“ศูนย์ข้าวชุมชนสามัคคีพันธุ์ข้าว ” ลุยยกระดับนวัตกรรม ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ และนำความรู้ทางด้านวิชาการ คิดค้นนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับใช้ในทุกกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์
นายประยูร แตงทรัพย์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนสามัคคีพันธุ์ข้าว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขากลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ประจำปี 2567 กล่าวถึง ศูนย์ข้าวชุมชนสามัคคีพันธุ์ข้าว ได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน ตั้งแต่ปี 2563 ถึง ปี 2565 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีชั้นพันธุ์ขยายจากกรมการข้าวเป็นหัวเชื้อในการผลิตเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มต่อเนื่อง 3 ปี โดยศูนย์ข้าวชุมชนแห่งนี้มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ และมีความพร้อมในการรับสนับสนุนยืมครุภัณฑ์ เครื่องอบลดความชื้นเมล็ดข้าวจากกรมการข้าวเพื่อไปเสริมศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของชุมชนให้มีคุณภาพ มีกำลังในการผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น
“การทำนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแตกต่างจากการทำนาทั่วไป เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว รับรองพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ตลอดจนการแปรสภาพเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และได้รับใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช (บรรจุภัณฑ์มีตราสัญลักษณ์) ตามสโลแกนของกลุ่ม “เมล็ดพันธุ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ไม่มีเมล็ดพันธุ์ปน”
ควบคู่กับการปลูกข้าวใช้แบบการตัดตอซัง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว โดยมีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวน้อยกว่าการปลูกข้าวแบบปกติ 20 - 25 วัน ผลผลิตอยู่ที่ 650 กิโลกรัม/ไร่ ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ และการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อแก้ปัญหาดินหล่ม เป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ทางศูนย์ยังได้นำความรู้ทางด้านวิชาการ คิดค้นนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับใช้ในทุกกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ เช่น การประดิษฐ์ เครื่องโรยกล้ากึ่งอัตโนมัติอีหอบ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปรับพื้นนาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ เครื่องลำเลียงถาดกล้าสำหรับเครื่องดำนา การปรับเพิ่มระยะปักดำ อุปกรณ์กำจัดวัชพืชในระยะกล้าและนำโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพของกลุ่มแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีราคาแพงพัฒนาระบบปลูกข้าวให้ได้คุณภาพและปริมาณ เพื่อต่อสู้กับตลาดค้าข้าวในอนาคตโดยใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต”
นายประยูร กล่าวว่า การทำเมล็ดพันธุ์ข้าว ราคาก็เป็นแรงจูงใจ รายได้จากการขายข้าวจะราคาสูงกว่าการขายข้าวทั่วไปในท้องตลาด เฉลี่ย 15%-20% แล้วในทุกๆ ปี ทางศูนย์มีการกำหนดและควบคุมแผนการผลิตร่วมกับ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ และภาคเอกชน คณะกรรมการมีความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีการทำบันทึกความตกลงกันว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดไหนให้กับพี่น้องชาวนาในชุมชนตามความต้องการในพื้นที่นั้นๆ และยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การบริหารส่วนตำบลยางขาว ทำโครงการ U2T 1 ตำบล 1 มหาลัย จัดทำผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำและปุ๋ยเกล็ด “ALLDee (ออล-ดี) ปุ๋ยเพื่อชุมชน” โดยมีเยาวชนในชุมชนเข้าร่วม ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน จัดหาปุ๋ย ให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยเบื้องต้น
โดยมีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ร่วมสร้างระบบในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ทุกด้าน จนได้ผลผลิตสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด มีระบบการจัดการรวบรวมผลผลิต และการบริหารผลผลิตส่วนที่เกินเป้าหมายของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ โดยทางกลุ่มจะรับซื้อผลผลิตของสมาชิกส่วนที่เกินมาบรรจุเพื่อจำหน่ายในนาม วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านยางขาว ตรากลุ่มสามัคคีพันธุ์ข้าวมีการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวแปรรูปผ่านช่องทาง Facebook และ Line group อีกด้วย