svasdssvasds

"ขอเป็นคนไทยก่อนตาย" ฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าไทลื้อไร้สัญชาติ

"ขอเป็นคนไทยก่อนตาย" ฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าไทลื้อไร้สัญชาติ

"อยู่มาเกินครึ่งชีวิต แต่ยังไม่มีสิทธิเป็นคนไทย" ความฝันผู้เฒ่าไทลื้อ ที่รอการอนุมัติก่อนจะลาโลกนี้ไป ภาคประชาชนชี้กลุ่มผู้สูงอายุเปราะบางที่สุดเพราะขาดสิทธิสวัสดิการทางสังคม

พ่อพรม พรชัย อายุ 77 ปี ชาวชาติพันธุ์ไทลื้อ

เกิดที่เชียงรุ้ง เมืองสิบสองปันนา ประเทศจีน ก่อนอพยพหนีความยากจนและสงครามเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พ่อพรมได้ดำเนินการขอมีสัญชาติไทยตั้งแต่ปี 2560 สถานะปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติสัญชาติไทย

 

พ่อพรม บอกว่า ตอนอยู่ที่ประเทศจีนก็ต้องทนกับความแร้นแค้น ทำนา ทำไร่ ก็ได้ผลไม่ดี ไม่พอกิน จึงอพยพมาอยู่ที่เมืองแม่ขาว ประเทศเมียนมาก่อน ก็เจอกับภัยสงครามและความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในเมียนมา บรรยากาศไม่น่าอยู่กลัวกระทบต่ออนาคตของลูกหลาน จึงเดินทางเข้าประเทศไทยทางด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในปี 2530 ขณะนั้นมีอายุ 30 ปี มาพร้อมภรรยาและลูกสาววัยเยาว์อีก 2 คน ได้ขอมีบัตรประจำตัวชาวต่างด้าวในปี 2537

 

\"ขอเป็นคนไทยก่อนตาย\" ฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าไทลื้อไร้สัญชาติ \"ขอเป็นคนไทยก่อนตาย\" ฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าไทลื้อไร้สัญชาติ \"ขอเป็นคนไทยก่อนตาย\" ฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าไทลื้อไร้สัญชาติ

พ่อพรม ได้ยื่นขอสัญชาติไทยตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งในตอนนั้นหลักเกณฑ์ได้สัญชาติมีเงื่อนไขเรื่องรายได้ต่อเดือนเข้ามาด้วย จนกระทั่งในปี 2563 สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรี ได้มีหนังสือเวียนเปิดโอกาสให้ “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” เช่นพ่อพรม ต่างด้าวที่อายุมากกว่า 60 ปี อาศัยในไทย มีบัตรต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 5 ปี สามารถละเว้นคุณสมบัติเรื่องการเสียภาษี และการตรวจสอบสถานะโดยหน่วยงานรัฐให้สะดวกมากขึ้น โอกาสเข้าถึงการมีสัญชาติได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันพ่อพรมยื่นเรื่องไปนานกว่า 7 ปีแล้ว ได้รับการอนุมัติในระดับจังหวัด แต่เรื่องยังค้างอยู่ในระดับกระทรวง 

 

“ถ้าวันหน้าเราตายไป จะได้ฝากลูกฝากหลานไว้ที่นี่ได้ในฐานะคนไทย” คือความฝันสุดท้ายที่รอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดเรื่องสัญชาติที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการของกระทรวงมหาดไทย โดยจำนวนคนที่ไร้สัญชาติในจังหวัดเชียงรายที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ยังมีชื่อค้างอยู่ในกระบวนการระดับกระทรวงเช่นพ่อพรม อีกถึง 1,235 คน (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567)

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนเขตภูเขา (พชภ.) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้เฒ่าที่ไร้สัญชาติถือเป็นกลุ่มผู้เปราะบางที่สุด ขาดสิทธิสวัสดิการทางสังคม เช่น สิทธิในเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายต่างๆของรัฐ โดยกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ส่วนมากอยู่มานานกว่า 30-40 ปี หรือบางรายอยู่มานานถึง 60 ปีแล้ว เป็นบุคคลที่กลมกลืนและเกาะเกี่ยวกับสังคมไทย มีลูกหลานรับราชการทหารตำรวจในไทย แต่กลับเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติใดเลย แม้จะได้ทำประโยชน์มากมายให้กับสังคมไทย 

 

ผู้เฒ่าส่วนใหญ่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ เพราะต้องผ่านกระบวนการขอสัญชาติกว่า 14 ขั้นตอน เมื่อผ่านการอนุมัติระดับอำเภอแล้วก็ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อเห็นชอบ แล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้แปลงสัญชาติผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อบุคคลนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องปฏิญาณตน ทำพิธีสาบานตน เพื่อรับสัญชาติไทยต่อไป

 

“ผู้เฒ่าเหล่านี้ หลายคนอายุ 70-80 ปี และไม่น้อยกว่า 10% ของผู้ขอสัญชาติเสียชีวิตไปก่อนจะได้รับสัญชาติ ท่านเหล่านี้ล้วนอยากเสียชีวิตในฐานะพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์ จึงหวังว่า สิทธิในสัญชาติซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน จะได้รับการให้ความสำคัญอย่างสมดุล ระหว่างความมั่นคงของชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นางเตือนใจ กล่าว

 

related