โรคยอดฮิตที่มักจะเป็นกันมากในช่วงฤดูฝน นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ในความเป็นจริงยังมีอีกโรคที่ฮิตในหน้าฝนไม่แพ้กัน นั่นคือโรค ชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส Chikungunya Virus ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกช่วงอายุ
ข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า เพียงครึ่งปีแรกของปี 2563 พบผู้ป่วยแล้วเกือบ 2,000 ราย เลยทีเดียว นอกจากนี้พื้นที่การแพร่ระบาดมีการขยายในวงกว้างมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ป่วยยังพบได้ในทุกช่วงอายุอีกด้วย โดยจะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 25-34 ปี
อาการของโรคชิคุนกุนยา โดยทั่วไปจะแสดงอาการดังนี้
- มีไข้สูงอย่างฉับพลัน
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ข้ออักเสบ ปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ข้อต่อแขนขา โดยจะปวดไล่ไปเรื่อย เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย
- ข้อต่อบวม
- เข่าและข้อต่อไม่มีแรง จนไม่สามารถขยับได้
- ปวดกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้
- คันหรือมีผื่นขึ้นตามตัว
- ตาแดง
หากพบว่า มีอาการข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยห้ามทานยาลดไข้แอสไพริน (Aspirin) เป็นอันขาด เนื่องจากอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
แม้ว่าจะเป็นโรคที่ติดต่อจากยุงลายเหมือนกัน มีความรุนแรงเหมือนกัน และอาจมีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออกบ้าง แต่จะมีบางอาการที่พบได้เฉพาะในโรคชิคุนกุนยาเท่านั้น และจะไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- โรคชิคุนกุนยาจะไม่มีเกร็ดเลือดต่ำจนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก
- โรคชิคุนกุนยาจะไม่มีผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติจนทำให้มีน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด ซึ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำจนผู้ป่วยเกิดอาการช็อก อย่างเช่นโรคไข้เลือดออก
- แม้ว่าโรคชิคุนกุนยาจะถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างเช่นโรคไข้เลือดออก อย่างไรก็ตามโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตามข้อทรมาน ซึ่งอาจปวดนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็มี หากรู้ทันโรคสามารถป้องกันได้
โรคชิคุนกุนยายังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ จึงทำได้แค่รักษาตามอาการ เพื่อลดอาการของผู้ป่วย อาทิ
- การใช้ยาลดไข้หรือยาแก้ปวด
- เช็ดตัว
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด
เราสามารถป้องกันโรค ชิคุนกุนยา สามารถทำได้โดย
- เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง
- เก็บขยะ
- ปิดแหล่งน้ำให้มิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายตัวร้ายที่เป็นพาหะของโรค
- ใช้ยาทากันยุงบนผิวหนัง หรือบนเสื้อผ้า
- พยายามใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือเสื้อผ้าที่ไม่เปิดเผยผิวหนัง
แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายโรคที่ต้องเฝ้าระวังในหน้าฝน ดังนั้น ควรหมั่นดูแลและรักษาสุขภาพตามข้อปฏิบัติดังกล่าวที่เราแนะนำไว้ข้างต้น รวมทั้งหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
ขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิงขวัญนุช ศรีกาลา กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี หรือสามารถติดตามสาระดีดีเกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก Principal Healthcare Company