SHORT CUT
4 ผู้นำหญิงผนึกกำลัง สร้างโอกาส-ความหวัง กระตุ้นไทยพร้อมรับมือสถานการณ์โลก หวังไทยสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ดี
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Dinner Talk : Go Thailand 2025 Women Run the World พลังหญิงเปลี่ยนโลก จัดโดยฐานเศรษฐกิจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีรัฐมนตรีหญิงถึง 8 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสและมอบหมายให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย และขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีหญิงทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับในสายตาของประชาชน
“จากการมอบหมายหน้าที่นี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของสตรีไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม สตรีไทยก็สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติและประชาชน” นางมนพร กล่าว
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม ภายใต้รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวิสัยทัศน์ที่ว่า Mega Project Mega Power พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธารชินวัตร ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยรัฐบาลมีนโยบายในการเดินหน้าการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Project) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและพลิกโฉมให้กับประเทศไทยผ่านการลงทุนทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างเป็นระบบ
นางมนพร กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ข้อได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลางของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของคน และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า
“หากเราทำการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมได้ จะทำให้ประชาชนทั่วโลกที่เดินทางมาในภูมิภาคอาเซียนจะเดินทางมาประเทศไทยก่อน แล้วต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังประเทศจุดหมายปลายทาง หรือสินค้าต่าง ๆ ที่จะขนส่งมายังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคก็ต้องขนส่งมาที่ประเทศไทยก่อนที่จะกระจายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ โดยรอบ ผ่านระบบโครงข่ายคมนาคมที่ดีของไทยเรา” นางมนพร กล่าว
ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบันมาจากภาคการท่องเที่ยว จากสถิติที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 35.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับปีที่แล้ว และนำรายได้เข้าประเทศกว่า 1.67 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงานทั้งหมดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ทุกกระทรวงต้องร่วมมือกัน
สำหรับในปีนี้ ปี 2568 ประเทศไทยครองตำแหน่ง Destination of the Year 2025 โดยได้รับตำแหน่งติดต่อกันมาแล้ว 10 ปี ประเทศไทยจึงถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต
อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้มุ่งหน้าขับเคลื่อนโครงข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญขนาดใหญ่ ประเทศไทยเองมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์บนเส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศที่สำคัญ
นายมนพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลับไม่มีท่าเทียบเรือในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โดยเฉพาะโดยต้องแบ่งใช้พื้นที่บางส่วนในท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเกาะสมุย และท่าเรือภูเก็ต ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางกระทรวงคมนาคม ได้มีแผนการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1. ท่าเรือสำราญบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา 2. ท่าเรือสำราญภูเก็ต และ 3. ท่าเรือสำราญเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหลังจากที่ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งเปิดให้บริการจะส่งผลให้มีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่แวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น สร้างเม็ดเงินและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สำคัญที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลนี้ คือ การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ในจังหวัดชุมพรและระนอง ที่เชื่อมต่อระบบราง เพื่อให้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลเส้นทางใหม่ของโลก ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 15% - 20% และลดระยะเวลาในการขนส่งทางทะเลได้ประมาณ 4 - 5 วัน โครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งใหม่ของภูมิภาคและของโลก
ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศนั้น จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ในปี 2575 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้โดยสาร เดินทางมายังประเทศไทยทางเครื่องบินถึง 240 ล้านคน
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหลักให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 โดยจะทำการขยายอาคารผู้โดยสารหลักปัจจุบันด้านทิศตะวันออก
