เชฟรอน-SPRC และพันธมิตร มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดถ่ายภาพ Biodiversity Photo Competition ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายของแมลงประเทศไทยในป่าและสิ่งแวดล้อม ในพิธีเปิดวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจําปี 2567
นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, นางพรทิพย์ วีระพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กิจการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมและโครงการพิเศษ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) และ ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนากําลังคนสเตมเพื่ออนาคต มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดถ่ายภาพ Biodiversity Photo Competition ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายของแมลงประเทศไทยในป่าและสิ่งแวดล้อม (Exploring Thailand’s Insect Diversity: Photo Challenge)” ในพิธีเปิดงานวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจําปี 2567 จัดโดยสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างการตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และความสําคัญของแมลงในฐานะดัชนีชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศผ่านเลนส์กล้อง
สำหรับโครงการประกวดถ่ายภาพ Biodiversity Photo Competition จัดขึ้นเป็นปีแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย: Foster Future Forests” ที่ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอน) และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) พร้อมสานพลังพันธมิตร อันได้แก่ สมาคมส่งเสริมพัฒนากำลังคนสเตมเพื่ออนาคต (IAFSW), สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ONEP), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์แก่เยาวชนและประชาชนในวงกว้าง พร้อมชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 3,000 ผลงาน ภายใต้การแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ไปจนถึงระดับบุคคลทั่วไปสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
โดยผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะนำไปใช้ในการสร้างแพลตฟอร์มการจำแนกสิ่งมีชีวิต หรือ อนุกรมวิธาน (Taxonomy) ที่จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแมลงเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบ real-time เพื่อต่อยอดการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในเขตร้อนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานภาพและวิดีโอที่ได้รับรางวัลทั้งหมดได้ที่นี่: Award – Biodiversity (iafsw.org)