SHORT CUT
ถอดรหัส "พิธีสาบานตน" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เชิดชูรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ตอกย้ำ "อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" พิธีตามกฎหมายเปลี่ยนผ่านอำนาจประมุขชาติมหาอำนาจเสรีนิยม มีรากเหง้ามาจากคติพื้นฐานของชาติ
"ข้าพเจ้าขอให้คำสาบานอย่างจริงจังว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างซื่อสัตย์ และจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อปกปักรักษา คุ้มครอง และปกป้องรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ"
ถ้อยคำที่เรียบง่ายข้างต้นทรงพลังอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะคือถ้อยคำในมาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่ระบุให้ว่าที่ประธานาธิบดีต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณก่อนจะรับตำแหน่งผู้นำชาติมหาอำนาจอย่างเป็นทางการ เป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายเทอำนาจประมุขของรัฐมาสู่บุคคลที่ได้รับการไว้วางใจจากประชาชนมาจากการเลือกตั้ง
นี่เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า "รัฐธรรมนูญ" อันเป็นกฎหมายสูงสุด คือสิ่งหลักที่ทุกคนต้องยึดถือ ปกป้อง และรักษาไว้ ซึ่งเจนจำนงของรัฐประชาธิปไตย อันให้คุณค่าต่อประชาชน สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค เข้มแข็งแต่ถูกควบคุมถ่วงดุลอำนาจด้วย "ระบบ" ที่ออกแบบมาให้เกิดการ Check&Balance
"นี่คือช่วงเวลาที่ผู้นำที่มาจากฉันทามติของประชาชน จะให้สัญญาว่าจะยึดมั่นรักษารัฐธรรมนูญ เป็นช่วงเวลาแห่งการยืนยันว่าพวกเราพร้อมจะเป็นผู้ปกครองของประเทศ"
พิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มักถูกจัดขึ้นที่อาคารรัฐสภา อันเป็นศูนย์รวมของผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง พิธีรีตรองต่างๆ ถูกจัดทำอย่างเรียบง่ายเพื่อให้ตอกย้ำว่า ผู้ที่กำลังเข้ามาสวมหมวกผู้นำประเทศไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ต้น แต่มีอำนาจได้จากการที่ประชาชนให้ความเห็นชอบเลือกเข้ามาทำหน้าที่แทน
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีช่วงเวลาปกติที่ชัดเจนคือ 4 ปี (หากไม่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นก่อน) ผู้นำคนเก่าจะหมดวาระในเวลา 12:00 น.ของวันที่ 20 มกราคม และผู้นำคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งทันทีในเวลาหลังเที่ยงของวันที่ 20 มกราคม เพราะรัฐจะขาดประมุขไปมิได้ นี่เป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในวันดังกล่าวยังเป็น "วันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์" วันหยุดของรัฐบาลกลางเพื่อรำลึกถึงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักเคลื่อนไหวสันติวิธีในขบวนการสิทธิพลเมือง เรียกร้องความเท่าเทียม ยุติการปฏิบัติทางเชื้อชาติ นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายลดการเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ ผู้ที่ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม มีเสรีภาพในการแสดงออก และเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย
พิธีสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญ มักมีในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและมีประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง (มีประธานาธิบดี) เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย หรือเกาหลีใต้ และมักเชิดชู "รัฐธรรมนูญ" เป็นหัวใจหลักที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ให้ได้ และไม่หลงลืมไปว่าผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศคือ "ประชาชน"