บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดพิธีมอบรางวัลสร้างขวัญกำลังใจให้คนตัวเล็ก กระตุ้นให้คนไทยเชื่อมั่นว่า คนตัวเล็ก สามารถเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนได้ จากวิกฤตภาวะโลกเดือด
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังทำให้โลกปั่นป่วน นั่นหมายความประชากรโลกทุกแขนงถึงเวลาที่จะต้องช่วยกัน เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน และเชื่อไหมว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราก็สามารถเปลี่ยนโลกได้
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทเอกชนที่มีเป้าหมายเดินหน้าเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืน ด้วยกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มพื้นที่ป่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ลงทุนในพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เท่านั้นไม่พอ เป้าหมายของปตท. ยังอยากให้คนไทยตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและให้เราเชื่อมั่นว่า ประชาชนทั่วไปก็มีส่วนช่วยโลกได้
จึงได้จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 และพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “คนเล็ก เปลี่ยนโลก” โดยภายในงานก็จะมีบรรยายพิเศษจากเหล่านักเปลี่ยนโลก
Keep The World ขอสรุปพอยท์สำคัญ ๆ ในงานให้เข้าใจง่าย ๆ เริ่มที่คนแรกคุณสิงห์ วรรณสิงห์ นักทำสารคดีและนักสิ่งแวดล้อม ที่ได้เล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์เดินทางทั่วโลก ได้เห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เช่น น้ำแข็งขั้วโลกในกรีนแลนด์กำลังละลาย ปัญหาภูเขาขยะในอินเดีย และไฟป่าที่ออสเตรเลียก็เป็นปัญหาซ้ำซากที่ทางนู้นก็ยังแก้ไม่ได้เหมือนกัน
สำหรับประเทศไทย ก็เผชิญหน้ากับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น ไฟป่าภาคเหนือ น้ำท่วม ที่สำคัญเลยคือ คนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเฉลี่ย 3.6 ตัน/คน/ปี ดังนั้น การลดการปล่อยคาร์บอนได้ สามารถเริ่มได้ที่ตัวเรา และเนื่องจากไทยได้อันดับ 9 ประเทศที่เสี่ยงต่อภาวะโลกร้อน จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเร่งให้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด และพ.ร.บ.โลกร้อน เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด
อีกท่านหนึ่ง คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม ก็ได้แชร์ให้ฟังว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนเมืองกับคนชนบท คนเมืองสนใจว่า ปากท้องต้องอิ่มก่อนถึงจะสนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนคนชนบทจะรักษาสิ่งแวดล้อมก่อน เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมดี ปากท้องก็จะอิ่ม
ยกตัวอย่าง จังหวัดสุรินทร์ เป็นจังหวัดที่แล้งจนติดอันดับ แต่ชาวบ้านตำบลเชื้อเพลิงกว่า 7,000 คน สามารถจัดการน้ำให้มีกินมีใช้ตลอดทั้งปีได้ เพราะพวกเขาลุกขึ้นมาช่วยกันรักษาป่า เมื่อมีป่า ก็มีแหล่งน้ำ นอกจากนี้ พวกเขายังขุดสระน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง เพื่อกักเก็บและกระจายน้ำ ทำให้ปลูกข้าวได้เมื่อต้องการ ชุมชนตำบลเชื้อเพลิงนี้เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบด้านการจัดการน้ำ และได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวด้วย
เรื่องราวเหล่านี้น่าทึ่งและถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนได้เห็นภาพและเข้าใจเลยว่า ถ้าเราไม่รักษาทรัพยากรไว้ เราก็สูญเสียทรัพยากรที่สำคัญไป
ด้วยเหตุนี้ งานมอบรางวัลที่จัดขึ้นนี้ ก็มีขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนตัวเล็ก ๆ ที่พยายามเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งก็ต้องควบคู่ไปกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”
จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการดำเนินการประกวด เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคลต้นแบบด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งนี้หวังว่า จะสามารถต่อยอด ขยายองค์ความรู้และภาคีที่เข้มแข็ง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ของภาคเอกชนที่ได้มอบให้กับประชาชนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา หากคุณผู้อ่านสนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook Green Globe Institute (สถาบันลูกโลกสีเขียว)