svasdssvasds

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช สรุปความก้าวหน้าเพื่อวางแผนการรับมือในอนาคต หลังครบ 1 เดือนเต็ม ตั้งแต่ที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด 19 เกิน 100 รายขึ้นไป

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช วันที่ 15 เมษายน อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช

วันที่ 14 เมษายน สถิติจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มประเทศอาเซียน อันดับที่ 1 คือ ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 2 คือ มาเลเซีย อันดับที่ 3 คือ อินโดนีเซีย อันดับที่ 4 แซงหน้าไทยไปแล้ว คือ สิงคโปร์ ส่วน ไทย อยู่ที่อันดับที่ 5 (จากเดิมไทยอยู่ที่อันดับที่ 2 ของอาเซียน) อันดับที่ 6 คือ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก เป็นประเทศที่ใช้ระยะเวลาที่คนไข้ติดเชื้อเพิ่มจาก 100 ราย เป็น 200 ราย นานมาก ค่อนข้างดูแลดีมากทีเดียว

ขณะที่ประเทศไทย มีความพยายามอยากที่จะให้ประเทศมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่สามารถควบคุมได้ เช่นเดียวกันกับ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช

จากกราฟแสดงจำนวนผู้รักษาหายต่อวันและผู้รักษาหายสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 14 เมษายน สังเกตได้ว่า กราฟเขียวคือตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาหายในแต่ละวันมีมากขึ้นกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นกราฟสีส้ม

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช

อย่างไรก็ตาม หลังจาก 43 วันไปแล้ว ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว เพื่อการคาดการณ์ในการวางแผนรับมือในอนาคต จากการศึกษาสถานการณ์ของ 2 ประเทศนี้ สรุปได้ว่า

ญี่ปุ่น มีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นน้อยมาตลอด แต่หลังวันที่ 25 มีนาคม มีการลดมาตรการต่างๆ ลง ทำให้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้ทางรัฐบาลต้องออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) ในวันที่ 7 เมษายน โดยควบคุมการเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ควบคุมระยะห่างระหว่างตัวบุคคล อย่างในทุกห้างสรรพสินค้าทั่วไปจะมีจุดกำกับให้ผู้มาใช้บริการยืนห่างกันตามกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด

สิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่รักษาความคงที่ได้ดี แต่กลับมีตัวเลขพุ่งขึ้นสูงตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้สิงคโปร์ได้ออกมาประกาศมาตรการตัดกระแสวงจรของการแพร่กระจายเชื้อ (circuit breaker) โดยกลับมาทำอย่างเช่นที่ประเทศไทยทำอยู่ในเวลานี้ คือ อยู่บ้าน ใช้เวลานอกบ้านให้น้อยที่สุด ถ้าต้องออกนอกบ้านต้องรักษาระยะห่างระหว่างตัวบุคคลให้ได้ 2 เมตรขึ้นไป ขณะเดียวกันกำหนดชัดเจนให้ประชาชนใส่หน้ากาก และล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ เป็นมาตรการที่กำชับย้ำให้ทุกคนต้องทำ เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อโรค

เวียดนาม เป็นประเทศที่ควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดี ดูจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจาก 50 ไปหลักร้อย ใช้ระยะเวลาหลายวัน เวียดนามนับเป็นประเทศที่รับมือโควิด 19 ไวมาก รัฐบาลเร่งออกมาประกาศทันทีว่าโควิด 19 เป็นโรคระบาดร้ายแรงของประเทศตั้งแต่ที่มีผู้ติดเชื้อ 20 ราย การตอบสนองเร็ว ทำให้หลังจากนั้น จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาก โดยเวียดนามสั่งซื้อ Rapid Test จากเกาหลีมาสองแสนชุด แล้วนำมาตรวจถี่ จึงทำให้เวียดนามรู้สถานการณ์การติดเชื้อได้ดีขึ้น และยังมีมาตรการเข้มงวดในหลายจุด หลายพื้นที่ไม่ให้เข้า รวมถึงมาตรการรักษาระยะห่างด้วย

