svasdssvasds

รวมวิธีลดหย่อนภาษี 2568 วางแผนการเงินให้คุ้มค่า ได้เงินคืนฉ่ำรับปีงูเล็ก

แชร์ทริคลดหย่อนภาษี 2568 กองทุนไหนน่าซื้อ? ลงทุนแบบไหนให้คุ้มค่ามากที่สุด มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายแลกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของรัฐบาลมีอะไรบ้าง รู้ไว้ให้ครบสูตรก่อนยื่นแบบเสียภาษี

SHORT CUT

  • สรุปรวมเรื่องที่ต้องรู้ ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2568 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568
  • เราต้องจัดการซื้อกองทุน ประกันชีวิต และตรวจทานสิทธิลดหย่อนอื่นๆ ให้ทันก่อนหมดปี 2567
  • ปีนี้มีกองทุนน่าสนใจคือ Thai ESG สามารถใช้ลดหย่อนได้ถึง 30% ของเงินได้ สูงสุด 300,000 บาท ไม่นับรวมกับกลุ่มกองทุน-ประกัน อื่นๆ

แชร์ทริคลดหย่อนภาษี 2568 กองทุนไหนน่าซื้อ? ลงทุนแบบไหนให้คุ้มค่ามากที่สุด มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายแลกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของรัฐบาลมีอะไรบ้าง รู้ไว้ให้ครบสูตรก่อนยื่นแบบเสียภาษี

ทุกเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ผู้มีรายได้ทุกคน จะต้องยื่นแบบแสดงข้อมูลเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อันเป็นหน้าที่พื้นฐานของพลเมืองทุกประเทศทั่วโลก ให้รัฐนำเงินภาษีไปใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั่วประเทศ

 

ใครต้องเสียภาษีบ้าง? ประเทศไทยกำหนดให้ผู้มี “รายได้สุทธิ” เกินเกณฑ์ เสียภาษี “แบบขั้นบันได” รายได้เยอะจ่ายเยอะ รายได้น้อยจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย แต่หากรายได้เยอะแต่มีภาระต้องดูแลครอบครัว มีการลงทุนเพื่อเกษียณ รัฐก็มีมาตรการณ์ลดหย่อนให้ โดยคำนวณรายได้สุทธิจาก

“รายได้-รายจ่าย-ลดหย่อน=รายได้สุทธิ”

รายการลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว

 

  • ลดหย่อนภาษีส่วนตัว ได้คนละ 60,000 บาท
  • ลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ คนละ 60,000 บาท
  • ลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ครรภ์ละ 60,000 บาท
  • ลดหย่อนบุตร รายละ 30,000 บาท
  • ลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา ที่รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รายละ 30,000 บาท
  • ลดหย่อนดูแลผู้พิการรายละ 60,000 บาท

 

รายการลดหย่อนกลุ่มเงินประกัน เงินออม และการลงทุน

 

  • เงินประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 9,000 บาท
  • ประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ไม่เกิน 100,000 บาท

กลุ่มการลงทุนเพื่อการเกษียณที่รวมทั้งหมดแล้วลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

 

  • กองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของรายได้สุทธิตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุน RMF ไม่เกิน 30% ของรายได้สุทธิตามจ่ายจริง
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อน 15% ของเงินได้
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อน 30% ของเงินได้
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อน 15% ไม่เกิน 200,000 บาท

 

การลงทุนในกองทุน Thai ESG เปิดให้ลงทุนเพื่อลดหย่อนเป็นปีแรก สามารถลดหย่อนได้เป็นวงเงินแยกต่างหาก นอกเหนือจากก้อนการลงทุนเพื่อเกษียณ ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300,000 บาท

 

รายการลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาค


- บริจาควัดและมูลนิธิ ลดหย่อนตามที่จ่าย สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น
- บริจาคเพื่อสังคมและสถานพยาบาลของรัฐ สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น
- บริจาคพรรคการเมืองตามจ่ายจริง สูงสุด 10,000 บาท

 

รายการลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ


- Easy E-Receipt ลดหย่อนรายจ่ายซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
- ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

related