svasdssvasds

ทหารซ้อม แต่จับแพะ? องค์กรสิทธิฯ เผยรายงานทหารซ้อมชาวเมียนมาจนเสียชีวิต

ทหารซ้อม แต่จับแพะ? องค์กรสิทธิฯ เผยรายงานทหารซ้อมชาวเมียนมาจนเสียชีวิต

สงครามกลางเมืองในเมียนมาส่งผลต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากปัญหาเรื่องผู้อพยพ, ยาเสพติด, มนุษยธรรม รายงานฉบับล่าสุดจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ กำลังสะท้อนถึงปัญหาที่แยบยลกว่านั้นที่แฝงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย

SHORT CUT

  • อ่องโกโก ชายชาวเมียนมาวัย 37 ปี ถูกทหารไทยจำนวน 3 นายซ้อมทรมานจนเสียชีวิตบริเวณพื้นที่พิพาท 70 ไร่ บ้านใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก
  • จนถึงขณะนี้ ศาลได้ตัดสินจำคุกศศิชัช ชายชาวเมียนมา 3 ปี 4 เดือนฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา แต่ยังไม่มีการควบคุมตัวทหารผู้ก่อเหตุ
  • ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ยื่นเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ.ทหาร และได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการสืบหาความจริงและคุ้มครองพยาน 

สงครามกลางเมืองในเมียนมาส่งผลต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากปัญหาเรื่องผู้อพยพ, ยาเสพติด, มนุษยธรรม รายงานฉบับล่าสุดจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ กำลังสะท้อนถึงปัญหาที่แยบยลกว่านั้นที่แฝงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้เผยแพร่รายงานสืบหาความจริง ‘ความตายที่พรมแดน ไทย — เมียนมา’ หลังอ่องโกโก ชายวัย 37 ปี สัญชาติเมียนมาถูกทหารไทย 3 นายซ้อมทรมานจนเสียชีวิต บริเวณพื้นที่พิพาท 70 ไร่ บ้านใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก แต่กระบวนการยุติธรรมกลับยังไม่สามารถดำเนินคดีกับทหารคนใดได้ และจับกุมตัวชายชาวเมียนมาได้เพียงรายเดียว 

เกิดอะไรขึ้นในคดีนี้บ้าง กระบวนการยุติธรรมของไทยดำเนินไปอย่างไร และอะไรคือข้อเสนอของฟอร์ตี้ฟายไรต์ SPRiNG สรุปรายงานฉบับดังกล่าวมาให้อ่านด้านล่างนี้ 

ภาพสุดท้ายของอ่องโกโก [ภาพ: Fortify Rights]

ไทม์ไลน์เหตุการณ์การเสียชีวิตของ ‘อ่องโกโก’

เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567 ศิรชัชหรือแจมิน สมาชิกหน่วยรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน (ชรบ.) ได้รับโทรศัพท์จากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านถามว่า รู้จัก อ่องโกโก ชายสัญชาติเมียนมา อายุ 37 ปีไหม ช่วยเข้าไปตรวจดูสถานการณ์หน่อย เพราะเขาถูกทหารไทยควบคุมตัวอยู่บริเวณพื้นที่พิพาท 70 ไร่ ไทย – เมียนมา 

เวลาประมาณ 12.00 น. ศิรชัชเดินทางมาถึงจุดที่แจ้งเหตุ ใกล้เคียงกับ ม.ล. และ ย.จ. (นามสมมติ) ชรบ.ของบ้านใต้ จากคำบอกเล่าของ ม.ล. เมื่อมาถึงทหารสี่นายในชุดลายพรางเต็มยศกำลังยืนอยู่ด้านหลังของอ่องโกโกที่นั่งขัดสมาธิอยู่กับพื้น มือสองข้างถูกผูกไว้ข้างหลัง และมีบาดแผลที่ใบหน้า 

