แม้เวทีประกวดสาวงาม Miss Tiffany 2020 จะประกวดจบไปแล้ว แต่สำหรับหน้าที่ของผู้ได้รับตำแหน่ง กำลังเริ่มต้นในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อเพศที่หลากหลาย และสิ่งที่พวกเธอต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือความ "เท่าเทียม" ที่วันนี้อยากจะส่งเสียงไปให้ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา
"ร็อคอยากปลูกฝังเรื่อง LGBTQ ตั้งแต่วัยเด็กค่ะ ร็อคเคยสงสัยมาตลอดนะคะว่าในหนังสือภาษาไทย มานะมานี ปิติชูใจ ทำไมถึง มีแค่เพศหญิงและเพศชาย ทำไมถึงไม่มีเพศอย่างพวกเรา"
"ดังนั้นร็อคมองว่าการแก้ไขปัญหาในวัยเด็ก ทำให้เด็กเติบโตมาเข้าใจทุกๆ เพศ และเราโตมาเราไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกร้องอะไรเลย เพราะเราไม่ต้องการให้ใครมาให้เกียรติเรา แต่เราต้องการปฏิบัติแบบไม่มีเงื่อนไข"
นี่แหละค่ะ…คือคำตอบของ ร็อค ขวัญลดา ผู้ปิดตำนานนางรองที่สามารถกลับมาคว้ามงกุฏ มิสทิฟฟานี่ 2020 (Miss Tiffany 2020) มาครองได้สำเร็จ ซึ่งคำตอบของเธอนั้นได้สะท้อนความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ ในสังคมไทย โดยนางงามสาวได้ตั้งคำถามจากตำราเรียน มานะ-มานี ทำไมถึงมีแค่เพียงเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
"คือหนูมองว่าในเรื่องของความเท่าเทียมเราต้องปลูกฝังกันตั้งแต่วัยเด็กเพราะว่าถ้าเราโตมาแต่ละคนก็จะมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป ถ้าเราปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก เด็กๆ ก็จะเข้าใจในสิ่งๆ นั้นแล้วพอเขาเติบโตมา เขาก็จะมองว่าเรื่องเพศมันเป็นเรื่องที่ปกติ
"ถ้าเราเพิ่มตัวละครไปเป็นอีกเพศนึงมันจะดูทำให้บทเรียนบทนั้นดูน่าสนใจและทำให้เด็กๆ ทุกคนเข้าใจว่าเพื่อนเขาที่เป็น LGBTQ ก็เป็นเรื่องปกติเพราะเราก็เห็นอยู่แล้วในหนังสือ คืออยากให้เรื่องของความเท่าเทียมมันอยู่ในบทเรียนเพราะว่าเราเติมโตมาจะได้เป็นเรื่องปกติในสังคม"
และถ้าพูดกันตรงๆ ในประเทศไทยในเรื่องของความเท่าเทียมที่กลุ่ม LGBTQ ยังคงต้องการนั้นคือการเปลี่ยนคำนำหน้า ที่ปัจจุบันแม้จะยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ร็อค ขวัญลดา บอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่า หากคุณภาพชีวิตของคนจะดีต้องเริ่มต้นจากระบบการเมืองที่ดี
"ถ้าระบบการเมืองดีทุกอย่างในประเทศระบบหลายๆ อย่างก็จะดีตามไปด้วย หนูมองว่ามันก็จำเป็นนะคะเพราะว่า เพราะว่าเราอยากเป็นผู้หญิงใช่ไหมคะ คำนำหน้ามันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในอนาคตอาจจะมีก็เป็นไปได้ค่ะ แต่ว่างคำนำหน้าอาจจะเปลี่ยนไป หนูมองว่ามันควรมีอะไรที่มันครอบคลุมให้มากกว่านี้มันยังมีความหละหลวมยังไม่ค่อยชัดเจน ถ้ามีกฎหมายหลายๆ อย่างอันที่รองรับประเทศไทยหนูว่าสังคมของเรามันน่าจะน่าอยู่มากยิ่งขึ้นค่ะ"
