SHORT CUT
ส่องงบไตรมาสแรก ปี'68 ธนาคารพาณิชย์ไทย โชว์กำไรสุทธิ 3 เดือนแรก โกยฉ่ำๆ กรุงเทพฯนำโด่ง 1.26 หมื่นล้าน-TTB ไม่น้อยหน้า จับตา! KBANK-SCB แจ้งงบจันทร์นี้
อีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามองว่าจะเป็นธุรกิจที่ยังสามารถทำกำไรได้ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีโอกาสชะลอตัวแบบนี้ นั่นก็คือ ธนาคารพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้ในปี2567 ได้มีการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ทุกแบงก์มีกำไรที่ดีงามมาก และเชื่อว่ากำไรสุทธิ ในไตรมาสแรกปี’68 จะดีต่อเนื่องเช่นกัน วันนี้ #SPRiNG จะพามาส่องดูว่าแบงก์ไหนกำไร เท่าไหร่ และมีกำไรมาจากปัจจัยบวกอะไร ซึ่งขณะนี้หลายแบงก์เริ่มทยอยๆแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว และจับตา! 2 แบงก์ใหญ่ KBANK-SCB ที่แจ้งงบฯ ในวันจันทร์ 21 เมษายน 2568 นี้
มาเริ่มกันที่ ธนาคารกรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 12,618 ล้านบาท พร้อมวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2568 เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ภาคการผลิตยังคงเผชิญแรงกดดัน แม้ว่าการผลิตในกลุ่มยานยนต์จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ระดับการผลิตโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัว แม้จะได้รับแรงกดดันจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและค่าใช้จ่ายต่อหัว อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากสัญชาติอื่นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงภาคการท่องเที่ยวในภาพรวม ภาคการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แม้จะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่วนแรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับต่ำสะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้า
ของสหรัฐอเมริกา ความผันผวนของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจมีผลกระทบในระดับที่สำคัญต่อกำลังซื้อของประชาชนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
ธนาคารกรุงเทพ ตระหนักถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจ และเข้าใจถึงความไม่แน่นอนทางธุรกิจที่ต้องเผชิญอยู่ในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อก้าวทันโลกยุคดิจิทัล ธนาคารกรุงเทพพร้อมยืนเคียงข้างลูกค้าในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” จึงยังคงเน้นการให้คำปรึกษาและดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
พร้อมสนับสนุนลูกค้าให้ได้ประโยชน์จากโอกาสในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ รวมทั้งยังมุ่งมั่นให้บริการทางการเงินที่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งยึดมั่นแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย ได้รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 12,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 31,909 ล้านบาท
และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 2.89 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจากการอำนวยสินเชื่อและบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี ประกอบกับกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยธนาคารยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความสำคัญในการบริหารค่าใช้จ่าย ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 45.5 ทั้งนี้ ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 9,067 ล้านบาท
โดยธนาคารกรุงเทพ ยังคงแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,720,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 300.3 เป็นผลจากการที่ธนาคาร
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 3,225,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.4 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 21.0 ร้อยละ 16.5 และร้อยละ 15.8 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
มาต่อกันที่ กลุ่มทิสโก้ เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2568 กำไรสุทธิ 1,643 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากปีก่อน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ขณะที่สถานะการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยกลุ่มทิสโก้ และ ธนาคารทิสโก้ ได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรจาก ทริสเรทติ้ง เป็นระดับ “A” และ “A+”ตามลำดับ
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 เผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และเหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความตื่นตระหนกและกระทบต่อความเชื่อมั่น กดดันภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วให้อ่อนแอลงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเสี่ยงใหม่จากมาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2568 ทั้งนี้ ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะยังมีความท้าทายสูง คาดการณ์ว่า จะเติบโตเพียง 1.5-2% โดยขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาต่อรองอัตราภาษีกับสหรัฐฯ และผลกระทบข้างเคียงในภูมิภาค
และ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 838.1 ล้านบาท
• กำไรสุทธิ 838.1 ล้านบาท (+33.9% YoY)
• รายได้จากการดำเนินงาน 3,583.8 ล้านบาท (+2.2% YoY)
• รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 20.7% YoY
• รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 5.1% YoY
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงเหลือ 47.6% เทียบกับ 62.5% Q1/ 2024