ม.ล.เล่าว่าทหารนายหนึ่งถามอ่องโกโกว่า “มึงใส่เสื้อกั๊ก ชรบ.มาทำไม? มึงขายยาเสพติดหรืออะไรหรือเปล่า? ทำไมถึงใส่เสื้อแบบนี้? ไม่ใช่ธงชาติมึง มันเป็นของประเทศกู” ระหว่างนั้น ย.จ.พยายามยืนยันกับกลุ่มทหารว่าอ่องโกโกเคยเป็น ชรบ.ในชุดของเขาจริงๆ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เดินทางกลับไปทำงานที่เมียนมาราว 1 เดือน 

“มึงใส่เสื้อกั๊ก ชรบ.มาทำไม? มึงขายยาเสพติดหรืออะไรหรือเปล่า? ทำไมถึงใส่เสื้อแบบนี้? ไม่ใช่ธงชาติมึง มันเป็นของประเทศกู”

สำหรับ ชรบ.เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านที่ขึ้นตรงกับผู้ใหญ่บ้าน ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย แม้จะมีข้อกำหนดให้ ชรบ.เหล่านี้ต้องเป็นคนสัญชาติไทย แต่เป็นปกติในพื้นที่แม่สอดที่จะมี ชรบ.สัญชาติเมียนมาทำหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากปัญหาเชิงพื้นที่และขาดแคลนบุคลากร

ทหารทั้งสี่นายไม่ฟังคำยืนยัน พวกเขาพาตัวอ่องโกโกไปที่ป้อมทหารเก่าที่ตั้งห่างออกไปราว 500 เมตร และอีกราว 20 นาทีหลังจากนั้น ยจ.ก็ได้ยินเสียงของอ่องโกโกตะโกนว่า

“ช่วยด้วย! ผมไม่ได้ทำอะไรผิด! ผมไม่ได้ทำความผิด! ช่วยผมด้วย!”


แผนที่ตำแหน่งเกิดเหตุ [ภาพ: Fortify Rights]

จากคำบอกเล่าของพยานทั้ง 3 คนในเหตุการณ์ ทหารสามจากสี่นายได้เตะและใช้ไม้ฟาดอ่องโกโกนานราว 30 นาที ซึ่งศรีชัชเองก็เข้าผสมโรง เขายอมรับว่าตัวเขาใช้ไม้ไผ่ฟาดอ่องโกโกที่ก้นและหน้าแข้ง 2 ครั้ง ก่อนที่กลุ่มทหารจะบอกให้ ม.ล.พาอ่องโกโกไปที่ชายแดนเมียนมา 

ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าทหารกลุ่มดังกล่าวสังกัดหน่วยงานใด แต่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู ใต้กองกำลังนเรศวรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดน จ.ตาก และมีทหารประจำอยู่ในพื้นที่บริเวณที่อ่องโกโกถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต 

ม.ล.ได้ขอความช่วยเหลือจากหญิงสาวชาวเมียนมาในละแวกนั้น ทั้งสองช่วยกันหิ้วปีกอ่องโกโก แต่เดินไปได้เพียง 5 - 6 ก้าว อ่องโกโกก็ทรุดลง เพราะร่างกายไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว ทั้งคู่จึงตัดสินใจแยกย้ายไปขอความช่วยเหลือและแจ้งเรื่องอ่องโกโกต่อญาติของเขา 

ระหว่างที่ทั้งคู่แยกย้ายไปขอความช่วยเหลือ พยานหลายคนได้เดินทางผ่านมาในที่เกิดเหตุ แต่ทั้งหมดล้วนเล่าตรงกันว่า อ่องโกโกมีแผลตามเนื้อตัวเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นเล่าว่า

“ฉันจำไม่ได้ว่าเห็นบาดแผลบนใบหน้าเขา เพราะมันทั้งเปื้อนเลือดและดินเต็มไปหมด โดยเฉพาะระหว่างดวงตาและจมูก ฟันก็หัก เห็นเลือดแห้งกรังอยู่บนเหงือก”

ยังไม่มีการยืนยันเวลาเสียชีวิตที่แน่นอนของอ่องโกโก แต่จากคำบอกเล่าของศิรชัช ในช่วงเวา 14.00 - 15.00 น. หน่วยกู้ภัยได้เข้าไปเก็บศพของอ่องโกโก และขณะที่ใช้มือสัมผัสศพร่างกายของอ่องโกโกยังอุ่นอยู่ จึงคาดว่าเพิ่งเสียชีวิตไม่นาน

ครอบครัวของอ่องโกโกได้นำร่างของเขาไปไว้ที่วัดไทยวัฒนารามและกำหนดวันฌาปนกิจเป็นวันที่ 14 ม.ค. พ.ศ. 2567 แต่ก่อนจะถึงวันนั้น นักสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปที่งานศพ และแนะนำให้ครอบครัวแจ้งตำรวจ ส่งร่างไปโรงพยาบาบเพื่อชันสูตรพลิกศพ ซึ่งครอบครัวอ่องโกโกตัดสินใจทำตาม

จากรายงานชันสูตรพลิกศพของโรงพยาบาลแม่สอดพบว่า ร่างกายของอ่องโกโกมีอาการบาดเจ็บทั่วร่างกาย อาทิ บาดแผลถูกครูดที่ใบหน้าและจมูกรวม 6 บาดแผล, บาดแผลฟกช้ำที่ด้านหลัง ลำตัว ต้นขาซ้าย, บาดเจ็บภายในศีรษะ พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ด้านซ้อย และสมองบวม 

ทางโรงพยาบาลแม่สอดสรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจาก “ศีรษะบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกาย”

 

จับ ‘แพะ’ อีกครั้ง? กระบวนการยุติธรรมที่อาจไม่โปร่งใส 

จนถึงขณะนี้ ศาลได้มีคำสั่งพิพากษาจำคุกศรีชัช 3 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย และยังไม่มีการจับกุมผู้ก่อเหตุรายอื่น 

จากรายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์มี 3 ประเด็นในการสืบสวนหาความจริงที่อาจไม่โปร่งใส และอาจนำไปสู่การจับ ‘แพะ’ มากกว่าผู้ก่อเหตุที่แท้จริง 

ในวันที่ 13 ม.ค. พ.ศ. 2567  นักสิทธิมนุษยชนและเพื่อนที่มีข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ได้ถูกทหารสอบปากคำที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ทหารรายนั้นกล่าวอย่างโกรธแค้นว่าข้อมูลของนักสิทธิมนุษยชนไม่เป็นความจริง อ่องโกโกถูกซ้อมตั้งแต่อยู่ในประเทศเมียนมา และทหารไทยเป็นผู้ช่วยเหลืออ่องโกโกระหว่างบาดเจ็บต่างหาก 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจแม่สอดได้เรียกให้ศศิชัชมาสอบปากคำที่สถานีตำรวจ 3 ครั้ง โดยตำรวจระบุว่า “มีคนแจ้งว่าคุณเป็นผู้ก่อเหตุฆ่าคนตาย” ศศิชัชยอมรับกับตำรวจเรื่องที่เขาใช้ไม้ไผ่ตีก้นและหน้าแข้งของอ่องโกโก กระทั่งวันที่ 6 ก.พ. พ.ศ. 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวศศิชัชในข้อกล่าวหาร่วมกันฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และไม่ให้ประกันเนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี

ข้อสังเกตประการแรกที่เกิดขึ้นคือ ระหว่างสอบสวนศศิชัชเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิที่ผู้ต้องหาควรจะได้รับ เช่น สิทธิในการมีทนายความ หรือสิทธิในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เพื่อได้รับการปล่อยตัวระหว่างสู้คดี 

