“สำหรับหนุ่มสาวทุกคนที่แสวงหา ‘ชีวิตที่ดี’ อันเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความหมาย จิมมี คาเตอร์ คือชายคนนั้น บุรุษผู้ยึดมั่นในหลัการ เปี่ยมศรัทธา และเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์” โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวไว้อาลัยถึง จิมมี คาเตอร์
ในวันนี้ (30 ธันวาคม พ.ศ. 2567) จิมมี คาเตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เสียชีวิตแล้วจากโรคมะเร็งสมอง ที่บ้านพักของตัวเอง ด้วยวัย 100 ปี
ถึงแม้นักวิจารณ์บางคนจะขยานนามเขาว่า ‘ผู้นำที่น่าผิดหวัง’ แต่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่านี่คือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และต่างโค้งคารวะต่อสิ่งที่เขาทำมาตลอดชั่วชีวิต โดยเฉพาะในฐานะ ‘ผู้สร้างสันติภาพ’ ให้แก่โลกใบนี้
SPRiNG ชวนย้อนอ่านเรื่องราวที่เปรียบดั่งเหรียญสองด้านของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ จากผู้นำที่น่าผิดหวังสู่เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ทำให้โลกนี้มีความหวังขึ้นด้วยความตั้งใจและสองมือของตัวเอง
เจมส์ เอิร์ล คาร์เตอร์ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2467 ในเมืองเพลนส์ รัฐจอร์เจีย ชีวิตวัยเด็กของเขาเรียบง่ายไม่ต่างจากชื่อเมืองที่อาศัย เขาเติบโตในไร่ถั่วลิสงที่ครอบครัวปลูกเอาไว้ อยู่ในบ้านที่ไฟฟ้าและน้ำประปรยังเข้าไม่ถึง เรียนรู้การทำงานหนัก และซึมซับศาสนาเป็นแก่นกลางของชีวิต
เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนทหารเรือ ก่อนกลับมาบ้านและพบกับเพื่อนของน้องสาว โรซาลินน์ สมิธ (Rosalynn Smith) เด็กสาวผู้อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันภายหลังคาเตอร์เรียนจบ และใช้ชีวิตร่วมกันตลอด 77 ปี ผ่านทั้งช่วงเวลาที่แสนดีและยากลำบาก ทั้งในฐานะผู้บริหารธุรกิจไร่ถั่วลิสงของครอบครัว และประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
เมื่ออายุได้ 38 ปี คาเตอร์ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกรัฐจอร์เจียเป็นครั้งแรก และดำเนินนโยบายปราบปรามการคอรัปชั่น พัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน และยืนหยัดในหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิเสธเข้าร่วมสมาคมคนผิวขาวในท้องถิ่น เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวที่ฝังรากลึกในภาคใต้ของอเมริกา
เมื่อสบโอกาสเข้าสู่การเมืองระดับชาติ คาเตอร์ประกาศแนวทาง “ปฏิรูประบบอันเลวร้าย” พาอเมริกาสู่ยุคใหม่ หลังความฉอกช้ำของประชาชนในสงครามเวียดนามและคดีวอเตอร์เกต เขาเอาชนะใจคนอเมริกันและได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 ของอเมริกา
ภาพจำของสังคมอเมริกันต่อยุคสมัยของคาเตอร์คือ ความสับสน วุ่นวาย และน่าผิดหวัง เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2520 ถึง 20 มกราคม พ.ศ. 2544 และถึงแม้จะได้รับคำชมว่าเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและจริยธรรม แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านการแก้ปัญหาเศรฐกิจ
คาเตอร์ไม่สามารถคุมเสียงในรัฐสภา และไม่สามารถพาอเมริกาออกจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับเงินเฟ้ออย่างรุนแรง อัตราว่างงานสูง และยังเผชิญกับวิกฤตพลังงาน ถึงแม้เขาจะพยายามแก้ไขด้วยการสนับสนุนพลังงานสะอาด และตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นในประเทศเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ภาพจำสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีของคาเตอร์คือ ความล้มเหลวในการแก้วิกฤตตัวประกันอิหร่านใน พ.ศ. 2522 เมื่อนักศึกษาชาวอิหร่านบุกเข้าไปจับตัวประกัน 52 คนในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตะหะราน เพื่อเรียกร้องให้มีการส่งตัว ชาห์ ปาห์เลวี อดีตกษัตริย์ที่ลี้ภัยในอเมริกากลับสู่อิหร่าน
นอกจากความล้มเหลวในการเจรจาทางการทูต เขายังผิดพลาดในการสั่งปฏิบัติการ Eagle Claw ที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ของทหารชนเข้ากับเครื่องบิน จนทำให้มีทหารเสียชีวิต 8 ราย
สุดท้ายเหตุการณ์ดังกล่าวยืดเยื้ออกไปพ้นสมัยของเขา ตัวประกันถูกจับตัวยาวนานถึง 444 วัน และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านยาวนานมาถึงปัจจุบัน
การบริหารที่ล้มเหลวทำให้เขาไม่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อ ปิดฉากเส้นทางการเมืองระดับประเทศของ จิมมี คาเตอร์ และเปิดเส้นทางใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิคาเตอร์เซ็นเตอร์ (The Carter Center)
ภายหลังที่คาเตอร์แพ้แก่ โรนัลด์ เรแกน ในการเลือกตั้งในปี 1981 เขาเดินทางกลับบ้านในเมืองเพนส์ ก่อนตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิคาร์เตอร์ร่วมกับภรรยาในปีต่อมา
มูลนิธิคาเตอร์ได้ทำงานอย่างแข็งขันในการสร้างสันติภาพและสนับสนุนประชาธิปไตย ทั้งสังเกตุการณ์เลือกตั้งที่เกิดขึ้นใน เมียนมา, โบลิเวีย, เนปาล หรือตูนิเซีย ร่วมกับทีมงานและอาสาสมัครสร้างบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ รวมถึงทำงานด้านสาธารณสุขจนสามารถทำให้มีผู้ป่วยโรคพยาธิกีเนียลดลงจาก 3.5 ล้านคนเหลือเพียง 13 คนใน พ.ศ. 2565
เขายังคงหนักแน่นและเชื่อมั่นในการสร้างสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2537 เขาได้รับเชิญจากเกาหลีเหนือ ให้เป็นตัวแทนเจรจาทางการทูตเพื่อยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การเจรจาดังกล่าวนำไปสู่ข้อตกลงเจนีวา และได้รับคำชื่นชมในฐานะการช่วยลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
“พวกเรามักพูดว่าสงครามคือความชั่วร้ายที่จำเป็น แต่ไม่ว่ามันจำเป็นแค่ไหน ความชั่วร้ายของมันก็ยังดังเดิม ไม่มีวันดีขึ้น เราไม่มีวันเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยการสังหารลูกของคนอื่น” คาเตอร์กล่าวตอนรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี พ.ศ. 2545
ถึงแม้คาเตอร์อาจไม่ใช่ประธานาธิบดีที่อยู่ในหัวใจของใครหลายคน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาทำ ช่วยชีวิตคนจำนวนมากเอาไว้และทำให้หลายครอบครัวยังได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา
SPRiNG ขอคารวะให้แก่ดวงวิญญาณของที่จากไปของ จิมมี คาเตอร์ และขออวยพรให้เขาเดินทางปลอดภัยสู่อ้อมกอดของ โรซาลินน์ คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมาตลอด 77 ปี