svasdssvasds

จับตา! 13 โครงการรัฐ 'ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10' กวาดงาน 7.2 พันล้าน

จับตา! 13 โครงการรัฐ 'ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10' กวาดงาน 7.2 พันล้าน

ตรวจเส้นทาง ‘ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10’ บริษัทจีนเครือรัฐวิสาหกิจ พัวพันตึก สตง.ถล่ม กวาดงานรัฐอีก 13 โครงการทั่วไทย

บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ถูกจับตาหลังตึก สตง. ถล่ม พบคว้างานรัฐอีก 13 โครงการ ครอบคลุม รพ. ศาล ทหาร รวมมูลค่า 7.2 พันล้าน

เหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ส่งผลให้ “อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)” ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงอย่างรุนแรง  อาคารแห่งนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ดำเนินการโดย "กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี" ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้าง ความโปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และบทบาทของบริษัทผู้รับเหมารายนี้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการภาครัฐอื่น ๆ อีกมากมาย

บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทลูกของ China Railway No.10 Engineering Group หนึ่งในรัฐวิสาหกิจจีนในเครือ China Railway Group Limited (CREC) ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้โมเดลทางธุรกิจแบบ "กิจการร่วมค้า" กับบริษัท เอกชนไทย เพื่อเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่หลายโครงการ
 

  •  

รายชื่อ 13 โครงการรัฐที่เกี่ยวข้อง

จากการสืบค้นข้อมูลภาครัฐและสื่อ พบว่า บริษัทนี้ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าในโครงการภาครัฐอย่างน้อย 13 โครงการ พบว่า “กิจการร่วมค้า” ที่มี “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” เริ่มจากประมูลงานรัฐขนาดกลาง วงเงินราว 100 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงงานขนาดใหญ่หลัก 300-500 ล้านบาท จนมาถึงงานระดับสัมปทานรัฐหลัก 1 พันล้านบาท

ตั้งแต่ปี 2562 - 2565 มูลค่ารวมกว่า 7,232 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่:

  • โครงการก่อสร้างอาคาร สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) มูลค่า 2,136 ล้านบาท (เป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบหลังเกิดเหตุอาคารถล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค. 2568)
  • ท่าอากาศยานนราธิวาส - อาคารที่พักผู้โดยสารและสิ่งก่อสร้างประกอบ (639 ล้านบาท)
  • โครงการเคหะชุมชนภูเก็ต - ทาวน์โฮม 354 หน่วย (343 ล้านบาท)
  • โรงเรียนวัดอมรินทราราม - อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้าง (160 ล้านบาท)
  • อาคารคลังพัสดุ รพ.จักรีนฤบดินทร์ (146 ล้านบาท)
  • หอพักนักศึกษา ม.ราชภัฏภูเก็ต (132 ล้านบาท)
  • ศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ (540 ล้านบาท)
  • ศูนย์ฝึกกีฬามวย กกท. หัวหมาก (608 ล้านบาท)
  • ที่พักข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 (386 ล้านบาท)
  • ศูนย์บริการลูกค้า การไฟฟ้าภูเก็ต (210 ล้านบาท)
  • อาคารกองบังคับการ กรมพลาธิการทหารเรือ (179 ล้านบาท)
  • สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) (716 ล้านบาท)
  • สถาบันวิชาการ กฟภ. (PEA Academy) (606 ล้านบาท)
  • อาคารผู้ป่วยนอก รพ.สงขลา  (426 ล้านบาท)
     

ข้อกังวลและการตรวจสอบ

  • นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  • รมว.มหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ดำเนินการสอบสวนควบคู่กัน โดยให้สรุปผลภายใน 7 วัน
  • ประชาชนและสื่อหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงวิธีการเข้าประมูลงานของบริษัท ซึ่งมักเข้าไปซื้อซองเอกสารแต่ไม่ยื่นเสนอราคาเอง และไปจับมือกับเอกชนไทยรายใหญ่เพื่อยื่นซองแทนในนาม "กิจการร่วมค้า"

แม้จะยังไม่มีการร้องเรียนในโครงการอื่นนอกจากตึก สตง. แต่เหตุการณ์ล่าสุดทำให้เกิดแรงกดดันให้มีการตรวจสอบเชิงลึกต่อบทบาทของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ทั้งในด้านโครงสร้างทุน ความโปร่งใสในการประมูลงาน และความปลอดภัยของโครงการที่ดำเนินการในไทย

related