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ด้านทิศใต้ และทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา วงเงินลงทุน 170,000 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ปัจจุบันทอท. ได้กำหนดแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแห่งใหม่และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม วงเงินลงทุน 36,830 ล้านบาท
นางมนพร กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนพัฒนาระบบคมนาคม และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ
อย่างไรก็ตามเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างโอกาสให้กับประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ สร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการลงทุนที่ดี สร้างโอกาสให้กับประชาชน สร้างการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษในงานดินเนอร์ทอล์ค “GO THAILAND 2025" จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “Global Markets : เกษตรไทยผงาดตลาดโลก” ใจความสำคัญระบุว่า
สำหรับในภาคการเกษตร แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีความสมบูรณ์มากพอที่จะมีความมั่นคงอาหารของประเทศ เท่านั้นยังไม่พอเรายังมีเหลือส่งไปออกให้ชาวโลกให้เกิดความมั่นคงทางอาหารด้วย เพราะฉะนั้นในเวทีโลกได้ให้ความสำคัญของภาคการเกษตรของไทย เห็นได้จากจากองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวกับเรื่องของอาหารและการเกษตรมาตั้งสำนักงานสาขาภูมิภาคประจำประเทศไทยครบหมดแล้ว
ทั้งนี้สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในเวทีโลก ในปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก และจากสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ปี 2565 -2567) อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ยังไม่รวมแปรรูปอาหาร) ขณะที่การนำเข้าสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี
โดยเฉพาะในปี 2567 ไทย มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 2.5 ล้านล้านบาท มีมูลค่าการส่งออก 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นว่า ไทยยังมีศักยภาพและโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบาทของไทยที่มีในตลาดโลก โดยมีประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ทั้งนี้สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกของไทยในปี 2567 รวมมูลค่า 689,409 ล้านบาท ได้แก่ 1.ข้าว มูลค่า 199,666 ล้านบาท อันดับ 2 เนื้อไก่ มูลค่า 147,980 ล้านบาท อันดับ 3.ทุเรียน มูลค่า 134,847 ล้านบาท อันดับ 4 ยางพารา มูลค่า 112,571 ล้านบาท ซึ่งในพืชชนิดนี้ช่วยทำให้เพิ่มหมุนเวียนในเศรษฐกิจมูลค่านับแสนล้านบาทในปีที่แล้ว โดยไม่ใช้เงินรัฐบาลอุดหนุนรัฐ อันดับ 5 มะพร้าว มูลค่า 21,892 ล้านบาท อันดับ 6 มังคุด มูลค่า 17,573 ล้านบาท และอันดับ 7 มะม่วง มูลค่า 5,692 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยผงาดในตลาดโลก อยู่ในอันดับที่ 15 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว
นับจากนี้ไปทางกระทรวงจะมุ่งเน้นนโยบายใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ High Value Agriculture เกษตรมูลค่าสูง (มิติเศรษฐกิจ+สังคม) โดยใช้แนวคิดตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งผลักดันในเรื่องของการทำเกษตรมูลค่าสูง โดย เพิ่ม Productivity ในการผลิตค้าเกษตร เน้นส่งเสริมพันธุ์ดี ดินดีและกระจายน้ำให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแม่นยำ (Agricultural Precision Farming) ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร (Agri - Tech) ในการผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด และมีตลาตรองรับอยู่แล้ว เน้นผลิตน้อย ได้มาก
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการส่งเสริมการทำนาข้าวโดยนำเทคโนโลยีจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) จำนวน 10 ล้านไร่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 30 เร่งยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ผลักตันให้เกษตรกร/ กลุ่มเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรในพื้นที่ สร้าง Brand หรือ Story ของตนเองและผลักดันสินค้าเกษตรให้เป็น Soft Power ที่สำคัญต้องช่วยกันทำให้สินค้าเกษตรไทยดังไกลไปทั่วโลก ซึ่งในส่วนนี้จะใช้ช่องทางความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ในประเทศ อาทิ กาแฟ ถั่วเหลือง โกโก้ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้าง Reskill & Upskill เพื่อสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ไห้กับ เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า Go Thailand 2025: Women Run the World” ภายใต้แนวคิด “พลังหญิงเปลี่ยนโลก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โชคดีที่เป็นผู้หญิงในประเทศไทย เพราะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงความสามารถที่โดดเด่นออกมา
โดยปีนี้ถือเป็นปีแห่งความท้าทาย ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมาย เราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง โดยต่างประเทศย้ายการลงทุนเข้ามาในไทย แสดงให้เห็นว่าเชื่อมั่นศักยภาพการเติบโตของไทย
สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ 3 สร้าง ประกอบสร้างคน สร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล มายด์เซ็ต และความคิดสร้างสรรค์ สร้างสู้ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างโอกาส สร้างความสัมพันธ์ สร้างการเชื่อมต่อ สร้างอีโคซิสเต็มขึ้นมา
นางสาวจรีพร กล่าวต่อไปว่า การเติบโตของ WHA Group ช่วง 21 ปีที่ผ่านมา WHA เติบโตจากวิชั่น และมีการวางยุทธศาสตร์ธุรกิจสอดคล้องไปกับ เมกะเทรนด์ของโลก , ภูมิรัฐศาสตร์ และความยั่งยืน
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด กล่าวในงานสัมนา GO THAILAND 2025 หัวข้อเรื่อง “Tech for inclusive growth : AI แก้ความเหลื่อมล้ำ“ ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ความเหลื่อมล้ำยังสูงมาก หากมองว่าคนรวย 10% ของประเทศเรา มีรายได้โดยรวมเกินครึ่งของจีดีพีทั้งปีของประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันค่อนข้างมากเท่านี้ แสดงให้เห็นว่ามันมีความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย
สำหรับความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้น ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ มองว่ามีอยู่ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพการผลิตของเราตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด โดยศักยภาพการผลิต ณ วันนี้ต่ำกว่า 7 ปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
“ตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่า เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ลงทุนด้านแรงงานมากกว่าด้านเทคโนโลยี ขณะที่ธุรกิจใหญ่มีต้นทุนในการลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขยายศักยภาพของธุรกิจ ฉะนั้น ความมั่งคั่งจึงยิ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนายทุนเพียงหยิบมือเดียว ทำให้ความเจริญไม่กระจายไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้”
2. ศักยภาพ ทักษะของแรงงาน ไม่ตอบโทย์การจ้างงานอีกต่อไป โดยตัวเลขที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อเราจบปริญญาตรี และเทียบคนที่จบมัธยมปลายนั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่จบมัธยมปลาย 3 เท่า ขณะที่ปัจจุบันตัวเลขลดลง อยู่ต่ำกว่า 2% สวนทางกับประชาคมโลกอย่างมีนัยะสำคัญ
และ 3. การเข้าถึงโอกาสทางด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า 45% ของเศรษฐกิจไทยอยู่นอกระบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถมองเห็นรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจ ฉะนั้น กลุ่มคนทำงานที่มีรายได้เป็นเงินสดแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และหันไปพึ่งหาหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ พบว่า 42% ของครัวเรือนไทยยังต้องกู้หนี้นอกระบบอยู่ ซึ่งขนาดหนี้นอกระบบของเมืองไทยมีอยู่ตั้งแต่ 80,000 ล้านบาท จนถึง 2 ล้านล้านบาท ฉะนั้น โอกาสในการเข้าถึงหนี้ในระบบได้จะเป็นตัวช่วยปลดล็อคปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม วันนี้เริ่มมีความหวัง เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างจริงจัง โดยศักยภาพของเอสเอ็มอีสามารถนำเอไอมาใช้ได้ ขณะที่สิงคโปร์เริ่มมีมาตรการลดต้นทุนการใช้เอไอเพื่อนำมาใช้พัฒนาเอสเอ็มอีขนาดเล็กมีต้นทุนที่ต่ำ และเติบโตไปได้
ขณะที่ในด้านการเพิ่มทักษะแรงงาน การรีสกิล อัพสกิล สามารถเข้าไปในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หาความรู้ทางด้านออนไลน์ ดิจิทัลได้
ด้านโอกาสทางการเงินนั้น พิสูจน์แล้วว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลเลนนิ่งสามารถช่วยนำคนจากนอกระบบเข้ามากู้เงินในระบบได้อย่างมีนัยะสำคัญ จากเดิมธนาคารอาจจะใช้ตัวแปร 20-25 ตัว แต่ขณะนี้ใช้ข้อมูลในการปล่อยกู้ประกอบ 1,000-2,000 ตัว จากเดิมใช้ระยะเวลาในการอนุมัติ 1 สัปดาห์ในการปล่อยสินเชื่อ และตอนนี้เพียง 2 นาทีก็สามารถอนุมัติสินเชื่อได้แล้ว
“เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถลดปัญหาเชิงโครงสร้างได้ แต่ใช่ว่าเทคโนโลยีทุกอย่างจะนำมาแชร์กัน และทุกคนจะได้ประโยชน์ทุกกลุ่มในสังคม เราพบว่า จริงแล้วเทคโนโลยีที่โตก้าวกระโดดอาจมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกด้านหนึ่ง เช่น ผู้ที่มีความรู้ไม่เพียงพอ ไม่เข้าใจ อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกผลักออกไป”
ทั้งนี้ ในด้านภาครัฐนั้น จำเป็นจะต้องทำความชัดเจนด้านนโยบาย และดิจิทัลอินฟราซัคเจอร์ที่จะเข้าถึงได้ และมีต้นทุนที่ราคาถูก รวมไปถึงการแข่งขันที่เป็นธรรม
ขณะเดียวกัน ขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรีสกิล และส่งมาตรการทางด้านเศรษฐกิจลงไปถึงคนในทุกระดับ ฉะนั้น ขอให้บริการเหล่านี้ ต้องส่งเสริมให้คนเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของเขาก่อน และจะต้องให้บริการอย่างทั่วถึง ทั้งคนพิการ ชายขอบ คนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
นอกจากนี้ ฝากถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องทักษะเพียงอย่างเดียว โดยการที่จะเป็นผู้สร้างได้นั้นความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากต้องการมีประชากรที่มีศักยภาพขอให้สร้างพื้นฐานทางสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับเล็ก ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย