svasdssvasds

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก ผู้สร้างปรากฏการณ์ทั้งสนามการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น

SHORT CUT

  • ทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรคภูมิใจไทย ต่างใช้ “ฐานคะแนนจัดตั้ง” เป็นอาวุธสำคัญในการช่วงชิงอำนาจ สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองรูปแบบนี้ ยังคงมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งสนาม อบจ.
  • เลือกตั้ง อบจ. จึงเป็นเหมือน การซ้อมรบ ก่อนการเลือกตั้ง สส. โดยผู้ชนะในสนามนี้ จะได้เปรียบในการช่วงชิงอำนาจ ในเกมการเมืองระดับชาติต่อไป
  • การต่อสู้ของ “บ้านใหญ่” คนละค่าย ระหว่างพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการนำพรรคกลับมายิ่งใหญ่ กับ พรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการขยายฐานอำนาจ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองไทยในอนาคตเป็นการสั่นสะเทือนปราจีนครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของทักษิณ ไม่ได้มีเป้าหมายคือปราบตระกูลวิลาวัลย์แต่อาจทำให้สะเทือนถึงภูมิใจไทยนั่นเอง

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก ผู้สร้างปรากฏการณ์ทั้งสนามการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น

เมื่อพูดถึงปราจีนบุรี ใครๆ มักจะนึกถึงตระกูล “วิลาวัลย์” และนักการเมืองเจ้าถิ่นที่ฝังรากมานานอย่าง “สุนทร วิลาวัลย์” หรือ “โกทร” จนใครๆ ก็คิดว่าเขาคือนักการเมืองที่ผูกขาดจังหวัดปราจีนบุรีมาอย่างยาวนานจนยากที่ใครจะเข้าไปแทรกพื้นที่ทางการเมืองได้

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

แต่หากนับตั้งแต่อดีต ปรากฏกลุ่มก้อนหรือนักการเมืองที่มีชื่อเสียงมากมายที่เติบโตมาจากปราจีนบุรี ไม่ว่าจะเป็น ทองเปลว ชลภูมิ, บุญส่ง สมใจ, เสนาะ เทียนทอง หรือ ตระกูล ภุมมะกาญจนะ ที่มีบทบาทมาก่อนตระกูล วิลาวัลย์ ด้วยซ้ำไป

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ตำนาน “ทองเปลว ชลภูมิ” รัฐมนตรีฝีปากกล้า

ทองเปลว ชลภูมิ เป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทองเปลว เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทองเปลว เป็นลูกศิษย์ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ และจบการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส

ด้านการทำงาน ทองเปลว เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็น สส. ประเภทที่ 2 และต่อมาเป็น สส. พรรคแนวรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเลือกตั้งจาก จ.ปราจีนบุรี

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรี (ลอย) และรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลที่ หลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทองเปลว มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ผู้มีบุตรมากในปี พ.ศ. 2485 เพื่อช่วยเหลือผู้มีบุตรมากให้ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล หน่วยงานราชการ และบริษัทห้างร้าน

ทองเปลว เคยรับผิดชอบดูแลองค์การสรรพาหารที่รัฐบาลตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีนโยบาย "ซื้อแพง ขายถูก" เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แม้ในช่วงแรกจะได้รับความนิยม แต่ต่อมาองค์การฯ ประสบปัญหาความล้มเหลวและการทุจริต จนต้องถูกยกเลิกไป

จุดจบอันน่าเศร้า หลังจาก ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จ ทองเปลวถูกตำรวจสังหารพร้อมกับอดีตรัฐมนตรีชาวอีสานอีก 3 คน คือ นายถวิล อุดล, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายจำลอง ดาวเรือง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492

การเสียชีวิตของ ทองเปลว เป็นผลมาจากการกวาดล้างทางการเมืองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แม้ ดร. ทองเปลว จะจากโลกนี้ไปนานแล้ว แต่เรื่องราวของท่านยังคงเป็นบทเรียนสำคัญที่คนรุ่นหลังควรศึกษาและจดจำ