ยุทธศาสตร์ที่เรียนรู้จากทั้ง 3 ประเทศ

ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลงให้ได้ ผู้รับผิดชอบคือ ประชาชนทั้งประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องทำ นั่นคือ การอยู่บ้าน การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใส่หน้ากาก การล้างมือ สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่รณรงค์ให้ทำมากว่า 1 เดือนแล้ว เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกัน ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยใหม่จะลดน้อยลง

ย้ำว่า แม้ไทยจะมีตัวเลขที่ลดลงเป็นไปในทิศทางที่ดี ต้องไม่หยุดทำ ให้ตระหนักถึงบทบาทของตัวเองต่อสังคม บทบาทของตัวเองกับประเทศ มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ มีวินัย ถ้าทุกคนช่วยกันอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ เชื่อว่ายุทธศาสตร์ต้นน้ำจะประสบผลสำเร็จ

ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ คือ การลดอัตราการเสียชีวิตให้อยู่ในระดับต่ำ เพิ่มอัตราการกลับบ้านให้สูง ผู้รับผิดชอบระบบการดูแลสุขภาพ ทั้งจาก รัฐบาล กระทรวง บุคลากรต่างๆ ด้านการดูแลสุขภาพ หมายรวมถึงทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วยด้วย ทั้ง เตียง คน ของ งบประมาณ ยา ต่างๆ

วันนี้ทุกคนทำงานหนัก ทุกคนภูมิใจในสิ่งที่เรามี ทุกคนชอบในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ทุกคนมีความรักและศรัทธาในวิชาชีพ ทุกคนพยายามพัฒนาความสามารถ ศักยภาพ ทักษะต่างๆ เพื่อเป้าหมายให้ยุทธศาสตร์ปลายน้ำประสบความสำเร็จ คือ ลดอัตราการเสียชีวิต กับ เพิ่มอัตราการกลับบ้าน

สรุป รายงานความก้าวหน้า โควิด 19 จาก ศิริราช

มาตรการใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนอีกครั้งในวันที่ 22 เมษายน นับจากวันนี้ไปอีก 7 วัน ถ้าตัวเลขใหม่ยังคงน้อยลง อัตราการเสียชีวิตไม่ได้แตกต่าง จำนวนผู้ป่วยหายกลับบ้านยังมากอยู่แบบนี้ และจำนวนการตรวจต้องไม่ลดลงเช่นกัน ประเทศไทยเราอาจจะมีคนผู้ติดเชื้อลดลงจริง และอาจทำให้พิจารณาการเปลี่ยนมาตรการ

จุดสมดุลต้องทำให้ดี ไม่เช่นนั้นหากลดมาตรการลงเร็วเกินไป อย่าง 2 ประเทศข้างต้นที่กล่าวมา อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมาตรการที่ปล่อยให้คนเข้าประเทศที่ต้องระวัง ขณะเดียวกันก็จะกระทบกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรากหญ้า ซึ่งต้องนำมาคิดพิจารณาประกอบกับการดูแลสภาพสังคม

ฉะนั้น ต้องปรับเปลี่ยนมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้หย่อนในกิจกรรมที่สำคัญๆ เท่านั้น อย่าหย่อนทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์กลับมาเลวร้ายลงอีกครั้งได้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังย้ำอีกครั้งว่า ให้ประชาชนทุกคนรักษาระยะห่างระหว่างตัวบุคคล การป้องกันตนเองและสังคมโดยการใส่หน้ากาก การล้างมือ ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19

เรื่องน่ารู้จาก COVID-19

อ่านข่าวแนะนำ >>> วิธี กักกันตัวเอง ที่บ้าน ทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/630786

อ่านข่าวแนะนำ >>> Social Distancing ระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/631471

อ่านข่าวแนะนำ >>> วิธีรับมือ ความวิตกกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/634538

อ่านข่าวแนะนำ >>> How To ดูแล สุขภาพจิต เด็กและเยาวชน ระหว่างโรคระบาด

https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/635009

อ่านข่าวแนะนำ >>> How to ทำงานจากบ้าน พร้อมเลี้ยงลูกไปด้วย แบบไม่เสียสติ

https://www.springnews.co.th/alive/edutainment-alive/636779

 

 

related