ตกเป็นเหยื่อ "ข่าวปลอม" หรือเฟกส์นิวส์อยู่หรือเปล่า ใครสร้างมันขึ้นมา ใช้กลยุทธ์ลวงลึกหลอกแชร์อะไร ทำไมถึงแยบยลขนาดนั้น หลัง ๆ มานี่ได้ยินกันบ่อยเหลือเกิน เพราะมีมากขึ้น แพร่กระจายเร็ว เข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส
ยุคเกษตรกรรม คนจะเป็นไปแบบไหน ขึ้นอยู่กับอาหารที่กิน ยุคอุตสาหกรรม คนจะเป็นไปแบบไหนขึ้นอยู่กับอาชีพที่เลือก ส่วนยุคนี้ ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร คนจะเป็นไปแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เลือกเสพ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลที่หลากหลายและง่ายต่อการเข้าถึงแค่ปลายนิ้ว ผู้เสพโดยมากก็จะเลือกรับข่าวสารตามที่ตัวเองเชื่อหรือถูกจริตกับตัวเองมากกว่าจะใช้เหตุผลในการเชื่อ
ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ข่าวปลอมทวีความรุนแรงมากขึ้น ถือเป็นปัญหาใหญ่เพราะส่งผลต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนำมาซึ่งความเชื่อผิดๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้เสพเอง และสังคมโดยรวม นอกจากนั้น "ข่าวปลอม" ยังบั่นทอนการทำข่าวของสื่อ ส่งผลต่อการนำเสนอข่าวสำคัญ เนื่องจากอาจมีการบั่นทอนความเชื่อถือของผู้เสพข่าวจากการเผยแพร่ข่าวปลอม
ข่าวปลอมมักถูกสร้างโดยมีวัตถุประสงค์
อาจจะเพื่อชักนำจูงใจบุคคล หรือเพื่อให้ได้ผลประโยชน์บางอย่าง หรือเพื่อการโฆษณาค้าขาย เพื่อการเมือง แม้แต่การชักนำให้เห็นคลาดเคลื่อนไปจากความจริง และเมื่อมาแมชชิ่งเข้ากับจริตส่วนบุคคลที่พร้อมจะเชื่อโดยไม่ใช้เหตุผลก็ลงล๊อคเป๊ะเข้าทางวัตถุประสงค์ผู้สร้างข่าวปลอม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของข่าวปลอม เช่น การผลิตเนื้อหาเพื่อเรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ และเรตติ้ง เพื่อเข้าถึงรายได้ของการโฆษณาต่าง ๆ การสร้างโอกาสแนวโน้มให้สูงขึ้นของการแบ่งแยกทางการเมือง เพื่อนำแข่งกับเรื่องที่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แนะวิธีรู้ทันข่าวปลอมจากงาน “Virtual Forum หยุดข่าวปลอม ประเทศไทย”
Deepfake คลิปปลอมสุดเนียนที่สร้างจาก A.I. จะแยกแยะยังไงว่าเป็น "ข่าวปลอม"
"ข่าวปลอมไม่ใช่ว่าพึ่งจะมี หรือมีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น มีกันมานานแล้ว มีกันทั่วโลก โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ขึ้นในโลก ในสังคม สิ่งที่จะตามมาก็คือข่าวปลอม"
ความน่ากังวัลของข่าวปลอมคือ ไม่มีใครตอบได้ว่าจริงหรือไม่จริง เพราะมันถูกผูกกับสถานการณ์เหตุการณ์จริง ณ ขณะนั้น เวลานั้น จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงเชื่อ และโลกโซเชียลได้กลายเป็นแหล่งรับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของทุกคนไปแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของพวกเราทุกคนได้อีกด้วย ทุกคนเหมือนมีสถานี สำนักข่าว มีพื้นที่สื่อของตัวเอง และการแชร์ข้อมูลบางครั้งมีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลไม่จริง
ระวังเป็นเหยื่อ เพราะความเชื่อว่า แชร์ก่อนคือเก่ง โพสต์ก่อนคือเจ๋ง
บางครั้งเราก็ตกเป็นเหยื่อโดยการแชร์ข่าวปลอมของคนที่หวังผล บางครั้งเราเป็นคนสร้างข่าวปลอมขึ้นมาเองจากความเชื่อของเรา ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่รู้ว่าวัน ๆ เราอยู่ในสถานะไหนมากกว่ากัน แต่ที่แน่ ๆ ข่าวปลอมสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงได้มากกว่าที่เราคิด และรู้หรือเปล่า ? การสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอม บางครั้งทำกันอย่างเป็นระบบ เทคนิคแพรวพราว ทั้งชักจูงทางจิตวิทยา ใช้ข้อความพาดหัวเร้าอารมณ์ดึงดูด เพื่อเพิ่มยอดอ่าน ยอดไลค์ ยอดแชร์ หวังผลแตกต่างกันไป ไม่สนไม่แคร์ว่าเรื่องนั้นจะจริงหรือเท็จถูกต้องหรือไม่
คนไทยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ วันละ 8 ชั่วโมง 44 นาที ส่วนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีคนไทยใช้งานมากที่สุดในปี 2020-2021 โดย 3 อันดับแรกคือ Youtube , Facebook และ Line ตามลำดับ วัน ๆ ได้รับข้อกันมูลมากมายผ่านช่องทางออนไลน์ แน่นอนอาจจะมีทั้งข้อมูลเท็จ หรือมีข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน หรือปราศจากข้อเท็จจริงเลยก็มี
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News Center Thailand ภายใต้การบริหารจัดการของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ให้ข้อมูลว่ามีข่าวที่ต้องเช็กว่าปลอมหรือไม่ วันละมากกว่า 1 ล้านเรื่อง ปีนึงกว่า 250 ล้านข่าว เยอะขนาดนี้มีกี่ข่าวที่เราหลงเชื่อหลงแชร์ไปแล้ว
คุณภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความรู้เรื่องหลุมพรางที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้โดยง่าย รวมทั้งใครสร้างมันขึ้นมา และทั้งคนสร้างข่าวปลอม คนแชร์โดยตั้งใจ หรือแชร์โดยรู้เท่าไม่ถึงการมีความผิดไหม และต้องทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม ดูคลิปเต็มที่ลิงค์ด้านล่าง และสามารถติดตามรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30 - 10.00 น. ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 และสปริงออนไลน์