ข้อสังเกตประการที่สองคือ ปัญหาด้านการสื่อสาร ม.ล.ได้เล่าให้ฟังว่าระหว่างที่เขาให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจได้ให้เขาเซ็นเอกสารอะไรบางอย่าง ซึ่งต่อมาจะนำไปสู่การสอบสวนคดีศศิชัช โดย ม.ล.เล่าว่าตัวเขาสื่อสารภาษาไทยได้ แต่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ เขาจึงไม่รู้ว่าตัวเองเซ็นเอกสารอะไรอยู่  

หรือกรณีที่อัยการอ้างหลักฐานรูปภาพที่ญาติของอ่องโกโกชี้ตัวศศิชัชว่าเป็นผู้กระทำผิด เพราะในเหตุการณ์วันนั้น ตำรวจได้เดินทางมาหาญาติของอ่องโกโกก่อนให้ดูภาพที่มีศศิชัช แล้วถามว่าเขาใช่คนที่ช่วยนำศพอ่องโกโกมาให้ใช่ไหม ก่อนขอให้ช่วยชี้นิ้วที่ภาพของศศิชัชแล้วถ่ายภาพ โดยที่ไม่มีการแปลข้อความอื่นๆ ในเอกสารดังกล่าวให้ฟัง 

ข้อสังเกตประการที่สาม ทหารผู้ก่อเหตุหายไปไหน พนักงานสอบสวนและอัยการตระหนักว่ามีทหารอยู่ในที่เกิดเหตุวันที่อ่องโกโกเสียชีวิต และมีการซักถามถึงกรณีดังกล่าวในชั้นศาล แต่ยังไม่มีการนำตัวทหารคนใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ถึงแม้ระหว่างกระบวนการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเคยให้พาทหารมาให้ ม.ล.ชี้ตัวผู้ต้องสงสัยถึงสองครั้ง แต่เขาไม่ได้ชี้ตัวใครทั้งสิ้น เพราะคนที่ตำรวจพามาไม่ใช่ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ที่อ่องโกโกเสียชีวิต

วันที่ 27 ก.ย. พ.ศ. 2567 ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกศศิชัช  3 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา โดยเขายังคงอยู่ในเรือนจนถึงปัจจุบัน

จดหมายจาก Fortify Rights ถึง กมธ.ทหาร [ภาพ: Fortify Rights]

ข้อเสนอถึงภาครัฐไทย 

จากรายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ทำงานมาอย่างยาวนาน พวกเขามีข้อเสนอต่อภาครัฐไทยในกรณีดังกล่าว ดังนี้ 

  • ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทำงานด้านวิกฤตในเมียนมา โดยเฉพาะประเด็นผู้ลี้ภัย
  • ขอให้กระทรวงยุติธรรมเยียวยาผู้เสียหาย พร้อมรับประกันความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี
  • ขอให้ศาลยุติธรรมทบทวนมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ สำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย 
  • ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวบรวมข้อเท็จจริงและติดตามการสืบสวนคดีนี้อย่างเป็นอิสระ พร้อมเป็นแกนกลางระหว่างรัฐและครอบครัวผู้เสียชีวิต 
  • ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีการสอบสวนอย่างเป็นธรรม รอบด้าน และไม่ลำเอียง เผยแพร่ข้อมูลการสืบสวนต่อสาธารณะ และขอให้มีการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย
  • ขอให้กองทัพบกให้ความร่วมมือในการสืบสวนหาความจริง 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและทำให้บุคคลสูญหายระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์ ข้อมูลหรือคำสารภาพ, ลงโทษผู้ถูกซ้อมทรมาน, ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกทรมาน หรือเพื่อเลือกปฏิบัติ ถือว่ามีความผิดมีโทษจำคุกสูงสุด 15 - 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 300,000 - 1,000,000 บาท 

พ.ร.บ.ดังกล่าวยังระบุโทษผู้ให้การสนับสนุน, ผู้สมคบคิด และผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำผิดดังกล่าวด้วย 

ล่าสุด ทางฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ยื่นหนังสือต่อถึง กมธ.ทหารให้ช่วยติดตามกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าจากทาง กมธ.


อ่านรายงานฉบับเต็มจากฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ที่: fortifyrights

related