกับลูก เช่น อ่านนิทาน ร้องเพลง เต้นรำ วาดรูป ทำงานศิลปะ ประดิษฐ์สิ่งของ ทำอาหาร ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ผู้ปกครองควรตระหนักว่าการเรียนรู้ของลูกๆ ยังสามารถเกิดขึ้นได้มากจากประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ลูกได้สัมผัสในแต่ละวัน
10. ติดต่อกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก และจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันตั้งกลุ่มผู้ปกครองเพื่อช่วยเหลือกันในการจัดการเรียน การทำงาน เพราะหลายๆ ครอบครัวอาจประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
11. ร่วมมือกับคุณครู ติดต่อพูดคุยกับคุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับทราบเนื้อหาที่ลูกต้องเรียน งานที่ลูกต้องทำส่ง แผนการสอนของครู และสิ่งที่คุณครูต้องการให้ผู้ปกครองช่วย
12. บอกกับตัวเองให้ได้ว่าลูกไม่จำเป็นต้องได้ความรู้เต็มที่ หรือได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากการเรียนออนไลน์ ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กหลายอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว พ่อแม่จึงไม่ควรจริงจัง เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป การเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นเพียงมาตรการเสริมชั่วคราว เมื่อโรงเรียนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
13. หมั่นสำรวจอารมณ์ และระดับความเครียดของตัวเอง พึงระลึกว่าหากพ่อแม่หงุดหงิด เครียด หรือใส่อารมณ์กับลูก ขณะกำกับลูกระหว่างที่เขากำลังเรียนออนไลน์ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของเขา หากรู้ตัวว่าตัวเองอารมณ์ยังไม่พร้อม พ่อแม่ไม่ควรกดดันตัวเองให้ช่วยลูกเรียนออนไลน์ ความรู้ที่ลูกมีเพิ่มขึ้น อาจไม่คุ้มกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่ลูกที่จะเสียไป
1. สำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก การเรียนการสอนแบบออนไลน์ยังไม่สามารถทดแทนการสอนโดยครูตามปกติได้ทั้งหมด
2. สำรวจความพร้อม 3 ด้านก่อนจัดการสอนออนไลน์ ได้แก่ ความพร้อมของโรงเรียนและตัวคุณครู ความพร้อมของตัวนักเรียน และความพร้อมของผู้ปกครอง ความพร้อมทั้ง 3 ด้านนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ประสบความสำเร็จ
3. พึงตระหนักอยู่เสมอว่า นักเรียนและผู้ปกครองแต่ละครอบครัวมีข้อจำกัดในการเรียนรู้แบบออนไลน์เสมอไม่มากก็น้อย
4. หากเป็นไปได้ ผู้บริหารโรงเรียน และครูประจำชั้นควรได้มีโอกาสเยี่ยมบ้านของนักเรียนในความรับผิดชอบทุกคน ก่อนหรือระหว่างการจัดการสอนออนไลน์ เพื่อสำรวจและรับฟังปัญหาอุปสรรคของผู้ปกครองและนักเรียนที่มีจากการ เรียนออนไลน์
5. มีความชัดเจนในสิ่งที่คุณครูต้องการให้ผู้ปกครองช่วย แต่ไม่ควรเรียกร้อง หรือคาดหวังให้ผู้ปกครองต้องทำหน้าที่ช่วยสอนมากเกินไป พยายามเข้าใจและยอมรับข้อจำกัดของผู้ปกครองบางครอบครัว
6. มีช่องทางช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ เช่น การจัดให้เด็กกลุ่มนี้ได้ไปเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ กับครูที่โรงเรียน
7. พูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางการจัดการเรียน การประเมินที่เหมาะสมกับแต่ละครอบครัวร่วมกันก่อนวางแผนการเรียน/จัดเนื้อหาโดยที่เนื้อหาควรเหมาะสมกับการทำด้วยตนเองของนักเรียน หรือหากต้องมีพ่อแม่ช่วย ควรมีปริมาณและความยากง่ายที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ปกครองและบริบทของครอบครัว
8. ควรมีตัวอย่าง วิธีการสอน และคำแนะนําแก่ผู้ปกครอง หากจำเป็นต้องให้ผู้ปกครองช่วยสอน
9. จัดวิธีการเรียนที่เหมาะสมกับโอกาสในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ของนักเรียน โดยอาจผสมกันทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนผ่านสื่อต่างๆ ทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ ผ่านสมุด หนังสือเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงาน ที่โรงเรียนส่งให้ทางอีเมล หรือทางไปรษณีย์
10. การสอนออนไลน์ที่มีลักษณะโต้ตอบกันหรือสื่อสารสองทาง (interactive teaching) ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีกว่าการใช้วิธีเปิดวิดีโอการสอนให้นักเรียนดูเพียงอย่างเดียว ซึ่งตัวอย่างสื่อที่เหมาะสมตามวัยของนักเรียน และแอปพลิเคชันทางการศึกษาต่างๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ทาง http://www.thai-dbp.org/downloads/articles/ArticleThaiDBPNo44.pdf
11. ระยะเวลาในการเรียนออนไลน์ควรมีความเหมาะสมกับอายุของนักเรียน โดยนักเรียนอายุ 3-5 ปี ควรเรียนประมาณ 30-60 นาที/วัน นักเรียนอายุ 6-9 ปี ควรเรียนประมาณ 90-120 นาที/วัน นักเรียนอายุ 10-12 ปี ควรเรียนประมาณ 120-180 นาที/วัน และนักเรียนอายุ 13-18 ปี ควรเรียนประมาณ 180-240 นาที/วัน
12. งานที่มอบหมายให้นักเรียนทำ ควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน
13. จัดเวทีให้ผู้ปกครองแต่ละห้องเรียน แต่ละระดับชั้นมาแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีจัดการให้การเรียนออนไลน์ของลูกเป็นไปอย่างราบรื่น
14. ครูควรได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ และได้รับการอบรมทักษะการจัดการเรียนทางไกลหรือออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