ส่วนสาวงาม "ตาล อภัสรา" รองชนะเลิศอันดับ 1 บอกกับทีมข่าวว่า หากพูดถึงความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ สิ่งที่เธอต้องการให้เกิดขึ้นคือเรื่องของกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ที่ทุกวันนี้ที่กฎหมายยังไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเสียงของพวกเราอาจจะยังดังไม่มากพอ เธอจึงอยากให้เสียงของเธอฝากบอกไปถึงผู้นำของประเทศ
"ก็อยากให้ท่านนะคะเล็งเห็นกลุ่ม LGBT พวกเราว่าพวกเราก็มีสิทธิและเสรีภาพเท่ากันทุกคน อยากให้มองว่าเป็นบุคคล บนผืนแผ่นดินที่อยู่ด้วยกันนะคะ ไม่อยากให้แบ่งว่าคุณเป็นผู้หญิง คุณเป็นผู้ชายตรงนี้แหละค่ะที่อยากจะสะท้อนให้เห็นค่ะ"
ขณะที่ "ลูกไม้ เมธาวี" รองชนะเลิศ อันดับ 2 สะท้อนในเรื่องความไม่เท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ชีวิตที่เจอกับตัวเอง โดยเธอว่า สังคมไทยมักจะพูดว่าเราเท่าเทียมกัน แต่จริงๆ แล้วมันกลับยังไม่เท่าเทียม
"ลูกไม้คิดว่าปัญหาที่ยังคงเป็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้จริงๆ แล้วก็คือการที่ทุกคนบอกว่าสังคมตอนเนี่ยเราเท่าเทียมกันแล้ว แต่ว่ามันเท่าเทียมอย่างที่แท้จริงเลยค่ะ ลูกไม้ขอยกตัวอย่างคุณครูของลูกไม้เองนะคะ ที่เป็นครูสอนนาฏศิลป์นะคะ"
คือเป็นครูเผ็นเพศทางเลือกแต่ว่าคุณครูยังต้องใส่ชุดผู้ชาย ใส่วิกผมสั้นมาสอนอยู่ทั้งที่ความจริงแล้วรูปลักษณ์ภายนอกเขาก็เป็นผู้หญิงแล้ว นี่แหละค่ะคือสิ่งที่ลูกไม้คิดว่ามันยังไม่เท่าเทียมอย่างที่แท้จริงอ่ะค่ะ"
ปิดท้ายสาวงามรุ่นพี่ "เอสม่อน กัญญ์วรา" เจ้าของตำแหน่ง มิสทิฟฟานี่ 2018 ที่ขอฝากข้อความไปถึงรัฐบาลแบบหนักๆ ว่ากลุ่ม LGBTQ รอมานานแล้วกับความเท่าเทียมที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงจะได้
"จริงๆ เรารอโอกาสนี้มานานมากค่ะ ถ้าเทียบกับรุ่นพี่ที่ต่อสู้กันมามันเกือบยี่สิบปีแล้ว ซึ่งเรารอจนเราไม่รู้ว่าความหวังเนี่ย มันจะมาให้เมื่อเมื่อไหร่ ซึ่งเราก็รอแล้วรออีกจนเรารู้สึกว่าเราๆ ใช้ชีวิตของเราทุกวันได้เป็นปกติโดยที่เราแบบไม่อยากไปแตะต้องกฎหมายเพราะว่ามันไม่ได้มาซัพพอร์ตอะไรเรา"
"จริงๆ อยากบอกให้มาลองรับรู้ถึงความรู้สึกเรา อยากให้มาลองเป็นตัวเรา ถ้าคุณไม่รู้เอง คุณไม่เคยเจอเองคุณก็จะไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันหนักหน่วงแค่ไหน รู้สึกว่ามันบั่นทอนจิตใจแค่ไหน ถ้าคุณมาฟังเรา มารับฟังเราสักนิดแล้วก็ค่อยกันช่วยกันแก้ปัญหาคนละครึ่งทางก็ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องเต็มแม็กซ์แต่ว่ามาช่วยกันคนละครึ่งทาง มาปรับความเข้าใจกันมาพูดคุยกันและก็สามารถขับเคลื่อนสังคมให้มันดูดีขึ้นและก็ยกระดับให้มันเท่าเทียมขึ้น"