svasdssvasds

สรุปให้ '20 ปี สึนามิ' คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ของไทย เสียชีวิตหลายพันคน

สรุปให้ '20 ปี สึนามิ' คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ของไทย เสียชีวิตหลายพันคน

สรุปเหตุการณ์วันที่ 26 ธ.ค. 2547 เมื่อคลื่นยักษ์ 'สึนามิ' เข้าถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 พันคน และสูญหายอีกหลายพันคน ถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ 'ร้ายแรงที่สุด' ในประวัติศาสตร์ไทย

26 ธ.ค. 2547 เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มีผู้เสียชีวิตทันทีหลายพันคน สร้างความโศกเศร้าไปทั่วประเทศและทั่วโลก

เมื่อคลื่นยักษ์ ‘สึนามิ’ เข้าถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ทั้ง จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล และตรัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีครึ่งหมื่น และสูญหายกว่า 3 พันคน

เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น SPRiNG ชวนย้อนอ่านกันในวันครบรอบ ‘20 ปี สึนามิ’

1) เวลา 07.58 น. ตามเวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวใต้น้ำขนาด 9.1 – 9.3 บริเวณจังหวะอาเจาห์ ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ไปทุกทิศทาง รวมถึงประเทศไทย

2) 18 ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียได้รับผลกระทบ มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 2.3 แสนคน ถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 และเป็นสึนามิที่สร้างความเสียหาย ‘มากที่สุดในประวัติศาสตร์’

3) เวลา 09.30 น. คลื่นสึนามิลูกแรกสูง 2 - 12 เมตร เข้าถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย เริ่มจาก จ.ภูเก็ต ไล่ขึ้นไปทางเหนือและใต้ เริ่มจาก จ.พังงา ระนอง กระบี่ สตูล และตรัง ก่อนที่ลูกที่สองและสามจะตามมาในเวลา 40 นาที และ 80 นาทีตามลำดับ

4) ไทยมีผู้เสียชีวิต 5,309 ราย กว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 37 สัญชาติ มีผู้บาดเจ็บ 8,457 ราย และผู้สูญหาย 3,370 ราย โดย จ.พังงาเป็นบริเวณที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด คิดเป็นกว่า 70% ของทั้งหมด

เหตุผลที่มีชาวต่างชาติเสียจำนวนชีวิตมาก เนื่องจากเหตุเกิดหลังวันคริสต์มาส ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพักผ่อนในไทย บางครั้งสื่อต่างชาติก็เรียกเหตุสึนามิครั้งนั้นว่า Boxing Day Tsunami (“สึนามิในวันแกะของขวัญ”)

5) จากการศึกษา คลื่นสึนามิที่เข้าถล่มชายฝั่งไทยมีจุดที่สูงสุดถึง 19.6 เมตร บางจุดน้ำทะเลเดินทางลึกเข้าในฝั่งเกือบ 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 4.75 แสนไร่ บ้านเรือนเสียหาย 5,506 หลัง มี 20,178 ครอบครัวได้รับผลกระทบ

6) ประเมินกันว่า สึนามิครั้งนั้น สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.26 หมื่นล้านบาท

7) เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังเหตุสึนามิยังมีกรณีที่นายทุนเข้าไปอ้างสิทธิเหนือที่ดินของชาวเล เช่น มอแกน-มอแกลน, อุรักลาโว้ย ในหลายจังหวัด จนต้องสู้คดีกันเป็นเวลานับสิบปี

8) นอกจากภาครัฐจะอนุมัติงบ 5.37 พันล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยสึนามิ ยังมีการตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมกับพัฒนาระบบเตือนภัยสึนามิในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิ 2 ทุ่น ได้แก่ สถานี 23401 ที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย และสถานี 23461 ที่ลอยอยู่ในทะเลอันดามัน, จัดตั้งหอเตือนภัย, กำหนดการซักซ้อมหลบภัยเมื่อมีสึนามิ ฯลฯ

9) SPRiNG ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับคนในบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบว่าหลายคนยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้ฝังใจ บางคนเสียคนในครอบครัวไปกว่า 40 ชีวิต, บางคนสูญเสียภรรยาที่เพิ่งตั้งท้อง ฯลฯ ขณะที่ชาวเลมอแกน-มอแกลนบางคนยังเล่าถึงตำนาน ‘คลื่นยักษ์ 7 ชั้น’ ของผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่ทำให้วันนั้นรอดชีวิตมาได้

10) ผ่านมา 2 ทศวรรษ การรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ของภาครัฐไทยมักจะถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า ได้เรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้นแค่ไหน อย่างว่าแต่สึนามิ ยังรวมไปถึงน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม ฝุ่นพิษ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกปี และยิ่งแปรปรวนทั้งเรื่องความถี่และความรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ (climate change) ของโลก

ขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูงเสียจากเหตุการณ์สึนามิและครอบครัว ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

related