ยุค บุญส่ง สมใจ และ สมาน ภุมมะกาญจนะ

ขณะที่ตำแหน่ง สส.ปราจีนบุรี ต่อจาก ทองเปลว ชลภูมิ ตั้งแต่ปี 2512 - 2538 นั้นเรียกได้ว่ามี 2 คนที่น่าสนใจเพราะผูกขาดเก้าอี้ สส. มาอย่างยาวนาน คือ บุญส่ง สมใจ และ สมาน ภุมมะกาญจนะ

โดย บุญส่ง เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 2512 และได้รับเลือกเรื่อยมา จนถึง 2538 รวม 9 สมัย

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

บุญส่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ทวิช กลิ่นประทม) ในปี พ.ศ. 2518 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2519 ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ครม.36) 

บุญส่ง สมใจ ถือว่าเป็นนักการเมืองระดับชาติมาอย่างยาวนานเป็น สส.ปราจีนบุรีตั้งแต่ปี 2512 -2538 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 9 สมัย โดยพรรคแรกที่เข้าสังกัดคือพรรคสหประชาไทยและพรรคสุดท้ายคือพรรคชาติไทย

สำหรับ สมาน ภุมมะกาญจนะ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งพรรคชาติไทย ขึ้นในปี 2517 เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ถึง 8 สมัย ในสังกัดพรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมถึง 3 สมัย ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 45 และ 46 ที่มี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะที่ 52 ที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยด้วย

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ขณะที่ สมาน วางมือนั้น ก็ยังได้ส่งไม้ต่อให้ ชยุต ภุมมะกาญจนะ ยังคนโลดแล่นในสนามการเมืองต่อไปจนถึงการเลือกตั้งปี 2566 ต้องพ่ายแพ้ให้กับ วุฒิพงศ์ ทองเหลา จากพรรคก้าวไกล ณ ขณะนั้น 

ทำให้เห็นได้ว่าก่อนที่ตระกูล วิลาวัลย์ จะโดดเด่นขึ้นมาในปราจีนบุรี อาจพูดได้ว่า เคยมีตระกูลสมใจ และ ภุมมะกาญจนะ เคยโดดเด่นมาก่อน

ขณะที่อีกตระกูลหนึ่งอย่าง สมใจ ที่อยู่คู่กันมาหลังจากสิ้น บุญส่ง ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองปราจีนบุรี แต่ตระกูล ภุมมะกาญจนะ ยังคงอยู่ถึงแม้จะไม่ได้ขับเคี่ยวกับตระกูล วิลาวัลย์ เหมือนเช่นในอดีตก็ตาม

ยุค “เทียนทอง” แบ่งเค้กปราจีนฯ ก่อนแยกออกเป็น “จังหวัดสระแก้ว” 

จังหวัดปราจีนบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ถึงแม้จะแยกออกมาเป็นจังหวัดสระแก้วก็ตาม ในยุคที่จังหวัดปราจีบุรียังรวมกับสระแก้วอยู่ไหน มีตระกูลที่ทรงอิทธิพลอีกหนึ่งตระกูลคือตระกูล “เทียนทอง” 

โดยตระกูลเทียนทอง ก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ อ.วัฒนานคร ในยุคที่ยังอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี โดยกำนันแสวง เทียนทอง ได้รับสัมปทานไม้หมอนและไม้ฟืนส่งให้การรถไฟ, ค้าวัวควาย, ค้าพืชไร่ และค้าข้าว เนื่องจากมีที่นาจำนวนมาก จึงมีการปล่อยกู้ และให้เช่าทำนา

เมื่อกำนันแสวงเสียชีวิตลง “เสี่ยแหนม” หรือ เสนาะ เทียนทอง จำต้องรับมรดกจากผู้เป็นบิดา เพราะพี่ชายคนโต-เอื้อ เทียนทอง และพี่สาว-สนุ่น เทียนทอง มีภาระที่ต้องไปดูแลกิจการครอบครัวของพวกเขาเอง

