The Post ภาพยนตร์ที่ตีแผ่การทำงานของสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ให้รับรู้ถึงความลับของรัฐบาลที่โกหกประชาชนตลอดมามากกว่า 20 ปี
สื่อ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงอนุภาพที่สุด ไม่ว่าจะประเทศใดก็ตาม เพราะประชาชนจะได้รับข้อมูล ข่าวสาร จากสื่อ ไม่ว่าจะสื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ล้วนมีอิทธิพลกับมนุษย์ทั้งนั้น ทำให้มีการตั้งคำถามอยู่มากมายทั่วโลกว่า บทบาทหน้าที่ของสื่อ จะมีการถูกบิดเบือนหรือไม่ ทั้งการถูกกดดันจากผู้มีอำนาจของแต่ละระบบการปกครองของแต่ละประเทศ หรือมาจากกลุ่มทุนต่างๆ
ในปี 2017 มีภาพยนตร์อยู่ 1 เรื่อง ที่เราถึงสื่อสิ่งพิมพ์เจ้าหนึ่งกำลังเปิดเผยเอกสารลับทางราชการออกมาตีพิมพ์ เพื่อบอกให้กับประชาชนรู้ว่า เรากำลังถูกรัฐโกหก ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ " The Post " ที่กำกับโดยพ่อมดแห่ง Hollywood อย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก และนำแสดงโดย ทอม แฮงส์ และ เมอรีล สตรีป
The Post เล่าถึงในปี 1971 ในช่วงที่สงครามเย็นกำลังร้อนระอุ สมรภูมิรบของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามกำลังแย่ ทุกคนในสหรัฐฯ เริ่มออกมาต่อต้านสงครามเวียดนาม ว่าขอให้ยุติเสียที แต่หารู้ไหมว่า สงครามเวียดนามเป็นสิ่งที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเพื่อตบตาประชาชน หลังจากนั้น เอกสารลับเพนตากอน ที่รายงานเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม พบว่าเอกสารนี้เป็นเอกสารที่รัฐโกหกหลอกลวงประชาชนมาตลอด ทั้งการใช้อำนาจ และงบประมาณ โดยรู้ทั้งรู้ว่าการส่งทหารไปเวียดนาม คือการส่งไปตาย ไม่มีทางที่จะเอาชนะได้อย่างแน่นอน และรัฐทำเพื่อหน้าตาของประเทศเท่านั้นเอง
แดเนี่ยลส์ เอลส์เบิร์ก ผู้สังเกตการณ์ของกองทัพ ได้นำเอกสารลับนั้น ปล่อยออกไปบางส่วน ให้กับสื่ออย่าง The New York Times ตีพิมพ์ ดังนั้น The New York Time จึงกลายเป็นเสมือนปฏิปักต์ต่อรัฐบาล มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ The New York Time ตั้งคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรากันแน่ ซึ่งขณะนั้น ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน กำลังดำรงตำแหน่งอยู่
หนังสือพิมพ์คู่แข่งอย่าง The Washington Post เบน แบรดลีย์ บรรณาธิการของ The Washington Post ได้อ่านข่าวเอกสารลับเพนตากอนแล้ว จึงอยากจะสืบเรื่องราวนี้ต่อจากที่ The New York Times ทำ ว่าเอกสารลับที่เหลือนั้น ยังอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนปล่อยออกมา และต้องเอกสารนั้นทั้งหมด เพื่อจะตีแผ่สิ่งที่รัฐบาลโกหกออกมาให้หมด แม้มันจะเสี่ยงต่อหน้าที่การงานของตน ทั้งบริษัท และยังไม่รวมถึง การที่ เคย์ แกรแฮม ประธานบริษัทหญิงที่พึ่งเข้ามารับหน้าที่เป็นประธานบริษัทแทนสามีผู้ล่วงลับ เธอทั้งถูกกดดันจากการทำงาน ที่มีแต่ผู้ชาย ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้น และรองคณะกรรมการทั้งหลายในบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายเธออยู่พอสมควร
หลังจากนั้นเป็นต้นมา The Washington Post ได้ติดต่อกับ แดเนี่ยลส์ เอลส์เบิร์ก และได้นำเอกสารลับทั้งหมดที่ เอลส์เบิร์กลักลอบออกมา นำมาให้กับ The Washington Post เพื่อนำมาตีพิมพ์ ให้ประชาชนได้รับรู้ แต่สุดท้ายแล้ว หนังสื่อพิมพ์ฉบับที่จะนำเสนอเอกสารลับเพนตากอนนั้น จะได้ถูกตีพิมพ์หรือไม่ อยู่ในการตัดสินใจของ เคย์ แกรแฮม เช่นกัน
*ต่อจากนี้จะเป็นการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน
หลังจากที่ทีมงานรับเอกสารแล้ว (เป็นร้อย เป็นพันแผ่น) เรียบเรียงข้อมูลจากเอกสารลับได้สำเร็จ พร้อมให้โรงพิมพ์สามารถตีพิมพ์ได้เลย เคย์ แกรแฮม จึงได้ตัดสินใจ ให้เอกสารนี้ตีพิมพ์ลงใน The Washington Post โดยไม่สนคำเตือนจากทนายและผู้ถือหุ้น เพราะเชื่อว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สื่อมวลชนต้องเป็นปากกระบอกเสียงให้กับประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่รับใช้ผู้มีอำนาจ หรือใครทั้งนั้น ทำให้หนังสือพิมพ์ The Washington Post ฉบับนั้น ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากประชาชน
และหลังจากนั้น The Washington Post ก็โดนหมายศาลและต่อสู้คดีในชั้นศาล จนชนะ ทำให้ The Washington Post เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นสื่อมวลชน ที่กล้าหาญในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นความลับจากรัฐบาล มานำเสนอให้ผู้คนตาสว่าง และทำให้มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล็กๆ ร่วมกันตีพิมพ์เรื่องราวของเอกสารลับเพนตากอน ออกมาเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใดอีกต่อไป เพราะ บรรพบุรุษให้เสรีภาพสื่อ เติมเต็มประชาธิปไตยและสื่อจะต้องไม่ถูกปกครอง