สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) ครั้งที่ 26 (COP26) เมื่อช่วง 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ. 2608 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) ขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2593
“ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2560 แต่ความต้องการของตลาดในประเทศในเวลานั้น ยังไม่ค่อยเติบโตมากนัก ยังติดในเรื่องของราคาและสถานีชาร์ตพลังงาน ในขณะที่ตลาดต่างประเทศมีการส่งเสริมในหลายๆทาง ได้กลายเป็นแนวทางที่ผลักดันให้เกิดเทรนด์การผลิตในประเทศไทยในเวลาต่อมา” นายอุษิณ วิโรจน์เตชะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง นโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบนิเวศยานยนต์คาร์บอนต่ำ ในงาน Automotive Summit 2022 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งงาน Automotive Summit จัดเป็นส่วนหนึ่งของงาน Manufacturing Expo มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน 9 งานในมหกรรมเดียว ซึ่งจัดอยู่ในขณะนี้ถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ที่ไบเทค บางนา
ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์หลายรายที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและมีการจำหน่ายในประเทศบ้างแล้ว โดยการส่งเสริมจากภาครัฐ มีทั้งการลดภาษีนำเข้ายานยนต์สำเร็จรูป รถยนต์นั่ง และจักรยานยนต์ ลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับลดราคายานยนต์ไฟฟ้าให้ถูกลง เพื่อเป็นแรงจูงใจผู้บริโภคในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าไปใช้งาน และในส่วนของผู้บริโภคคือการลดอัตราภาษีจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า ที่หวังว่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันให้มากขึ้น
ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ที่ GWM นำเข้ามานั้น ได้ทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของคนไทย และสามารถทำยอดขายได้กว่า 8,200 คันแล้ว ซึ่ง GWM ได้กำหนดแนวทางการตลาดไว้ใน 3 ส่วนคือ
1) การขยายฐานธุรกิจจากเดิม ไปทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์
2) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานให้เหลือ 0% ภายในปีหน้า
3) ภายในปี พ.ศ. 2588 จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐ เพื่อจะเดินหน้าไปสู่โฉมใหม่ของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ไปพร้อมๆ กัน ทั้งการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ และการจัดตั้งซัพพลายเชนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ครบวงจร
สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น BMW ได้ส่งเสริมให้มีการติดตั้งสถานีในพื้นที่สาธารณะเป็นเจ้าแรก และคาดว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 จะมีสถานีประจุไฟฟ้าให้บริการมากกว่า 3,000 จุดเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้นเมื่อนโยบายกำหนดออกมา ภาครัฐได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนด้านการลงทุนแก่ภาคเอกชน ในรูปแบบของภาษี ทำให้เอกชนเกิดความมั่นใจ และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนนี้ สามารถดำเนินการออกมาได้เป็นรูปธรรมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ในส่วนของผู้บริโภคที่เป็นปลายน้ำ เมื่อภาครัฐสนับสนุนเรื่องภาษี ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลงกว่าที่เคยเป็น และความสะดวกสบายในการใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ ก็จะเป็นสิ่งจูงใจให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นในที่สุด
ผู้สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สามารถเข้าชมงาน Automotive Manufacturing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Manufacturing Expo ได้ที่ www.manufacturing-expo.com สอบถามโทร. 0 2686 7222