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ปี 2519 เสี่ยแหนม ได้รับการติดต่อจาก พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ 1 ให้ลงสมัคร สส.ปราจีนบุรี ในสังกัดพรรคชาติไทย (สระแก้วยังไม่ได้แยกออกจากปราจีนบุรี) 

30 กว่าปีมานี้ เสนาะ มอบหมายให้น้องชาย พิเชษฐ์ เทียนทอง ดูแลธุรกิจและการเมือง โดยใช้ อ.วัฒนานคร เป็นฐานบัญชาการในปี 2531-2535 เสนาะ และ วิทยา เทียนทอง สามารถครองตำแหน่ง สส.ปราจีนบุรี ก่อนที่จะมีการแยกจังหวัดสระแก้วออกมาจากปราจีนบุรีนั่นเอง

เรียกได้ว่าในสนามการเมืองของปราจีนบุรียังมีตระกูลที่ยิ่งใหญ่อย่างตระกูล เทียนทอง หากไม่มีการแยกมาเป็นจังหวัดสระแก้ว การเมืองปราจีนบุรีคงจะเข้มข้นมากๆ เลยทีเดียว

จากหัวคะแนนสู่ “สุนทร วิลาวัลย์” บ้านใหญ่แดนปราจีนฯ

สุนทร วิลาวัลย์ หรือที่รู้จักกันในนาม "โกทร" ผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง เส้นทางการเมืองของโกทร เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมือง 

เขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองในปี 2523 ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองปราจีนบุรี และเป็นหัวคะแนนคนสำคัญของบุญส่ง สมใจ อดีต สส.ปราจีนบุรี ต่อมา โกทร ได้ก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติและได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ปราจีนบุรี หลายสมัย โดยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ได้แก่ พรรคราษฎร พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย และพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย

ในยุคหนึ่งโกทรมีคู่แข่งคนสำคัญชื่อ สมาน ภุมมะกาญจนะ ซึ่งมีอยู่สมัยหนึ่ง สมานไปดึงวัฒนา เมืองสุข มาลงสมัคร สส.ปราจีนฯ แข่งกับโกทร 

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

จุดเปลี่ยนสำคัญในเส้นทางการเมืองของโกทร เกิดขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจเข้าร่วมพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของเนวิน ชิดชอบ ในปี 2554 การเข้าร่วมพรรคภูมิใจไทยช่วยให้โกทรสามารถขยายฐานอำนาจและสร้างเครือข่ายทางการเมืองที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เขาประสบความสำเร็จในการนำพาพรรคภูมิใจไทยชนะการเลือกตั้งในจังหวัดปราจีนบุรี ทั้งในระดับประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และระดับท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ กนกวรรณ วิลาวัลย์ ลูกสาวของเขา ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2562-2565

ขณะที่บารมีโกทรในฐานะนายก อบจ. มีมือไม้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กู้เกียรติ แสงจันทร์ หรือผู้ใหญ่แอ๊ด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.กรอกสมบูรณ์ อ.ศรีมหาโพธิ ต่อมาคือ จำรัส หอมชิต หรือโจ้ เจ้าของโรงงานขยะรีไซเคิล ในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ พงศกร พงษ์คุณ เลขานุการของ สุนทร ในพื้นที่ อ.บ้านสร้าง กฤษฎิ์ กษมพันธุ์ หรือ สจ.อุ๊ รองนายก อบจ.ปราจีนบุรี รวมไปถึง สจ.โต้ง ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของโกทรไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาและลูกสาวถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีรุกป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คดีนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของโกทร และอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ของบ้านใหญ่วิลาวัลย์ในอนาคต

เส้นทางการเมืองของโกทรแสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการปรับตัวและสร้างเครือข่ายทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คดีความที่เกิดขึ้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อนาคตทางการเมืองของโกทรและบ้านใหญ่วิลาวัลย์ ยังคงต้องจับตาดูต่อไป

 “ทักษิณ” เขย่า “โกทร” สะเทือน “ภูมิใจไทย” 

จากกรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี ที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง ถูกยิงเสียชีวิตในบ้านของนายสุนทร วิลาวัลย์ หรือ โกทร นายก อบจ.ปราจีนบุรี เหตุการณ์นี้ได้จุดประกายให้เห็นถึงการขยับของ ทักษิณ ชินวัตร หวังตีปราจีนบุรีภายใต้ตระกูล วิลาวัลย์ให้แตก

โดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่า จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายสุนทรมาเป็นเวลานาน การเมืองท้องถิ่นมักมีการต่อรองผลประโยชน์ หากตกลงกันไม่ได้ อาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นฆาตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ทักษิณยอมรับว่า สจ.โต้ง เคยติดต่อกับคนสนิทของตนจริง โดย สจ.โต้ง ต้องการให้ภรรยาลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย สจ.โต้ง ยืนยันว่าได้พูดคุยกับนายสุนทรแล้ว แต่ถูกเรียกไปพบอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นการเรียกไปต่อรองหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ หลายคนวิเคราะห์กันว่าอาจจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดการสังหารโหด สจ.โต้ง

สะท้อนให้เห็นว่า สนามการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศกำลังร้อนระอุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันระหว่าง “บ้านใหญ่” พรรคเพื่อไทย และ พรรคภูมิใจไทย ที่ต่างงัดกลยุทธ์เพื่อยึด “ฐานคะแนนจัดตั้ง” โดยมีเดิมพันสำคัญคือการ ชิงธงนำขบวนโหนอำนาจอนุรักษนิยม ในการเลือกตั้ง สส. รอบหน้า

พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “ทักษิณ” อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการ ทวงคืนความยิ่งใหญ่ โดยใช้สนาม อบจ. เป็นเสริมพลังให้พรรคเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่ การลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคในสนามเลือกตั้ง อบจ.อุบลราชธานี เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความพยายามของพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยก็แข็งแกร่งไม่แพ้กัน พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ “เนวิน” และ “อนุทิน” ได้เดินเกมรุกคืบยึดพื้นที่ อบจ. โดยใช้ “ฐานคะแนนจัดตั้ง” จนได้ชัยชนะในหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์, อุทัยธานี, อยุธยา, อ่างทอง, ปทุมธานี, ชัยภูมิ, สุรินทร์, ระนอง, และนครศรีธรรมราช

ปราจีนบุรี ถิ่นบ้านใหญ่ วิลาวัลย์ เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก

ชัยชนะของพรรคภูมิใจไทย ส่งผลต่อสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ปราจีนบุรี จนเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คือ เหตุการณ์ยิง สจ.โต้งในบ้าน “โกทร” นายก อบจ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นคนของพรรคภูมิใจไทย เหตุการณ์นี้โยงไปถึงการแข่งขันชิงเก้าอี้ อบจ. ระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย

ทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรคภูมิใจไทย ต่างใช้ “ฐานคะแนนจัดตั้ง” เป็นอาวุธสำคัญในการช่วงชิงอำนาจ สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองรูปแบบนี้ ยังคงมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งสนาม อบจ. การเลือกตั้ง อบจ. จึงเป็นเหมือน การซ้อมรบ ก่อนการเลือกตั้ง สส. โดยผู้ชนะในสนามนี้ จะได้เปรียบในการช่วงชิงอำนาจ ในเกมการเมืองระดับชาติต่อไป

การต่อสู้ของ “บ้านใหญ่” คนละค่าย ระหว่างพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการนำพรรคกลับมายิ่งใหญ่ กับ พรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการขยายฐานอำนาจ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองไทยในอนาคต

เป็นการสั่นสะเทือนปราจีนครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของทักษิณ ไม่ได้มีเป้าหมายคือปราบตระกูลวิลาวัลย์แต่อาจทำให้สะเทือนถึงภูมิใจไทยนั่นเอง

อ้างอิง

สถาบันปรีดีย์ พนมยงค์ / Thaiger / Thaiger1 / กรุงเทพธุรกิจ / คมชัดลึก /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related