ด้าน ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 รายงานกำไรสุทธิ 5,096 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 หนุนโดยการบริหารจัดการด้านต้นทุน ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย หนี้เสียอยู่ในระดับต่ำที่ 2.75% เป็นผลจากการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การบริหารหนี้เสียเชิงรุก รวมถึงการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืนผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วย
ส่วน ธนาคารกรุงไทย รายงาน กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวน 11,714 ล้านบาท เติบโตอย่างมีคุณภาพ สะท้อน S&P Global เพิ่มเรตติ้งเป็น BBB ดูแลคุณภาพสินทรัพย์ มุ่งช่วยลูกค้าแก้หนี้และปรับตัวอย่างยั่งยืน
ด้าน กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,533 ล้านบาท เติบโต 20.0% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2567 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว พร้อมบริหารต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ
เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 4.7% ท่ามกลางความท้าทายและปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งสินเชื่อเพื่อรายย่อยปรับตัวลดลงภายใต้บริบทที่ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยกรุงศรียังคงให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ด้วยมาตรการสนับสนุนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทายผ่านมาตรการช่วยเหลือที่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย”
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสแรกของปี 2568:
• กำไรสุทธิ จำนวน 7,533 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้น 20.0% หรือจำนวน 1,257 ล้านบาท จากไตรมาสที่สี่ของปี 2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากยุทธศาสตร์ของกรุงศรีในปี 2568 ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ กำไรสุทธิทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
• เงินให้สินเชื่อรวม ทรงตัวจากสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ท่ามกลางความท้าทายและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จากการดำเนินงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 4.7% หรือจำนวน 30,904 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งสินเชื่อเพื่อรายย่อยปรับตัวลดลง 2.4% และ 2.5% ตามลำดับ
• เงินรับฝาก เพิ่มขึ้นที่ 0.9% หรือจำนวน 16,753 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2567 จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเงินรับฝากที่มีต้นทุนต่ำ ประกอบด้วยเงินรับฝากประจำที่มีอายุน้อยกว่าหกเดือนและ
เงินรับฝากออมทรัพย์ สุทธิด้วยการลดลงของเงินรับฝากประจำที่ต้นทุนสูงกว่าและระยะเวลานานกว่า สะท้อนการบริหารสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินเชิงรุกและรอบคอบระมัดระวัง
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.1% เพิ่มขึ้น 7 เบสิสพอยท์จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากต้นทุนเงินรับฝากที่ลดลง สะท้อนการบริหารต้นทุนทางการเงินเชิงรุก ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างและระยะเวลาของเงินรับฝากอย่างมีประสิทธิภาพ
• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 5.4% หรือ 607 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2567 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืน กําไรจากทรัพย์สินรอการขายและเงินปันผล
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นที่ 45.7% เทียบกับ 46.5% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานของธนาคาร
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ที่ 3.29% ขณะที่อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 211 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2568 เมื่อเทียบกับ 234 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับ 124.5%
• อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 19.14% เทียบกับ 19.38% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตตามเป้าหมายเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการสินเชื่อเพื่อการดำเนินงานและการลงทุน สะท้อนคุณภาพการเติบโตในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว
“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในภาคการผลิต รวมถึงปัญหาการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังไทย ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี”
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.90 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.84 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.63 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 317.50 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 19.14% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 14.91%
ปิดท้ายที่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผย ผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1/2568 กลุ่มบริษัทเคทีซีมีกำไรสุทธิ 1,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2 % และรายได้รวม อยู่ที่ 6,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% (YoY) จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ รายได้ค่าธรรมเนียมด้านร้านค้า รายได้จากการเบิกถอนเงินสดและรายได้ค่าธรรมเนียม Interchange
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด 3 รายชื่อทุนใหญ่ชิงไลเซนส์ Virtual Bank - แบงก์ชาติ เคาะแล้ว
แบงก์ไทยพร้อมใจพาเหรด “ลดดอกเบี้ย” เงินกู้สูง 0.25% ต่อปี ช่วยลูกค้า-SMEs
ด่วน! 'แบงก์ชาติ' ประกาศลดดอกเบี้ยจาก 2.25 เหลือ 2.00% มีผลทันที