5 คำถาม ที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ต้องตอบ ปมปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมิน จนถูกยื่นฟ้อง และศาลฯ สั่งให้ทุเลาการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ก่อนที่ รฟม. จะยื่นอุทธรณ์ และล้มการประมูล อย่างมีเงื่อนงำ
มีแนวโน้มว่า จะกลายเป็นปมปัญหาระดับมหากาพย์ กรณีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ล่าสุด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นฟ้อง ผู้บริหาร รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่อยู่ในการกำกับดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. สังกัดกระทรวงการคมนาคม ได้ถูกนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะ รมว.การคมนาคม
แต่ถ้าให้ตัดเกรดแล้ว ก็ต้องขอบอกว่า หลายๆ ประเด็น นอกจากนายศักดิ์สยามจะชี้แจงได้ไม่เคลียร์ ยังก่อให้เกิดความฉงนสงสัยเพิ่มขึ้นไปอีก !
ซึ่งจากการที่สปริงเกาะติดปมรถไฟฟ้าอย่างติดหนึบ เห็นความพิสดารพันลึกต่างๆ มากมาย ที่ยิ่งเจาะยิ่งค้น ก็ยิ่งเกิดคำถาม และต่อไปนี้ คือ 5 คำถามที่นายศักดิ์สยามต้องตอบ เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคม
การเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม คือจุดเริ่มต้นแห่งปมปัญหา ซึ่งได้มีการเปิดให้เอกชนที่สนใจ ซื้อเอกสารการประมูล เมื่อวันที่ 10 - 24 กรกฎาคม 2563 และมีเอกชนซื้อเอกสาร 10 ราย เส้นทางสายเดือด ก่อนล้มประมูล ! “สามารถ” เปิดปมปัญหา รถไฟฟ้าสายสีส้ม
ต่อมาได้มีเอกชนรายหนึ่ง ยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็มีมติเห็นชอบ ทำให้ BTSC ซึ่งเป็น 1 ในเอกชนที่ซื้อเอกสารการประมูล เห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ต่อมา รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563
สิ่งที่สร้างความข้องใจให้กับสังคมก็คือ ในกรณีที่ประกาศหลักเกณฑ์ประเมิน และมีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ ไปแล้ว สามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังได้ด้วยหรือ ?
อีกทั้งการยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ ก็มีเพียงเอกชนรายเดียวเท่านั้นจากทั้งหมด 10 ราย จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความขัดแย้ง และถูกตั้งข้อสงสัยว่า จากศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ลุกลามไปยังการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยหรือไม่ ?
จากช่วงจังหวะเวลาระหว่างปัญหาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม กับปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สอดคล้องกันอย่างน่าฉงน ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มันเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ หรือ ? ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟสายสีเขียว ?
การพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นต้นสังกัด
โดยมีคำสั่ง คสช. ให้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ต่อมากระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัดของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ได้ส่งหนังสือขอความเห็นชอบ ในการต่อสัมปทานให้กับ BTS หรือ BTSC จากปี 2572 - 2602
วันที่ 24 ตุลาคม 2562 กระทรวงการคมนาคม ได้ส่งหนังสือแจ้งว่า เห็นชอบในการต่อสัมปทาน และได้ส่งหนังสือยืนยันว่าเห็นชอบ อีก 2 ครั้ง คือวันที่ 30 มีนาคม 2563 กับวันที่ 9 มิถุนายน 2563 รวมเป็นทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งลงชื่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.การคมนาคม
เรื่องกำลังจะเข้าสู่ ครม. จ่ออนุมัติอยู่รอมร่อ แต่แล้วจู่ๆ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงคมนาคม ก็มีข้อทักท้วง 4 ข้อ ประกอบด้วย
- การดำเนินการไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ
- อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป
- การขยายสัมปทาน อาจทำให้รัฐไม่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด
- ควรรอผลการตัดสินจาก ป.ป.ช. ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบย้อนหลัง
ข้อทักท้วงของกระทรวงการคมนาคม ถือว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราคา 65 บาท ที่สูงเกินไป แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง ทำไมกระทรวงคมนาคมจึงเห็นชอบมาโดยตลอด แต่กว่าจะมีข้อทักท้วง ก็ปาไปปีกว่าๆ นับจากได้รับหนังสือขอความคิดเห็นครั้งแรก ศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ! เปิด 4 ประเด็น คมนาคม ค้าน กทม. ต่อสัญญาสัมปทาน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากเส้นไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นของความข้อแย้งการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 หลังจากคณะกรรมการคัดเลือก ประกาศเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประเมินใหม่ ทำให้ BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง กระทั่งมีคำสั่งจากศาลให้ทุเลา และมีการยื่นอุทธรณ์ตามมา สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่
แต่การประมูลก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการประกาศให้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน โดยมีเอกชน 2 รายที่เข้าร่วมประมูล ได้แก่ BEM กับ BTSC
แต่พอถึงกำหนดวันเปิดซองประมูล ช่วงเดือนพฤศจิกายน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ของ รฟม. ก็ประกาศเลื่อนการเปิดซองออกมาไป ซึ่งเป็นจังหวะใกล้ๆ กับกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดของ รฟม. มีหนังสือทักท้วงการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTSC
จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า การทักท้วงที่เกิดขึ้น เป็นการเอาคืน กดดันให้คู่กรณีถอยจากศึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ ?
การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมา จะใช้หลักเกณฑ์ประเมินเดิมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการของ รฟม. เช่น โครงการสายสีเหลือง สายสีชมพู หรือ โครงการของ รฟท. เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ
โดยหลักการของเกณฑ์การประเมินเดิม จะพิจารณาทีละขั้นตอน รวม 3 ขั้นตอนคือ เริ่มจากคุณสมบัติ ถ้าผ่านก็จะไปเรื่องเทคนิค ถ้าผ่าน ก็จะเปิดซองราคา
แต่หลักเกณฑ์ใหม่ จะมีการพิจารณา 2 ขั้นตอน คือ เริ่มต้นจากการพิจารณาคุณสมบัติ ถ้าผ่านก็จะสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่พิจารณาเรื่องเทคนิค+ราคา โดยให้เปอร์เซ็นต์คะแนนเรื่องเทคนิค 30 % ส่วนเรื่องราคาให้ 70 % ใครได้คะแนนรวมสูงสุด ก็ชนะการประมูลไป
ซึ่ง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลว่า “อันที่จริง รฟม.เคยใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนมาก่อน (เกณฑ์ประเมินใหม่) แต่เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว
โดยใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากนั้น รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์นี้อีกเลย เพราะรู้ว่าเกณฑ์นี้ลดความสำคัญของข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน
“ดังนั้น ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อมา รฟม.จึงเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทน หากสอบตกก็จะไม่พิจารณาข้อเสนอผลตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อข้อเสนอด้านเทคนิคอย่างแท้จริง ทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง และให้ผลตอบแทนแก่ รฟม.สูงที่สุดด้วย
“แต่อะไรทำให้ รฟม. ต้องกลับไปใช้เกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน ดังเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีก ?” สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่
หลังจาก BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง และศาลฯ มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ก่อนที่ รฟม. จะยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องใช้หลักเกณฑ์การประเมินเดิม เพราะศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำตัดสินลงมา
และในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ก็มีเอกชน 2 ราย ยื่นซองประมูล ตามหมายกำหนดการ แต่พอใกล้ถึงวันเปิดซองประมูล 23 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ประกาศเลื่อนการเปิดซองออกไปอย่างไม่มีกำหนด สามารถ ถาม ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำไมไม่รอศาลฯ ตัดสิน ?
จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า การกระทำดังกล่าว ต้องการยื้อการประมูลออกไป ด้วยวัตถุประสงค์ใด ?
การแก้ปัญหาของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เข้าข่าย ยิ่งแก้กลับยิ่งเพิ่มปัญหา โดยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการการคัดเลือกฯ ได้ประกาศยกเลิกการเปิดซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มสร้างข้อกังขาให้กับสังคมเป็นอย่างมาก
เพราะเรื่องที่ รฟม. ยื่นอุทธรณ์ ก็ยังไม่ได้รับการตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด แต่จู่ๆ ก็ล้มการประมูลดื้อๆ โดยอ้างว่า เพื่อให้การประมูลดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการล้มการประมูลโครงการใหญ่ระดับหลักแสนล้านบาท และล่าสุด BTSC ได้ยื่นฟ้อง ผู้บริหาร รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลสรุปของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะลงเอยอย่างไร รวมถึงศักดิ์สยาม ในฐานะ รมว.การคมนาคม จะออกมาตอบคำถามเหล่านี้อย่างชัดๆ ให้สังคมได้หายข้องใจ...หรือไม่ ?
บทความและข่าวที่เกี่ยวข้อง
BTSC ฟ้อง รฟม.-บุคคลเกี่ยวข้องล้มประมูลสายสีส้ม
สามารถ ชี้ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประเมินเดิม ดีกว่าเกณฑ์ใหม่
เงื่อนปมที่ซับซ้อน ค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 ก่อน กทม.ประกาศถอย
สามารถ ถาม ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำไมไม่รอศาลฯ ตัดสิน ?
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว อัตราสูงสุดเท่าไหร่ ? อยู่ที่ 3 แนวทางนี้
เส้นทางสายเดือด ก่อนล้มประมูล ! “สามารถ” เปิดปมปัญหา รถไฟฟ้าสายสีส้ม
บังเอิญหรือไม่ ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับล้มประมูลสายสีส้ม ?
ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟสายสีเขียว ?
สรุปให้ "บีทีเอส" ทวงหนี้ "กทม." กว่า 3 หมื่นล้าน ให้ชำระภายใน 60 วัน
บีทีเอส ตอบทุกข้อสงสัย ปมดราม่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า อัตราใหม่ 104 บาท
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ ค่าตั๋วรถไฟฟ้า 104 บาท แพงเกินไป
ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำอย่างไรให้ถูกกว่า 65 บาท ?
ศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ! เปิด 4 ประเด็น คมนาคม ค้าน กทม. ต่อสัญญาสัมปทาน
กทม. VS คมนาคม สรุปปมปัญหา ค่ารถไฟฟ้าฯ พุ่งเป็น 104 บาท ?
เจาะลึก ตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว แพงเว่อร์ 104 บาท ปัญหาเกิดจากอะไร ?