นิทรรศการความทรงจำของ บางลำพู ผ่าน ห้างนิวเวิลด์ ที่เคยคึกคักและเคยเป็นวังมัจฉาอันโด่งดัง กับการส่งต่อเรื่องราวของคนบางลำพูสู่สายตาคนภายนอก เพื่อเริ่มต้นความทรงจำใหม่ๆ อีกครั้ง
ในยุครุ่งเรืองของ บางลำพู หากพูดถึง ห้างนิวเวิลด์ ที่มีลิฟต์แก้วเป็นแห่งแรกๆ ในประเทศไทย ดึงดูดวัยรุ่นหนุ่มสาวและผู้คนในยุคนั้น แต่งตัวโก้เก๋เดินเฉิดฉายมากมาย ในห้างมีพนักงานมากถึง 3,000 คน รอบๆห้าง มีการค้าขายคึกคักอย่างมาก และการเป็นย่านเศรษฐกิจนั้นทำให้ราคาที่ดินไม่กี่กระเบื้องพุ่งสูงเป็นหลักแสนบาท ในช่วง 20 ปีที่แล้ว
นิวเวิล์ดเปิดให้บริการปี 2526 ต่อมาได้ทำการต่อเติมจาก 4 ชั้นเป็น 11 ชั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเขต จนทางการต้องเข้าควบคุมและหยุดการก่อสร้าง ช่วงนั้นจึงเปิดทำการได้แค่ชั้น 1 เท่านั้น แต่ระหว่างการรื้อถอน พื้นชั้น 8 ได้ถล่มลงมาเพราะทีมรื้อถอนวางวัสดุมากมายเอาไว้ทำให้พื้นรับน้ำหนักไม่ไหว ห้างจึงปิดตัวลงอย่างถาวร
ช่วงเวลาหนึ่งสถานที่ลับโด่งดังขึ้นในโลกออนไลน์บอกเล่าจากภาพถ่ายของปลาในห้างร้างแถว บางลำพู จำนวนมากแหวกว่ายในซากตึกอย่างอิสระ เนื่องจาก ห้างนิวเวิลด์ ไม่มีหลังคาทำให้เกิดน้ำขังบริเวณชั้นใต้ดินของห้าง เมื่อฝนตกลงมามากๆ จึงกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ทำให้เกิดยุงจำนวนมาก ชาวบ้านย่านนั้นจึงนำปลาไปปล่อยเพื่อให้กินลูกน้ำ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยไม่คิดว่าจะกลายเป็น "วังมัจฉาใต้ห้างร้าง" รวมถึงเคยติดอันดับในโลกออนไลน์ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวลับ "อันซีนกลางกรุงเทพฯ"
“ยุงมันเยอะ ไม่มีใครสนใจ ฉีดยาก็แล้ว พ่นยาก็แล้ว ก็ยังไม่หมด ยุงเยอะมาก ก็เลยเอาปลามาปล่อย ปลาดุก ปลานิล ปลาช่อน ปลาคาร์พ จนมันเพาะพันธุ์มากขึ้นๆ จนต้องให้ทาง กทม. มาจับ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าปลามันจะมีมากถึง 3 ตัน 4 ตัน” สุณี โฆสิตสัจจาคม 58 ปี อดีตแม่ค้าหน้าห้างนิวเวิลด์
ในเดือนมิถุนายน 2020 ช่วงที่มีนิทรรศการเกิดขึ้น จากการสังเกตุพื้นที่ บางลำพู นี้มาตั้งแต่ยังเป็น นักศึกษา จนกระทั่งกลายเป็นอาจารย์ในปัจจุบัน คือ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ อาจารย์หน่อง
อาจารย์หน่อง กล่าวว่า "อยากจะค่อยๆเปิดพื้นที่ ที่ถูกปิดมานาน และอยากจะร่วมมือกับคนในย่านบางลำพู ค่อยๆ ฟื้นฟูสถานที่นี้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความบังเอิญที่เป็นเพื่อนกับเจ้าของที่ดินตรงนี้ จึงปรึกษากันว่าอยากจะทำให้ห้างนิวเวิลด์กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของย่านบางลำพูอีกครั้ง โดยใช้นิทรรศการนี้เป็นตัวเริ่มต้น"
เดินผ่านประตูเหล็กฉาบซีเมนต์ขนาดเล็กที่เคยเป็นที่จอดลิฟท์แก้วเข้าไป ราวกับเวลาถูกหยุดไว้ทันที นิ่งเงียบ แสงตกกระทบบันไดเลื่อนที่ผุพังและมีต้นไม้ขึ้นอยู่ข้างๆ มีเสียงน้ำหยดจากทุกทิศทาง เคล้าคลอกับดนตรีที่ดังอยู่ภายในนิทรรศการ ห้างยังคงสวยงามด้วยวัสดุและพื้นที่กว้างขวาง แม้จะเก่ามากแล้วก็ตาม แต่กาลเวลาก็ยังสร้างสิ่งเหล่านี้ให้สวยงามได้
นิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town นำโดย อาจารย์หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาเมือง เป็นที่ปรึกษาในการรีโนเวต ห้างนิวเวิลด์ แห่งนี้ และยังเป็นคนดูแลการจัดนิทรรศการร่วมกับกลุ่มเกสรลำพู
อาจารย์หน่องเล่าถึงไอเดียการทำนิทรรศการครั้งนี้ ว่าเกิดขึ้นมาจากการอยากรวบรวมบรรดาความทรงจำของคนในย่าน เพื่อจุดบทสนทนาและดึงความทรงจำของคนในย่านนี้มาบอกเล่า "อันนั้นมันเคยอยู่ตรงนี้นะ...มีเจ๋งกว่านี้อีกนะ..." เป็นจุดประสงค์ของนิทรรศการเป็นการเก็บความทรงจำของคนในย่านมาเล่า ซึ่งมันเป็นความทรงจำที่น่ารักมากของคนบางลำพู
“เจ้าของที่ดินก็อยากทำให้สถานที่มันดีขึ้นและดีกับย่านบางลำพูเอง เลยปรึกษากันว่าค่อยๆ ดึงคนในย่านเข้ามามีส่วนร่วมกับนิทรรศการครั้งนี้ ทำร่วมกับน้องๆ เยาวชนในย่านบางลำพู ถึงจะไม่เก๋ 100% แต่การเริ่มก็เป็นเรื่องที่ดี พูดถึงตัวโครงสร้างอาคาร โดยทางเราก็ให้ทางสภาวิศวกรเข้ามาตรวจสอบกันแบบจริงจัง และพบว่าโครงสร้างยังแข็งแรงดีมาก และไม่เคยมีเหตุไฟไหม้ เพราะฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างเนี่ย แข็งแรงแน่นอน” อาจารย์หน่องกล่าว
อาจารย์หน่องอธิบายว่า ส่วนที่หนึ่ง คือนิทรรศการผลงานของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งใช้พื้นที่ของ ห้างนิวเวิลด์ เป็นโจทย์ในการเรียนและการจัดนิทรรศการของนักศึกษาปี 3 และปี 4 ว่าจะสามารถทำเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง และเมื่อทำเป็นโปรเจคแล้ว ส่วนที่สองเป็น Lighting Installation โดยศิษย์เก่าของคณะฯ เพื่อถ่ายทอดความเป็นย่านของบางลำพูผ่านนัยยะของแสง ส่วนที่สามคือเชิญคนในย่านบางลำพูที่เคยมีความทรงจำกับที่นี่ เล่าเรื่องราวให้กับคนนอกพื้นที่ที่ได้เข้าชมนิทรรศการฟัง และถ่ายทอดเรื่องราวอีกทอดหนึ่ง เพื่อส่งต่อความทรงจำและประสบการณ์ของนิทรรศการนี้ต่อไป
ปานทิพย์ ลิกขะไชย ประธานชมรมเกสรลำพู เล่าว่า ได้มีการศึกษาเรื่องราวของบุคคลสำคัญย่านบางลำพู ประมาณ 40 กว่าคน และเป็นเยาวชนประมาณ 20 กว่าคน ที่เป็นคนบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของย่านบางลำพู ซึ่งเป็นพื้นที่ในความทรงจำของเธอตั้งแต่เด็ก "หลายๆคน ลุงๆ ป้าๆ ตื่นเต้นมาก ก็เข้ามาแล้วบอกว่า ฉันเคยอยู่ตรงนั้น เคยไปเที่ยวตรงนี้ ฉันเคยมาจีบสาวตรงนี้ ในมุมมองของคนที่มาถ่ายรูป อยากให้เขารู้สึกว่ามันมีเรื่องราว มีความทรงจำของคนในย่าน มากกว่าการมองว่ามันคือตึกร้างหรือที่ที่เคยเป็นวังมัจฉา”
นิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ได้จัดแสดง 20 สิ่งของอันเป็นตัวแทนเรื่องราวของย่านบางลำพู ที่ต้องมาเดินบางลำพูเท่านั้น จึงจะเข้าใจว่า ทำไมทางผู้จัดนิทรรศการถึงต้องนำของมาวางเฉยๆ โดยไม่มีคำอธิบายที่ยืดยาว
"ประชาคมบางลำพู" คือกลุ่มผู้ใหญ่ในย่านบางลำพูที่ทำงานควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชน กระทั่งเกิดการส่งต่อสู่กลุ่ม "เกสรลำพู" ซึ่งเป็นเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่แห่งนี้และเป็นมัคคุเทศก์น้อยคอยพานักท่องเที่ยวเดินชมไปพร้อมกับการเล่าเรื่องราวภายในชุมชนบางลำพูของพวกเขาในงานนิทรรศการ
และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าจากสิ่งของที่มีเพียง "การเดินเข้าออกตามตรอกบางลำพู" เท่านั้น จึงจะเข้าใจ
ความทรงจำผ่านตัวอักษร จากผู้ที่เคยไปเดินห้างนิวเวิลด์ในเฟซบุ๊กเพจ everyday บางลำพู
“ผมเกิดทันตอนห้างปิดตัว รู้สึกเสียดายเหมือนกันนะครับ เท่าที่รู้คืออาคารมี 12 ชั้น มีลิฟท์แก้ว 2 ตัว ลิฟท์ทึบ 2 ตัว ลิฟท์รถยนต์ 2 ตัว บันไดหนีไฟ 2 จุด (ด้านบริเวณโถงใหญ่และด้านหลังอาคาร) โถงใหญ่มีน้ำพุติดลิฟท์แก้ว ชั้น 1 ขายของลดราคา ชั้น 5 เป็นซูเปอร์มาเก็ต ชั้น 9 เป็นพวกเครื่องเล่นและตู้เกมส์ทั้งหลาย ชั้น 10 เป็นที่จอดรถส่วนหนึ่ง และชั้นบนๆ จะเป็น ห้องเครื่อง และปั๊มน้ำครับ"
"จากใจคนรักย่านบางลำพู คือโตมาด้วยของกินของใช้จากย่านนี้ เห็นกันมา 40 กว่าปี รู้สึกเหมือนเห็นเพื่อนเก่ามีความโรยราในบางมุม มีกลิ่นใหม่เปลี่ยนโฉมหน้ามาแทรก ทุกวันนี้มีโอกาสยังกลับไปเยี่ยมเพื่อนบ่อย ๆ ส่วนห้างนี้ ป้าชอบร้านรองเท้ากับแอร์เย็นดี"
“อยากให้คนได้มาเห็นเยอะๆ เราว่างานเขาคอนเซ็ปต์ดีจริงๆ ถึงพื้นที่จัดนิทรรศการจะเล็กมาก เพราะกลัวว่าจะมีเศษอะไรตกลงมา แต่พอเข้าไปแล้วเหมือนได้ย้อนเวลา ขนาดว่าเราจำได้ไม่มาก แม่เราที่ไปด้วยกันดูเล่าเรื่องได้เป็นฉากๆ เลย ต่อไปก็รอลุ้นค่ะว่าจะมีคนพัฒนาที่ตรงนี้เป็นอะไร น่าจะอีกหลายปี เราคุยกับน้องๆ ว่าทำไมเลือกมาจัดนิทรรศการที่นี่ น้องบอกว่าเพราะเดี๋ยวเขาจะล้อมรั้วแล้ว ไม่อยากให้อยู่ดีๆ ตึกนี้ก็หายไป”
ความทรงจำแรก ในฐานะผู้ที่บ้านไกลจากบางลำพูมาก แต่ก็ยังดั้นด้นขึ้นรถเมล์ไปซื้อชุดนักศึกษาถึงบางลำพู เพราะมีเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัยแถวนั้น บอกว่า ถ้าจะซื้อชุดนักเรียนนักศึกษา ต้องมาบางลำพู มองย้อนกลับไป เราเองก็มีความทรงจำที่เกิดขึ้นในย่านบางลำพู อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน อาหารการกินที่หลากหลาย โดยเฉพาะขนมต่างๆ ไปกี่ครั้งก็ยังต้องไปกินก๋วยเตี๋ยว ไม่ก็ข้าวมันไก่ร้านโปรดเช่นเดิม ซื้อขนมมากมายติดมือกลับบ้าน แต่สิ่งที่ทำให้เราประทับใจกับบางลำพูมากที่สุด คงจะเป็นป้ายร้านรวงต่างๆ ที่สวยงาม รูปแบบตัวอักษรหลากหลาย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของทุกๆ ทางเดิน ที่มีแค่ย่านบางลำพูเท่านั้น ที่ไม่เหมือนย่านอื่น
นิทรรศการนิวเวิลด์โอลทาวน์ อาจเป็นเพียงนิทรรศการเล็กๆ ชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ แต่จะอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนไปอีกนานแสนนาน และเรายังหวังให้ย่านบางลำพู คึกคักไปเรื่อยๆ แบบนี้ตลอดไปเช่นกัน