จุดเริ่มต้นของ Pride Month ไม่ใช่การเฉลิมฉลองอย่างที่หลายคนไม่รู้ แต่มาจากความรุนแรง จราจลสโตนวอลล์อินน์ วันที่ชาว LGBTQ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อสิทธิ ความเสมอภาคและเสรีภาพของพวกเขาเอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก
จุดเริ่มต้นของ Pride Month หรือ เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ ทุกมิถุนายน กลุ่ม LGBTQทั่วโลก จะออกมาเดินขบวน จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้สังคม ตระหนักถึงคุณค่าและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วทำไมต้องเป็นมิถุนายน? แท้จริงไม่ใช่เรื่องที่น่ารื่นรมย์
เมื่อคำนิยามอัตลักษณ์ทางเพศ แค่ “ชาย” และ “หญิง” ไม่สามารถนิยาม “เพศ” ของแต่ละบุคคลได้ครอบคลุมอีกต่อไป
ย้อนกลับไปช่วง ปี 1960 เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายห้ามประชาชนแต่งตัวผิดกับเพศสภาพของตัวเอง ห้ามเปิดบาร์เกย์ มีการรังแก ลงโทษ กลุ่มLGBTQ เป็นประจำ ทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างหลบซ่อนและถูกกดดันจากสังคมเรื่อยมา
จนกระทั่ง28 มิถุนายน 1969 เกิดคืนประวัติศาสตร์ จนถูกขนานนามว่า "จลาจลสโตนวอลล์ อินน์" ตำรวจ 9 นาย บุกจับกุมผู้ใช้บริการใน บาร์เกย์ สโตนวอลล์อิน (Stonewall Inn) อ้างว่า ขายแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต บ้างก็ว่ามีการพยายามทำร้ายหนุ่มข้ามเพศโดยใช้กระบองฟาดที่หัว ส่งผลให้ผู้คนในบาร์ไม่สามารถ อดทน นิ่งดูดายได้อีกต่อไป
สิ่งที่พวกเขาทำกลับเกิดขึ้นแบบที่ไม่เคยกล้ามาก่อน ลุกฮือตอบโต้ตำรวจ ต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองและการเลือกปฏิบัติจากสังคม แม้ตามข้อมูลไม่ทราบรายงานบาดเจ็บ แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อท่าทีในการเรียกร้องสิทธิ์ของชาว LGBTQ+ ในอเมริกาและทั่วโลก
หลังจากนั้นเรื่อยมา ทั่วโลกจึงใช้เดือนมิถุนายน จัดกิจกรรมแสดงออกเรียกร้องความเท่าเทียมให้เห็นคุณค่าของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ปี 2016 อดีต ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศให้ บาร์ Stonewall Inn เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเกียรติให้แก่สิทธิ ของกลุ่ม LGBTQ
ปี 2019 เจมส์ พี. โอนีลล์ (James P. O'Neill) อธิบดีกรมตำรวจของ มหานครนิวยอร์ก ได้ออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการในนามกรมตำรวจนิวยอร์ก สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชนวนสำคัญที่ทำให้เกิด จลาจลสโตนวอลล์ อินน์
นิวยอร์ก เตรียมสร้างอนุสาวรีย์ของ 2 แกนนำหญิงข้ามเพศในเหตุการณ์ คือ มาร์ช่า พี จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) และ ซิลเวีย ริเวร่า (Sylvia Rivera) ซึ่งถือเป็นอนุสาวรีย์แรกของโลกเพื่อเป็นเกียรติแก่กลุ่มคนข้ามเพศ
แม้จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นจนถึงวันนี้จะไม่ได้ทำให้อคติที่สังคมมีต่อเพศทางเลือกหมดไป แต่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ชาว LGBTQ กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง กล้าเปิดเผยตัวตน ทำให้สังคมรับรู้ว่า ไม่ว่าจะเพศไหนเราไม่ได้ต่างกัน ทุกคนต้องการความรัก ความเข้าใจ การยอมรับ และกฏหมายขั้นพื้นฐาน ที่รองรับการใช้ชีวิตของพวกเขาเท่านั้นเอง แม้ไม่เข้าใจ แต่ขอให้เคารพซึ่งสิทธิของกันและกันเท่านั้นพอ