ในประเทศไทย ปัญหาขยะชุมชนมีแนวโน้มมากขึ้นถึง 28 ล้านตันต่อปี โดยยังมีขยะตกค้างที่ไม่สามารถกำจัดได้ 5.8 ล้านตัน คิดเป็นขยะเศษอาหารประมาณ 4 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงมีแนวคิดพัฒนา นวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหานี้ขึ้น
นวัตกรรม เครื่องย่อยสลายขยะและเศษอาหารเหลือทิ้งให้เป็นวัสดุปรับปรุงดินคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมนี้ ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดอยู่ในปัจจุบันและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จัดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation อย่างแท้จริง
ปัญหาขยะชุมชนที่มากขึ้นทุกปี สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงมีแนวคิดพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยจัดการขยะและเศษอาหารเหลือทิ้ง เปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ เปลี่ยนของเสียให้เป็นวัสดุที่มีคุณค่ากลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้ประโยชน์ได้ครบวงจร ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material) อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทั้งระบบเศรษฐกิจเอง การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดนี้สอดรับกับนโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนของปตท. ตามแนวคิด Technology for All สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สถาบันนวัตกรรม ปตท. โดยทีมวิจัยจากฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มทำการคัดเลือกและพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์ เพื่อช่วยในการย่อยสลายขยะเศษอาหาร โดยเชื้อจุลินทรีย์จะทำงานร่วมกันกับเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ที่ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 ให้สามารถควบคุมสภาวะให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายขยะเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังไร้กลิ่นเหม็นรบกวนอีกด้วย
เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารเหลือทิ้ง จะประกอบด้วยส่วนการทำงาน 2 ส่วนหลักด้วยกัน คือ
1. ส่วนย่อยสลายขยะเศษอาหาร
2. ส่วนดูดซับกลิ่น
การทำงานของทั้งสองส่วน ได้ผ่านการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้สูงสุดถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง เพื่อใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยตัวเครื่องที่มีขนาด กว้าง x ยาว x สูง ไม่เกิน 1 เมตร
ระบบควบคุมของตัวเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหาร ได้ถูกติดตั้งเพื่อควบคุมสภาวะการทำงานโดยอัตโนมัติไว้ ผู้ใช้งานสามารถทำตามขั้นตอนได้ ดังนี้
1. ใส่ขยะเศษอาหาร พร้อมเชื้อจุลินทรีย์ลงไป
2. ทิ้งให้ตัวเครื่องทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผ่านไป 12 ชั่วโมงก็จะได้ วัสดุปรับปรุงดิน หรือ Bio-Soil ที่เกิดจากการย่อยสลายขยะเศษอาหารของเชื้อจุลินทรีย์
3. นำวัสดุปรับปรุงดินที่ได้ ไปใช้บำรุงต้นไม้และบำรุงดินที่เสื่อมสภาพให้มีคุณภาพดี
นวัตกรรม เครื่องต้นแบบสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ได้ผ่านการทดสอบการใช้งานจริงที่ห้องอาหาร สถาบันนวัตกรรม ปตท. อีกทั้งวัสดุปรับปรุงดินที่ได้จากการย่อยสลายเศษอาหาร ก็ได้ผ่านการตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการแล้วเช่นกัน
ผลการตรวจวิเคราะห์ วัสดุปรับปรุงดิน หรือ Bio-soil พบว่า มีธาตุอาหาร NPK ครบถ้วน โดย N-ไนโตรเจน P-ฟอสฟอรัส และ K-โพแทสเซียม นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ และก็ได้ถูกนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ในพื้นที่ของสถาบันนวัตกรรมเรียบร้อยแล้ว
นวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ได้ถูกย้ายมาติดตั้งทดสอบการใช้งานจริงที่อาคารบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 2 เดือน พบว่า เครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหาร สามารถย่อยสลายขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นจากอาคาร EnCo ได้เป็นอย่างดี ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้ถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน โดยไม่เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนรวมทั้งเชื้อรา
การทดสอบการใช้งานที่ EnCo สามารถลดขยะเศษอาหารที่จำเป็นต้องนำไปกำจัดได้ถึง 139.6 กิโลกรัม และสามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นวัสดุปรับปรุงดินกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด 29.06 กิโลกรัม ซึ่ง Bio-soil ที่ได้นี้ ถูกนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ที่บริเวณอาคารจอดรถ 2 ของ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด อีกด้วย
ความสำเร็จในงานวิจัยข้างต้น สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงได้ร่วมมือกับบริษัท อินทรีย์ อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการจัดการของเสียอย่างครบวงจร ช่วยกันผลักดันนวัตกรรมเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัตินี้ ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
พิธีมอบรางวัลประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 35
3 ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ ปตท. รับมอบตราสัญลักษณ์ SHA มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจาก ททท.