svasdssvasds

สภาวะโลกหมุนกลับ จีนเน้นผูกมิตรค้าเสรี อเมริกา ยุค ทรัมป์ มุ่งผลประโยชน์

สภาวะโลกหมุนกลับ  จีนเน้นผูกมิตรค้าเสรี อเมริกา ยุค ทรัมป์ มุ่งผลประโยชน์

สภาวะโลกหมุนกลับ จีนเน้นผูกมิตรค้าเสรี อเมริกา หากเป็นยุค ทรัมป์ มุ่งผลประโยชน์ของอเมริกามาก่อน จ่อกำแพงภาษีกระทบโลก

SHORT CUT

  • การเลือกตั้งอเมริกาที่กำลังมาถึงอาจส่งผลต่อโลกในหลายด้าน
  • โดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ หากมองไปที่มุมมองประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนาน 4,000 ปี
  • ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีประวัติศาสตร์เพียง 100 ปี ตลอดเวลานี้มีก้าวขึ้นมาท้าชิงความเป็นผู้นำโลกของ

สภาวะโลกหมุนกลับ จีนเน้นผูกมิตรค้าเสรี อเมริกา หากเป็นยุค ทรัมป์ มุ่งผลประโยชน์ของอเมริกามาก่อน จ่อกำแพงภาษีกระทบโลก

การเลือกตั้งอเมริกาที่กำลังมาถึงอาจส่งผลต่อโลกในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ หากมองไปที่มุมมองประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนาน 4,000 ปีขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่อันดับ 1 ของโลกมาโดยตลอด จุดพลิกผันคือสงครามฝิ่น ทำให้จีนตกต่ำอยู่ 100 ปี และนับตั้งแต่อดีตจีนมีมองตัวเองเป็นศูนย์กลางการค้าที่เกิดขึ้นต้องเป็นจีนเองที่เป็นผู้กำหนด

 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีประวัติศาสตร์เพียง 100 ปี ตลอดเวลานี้มีก้าวขึ้นมาท้าชิงความเป็นผู้นำโลกของ

สหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนาซีเยอรมัน ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียต ยุคสงครามเย็น ญี่ปุ่น ในทศวรรษ 80 แต่ประเทศเหล่านี้โดนสหรัฐอเมริกา ทุบลงหมด ไม่มีประเทศไหนสามารถชนะสหรัฐอเมริกาได้

แต่สำหรับจีนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง โจ ไบเดน และบารัค โอบามา ต่างบอกว่า จีนเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด ยิ่งกว่าสหโซเวียต และญี่ปุ่น เสียอีก นั่นเป็นเพราะอะไร และเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลทำให้อเมริกายกเลิกแนวทางการค้าเสรีเฉกเช่นในอดีต ขณะที่จีนกลับมุ่งเปิดการค้าเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในวันที่ถูกสหรัฐอเมริกากดดัน

 

3 ปัจจัยที่สหรัฐอเมริกามองจีนเป็นคู่แข่ง

ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่สหรัฐอเมริกามองจีนเป็นคู่แข่งมีด้วยกัน 3 ปัจจัย

1.ปัจจัยทางด้านประชากร อ.อาร์ม ชี้ให้เห็นว่า สหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน ขณะที่สหรัฐอเมริกามี 350 ล้านคน 

สหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นจึงมีประชากรแค่ 1 ใน 3 ของสหรัฐ ซึ่งแปลว่าถ้าอยากให้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาต้องมี GDP ต่อหัว 3 เท่าของสหรัฐอเมริกา แต่ในทางกลับกันจีนมีประชากร 1,400 หรือ 4 เท่าของสหรัฐอเมริกา แปลว่าขอแค่ GDP ต่อหัวขึ้นมา 1 ใน 4 ใหญ่ของสหรัฐ ขนาดเศรษฐกิจโดยรวมก็สามารถแซงสหรัฐอเมริกา

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ไม่ใช่คำว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไร ต่างหาก

ปัจจุบัน GDP ต่อหัวของจีน ขึ้นมา 1 ใน 6 สหรัฐอเมริกา และขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 170% ของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี อาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้

ขนาดเศรษฐกิจจีนจะขึ้นมาใหญ่เท่าและแซงสหรัฐอเมริกาได้ ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐอเมริกาจะหายไป และจีนเป็นเจ้าโลกแทน แต่หมายถึง วันนี้จะมีพระอาทิตย์ 2 ดวง คือมีมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ 2 ประเทศนั่นเอง

2.เมื่อมองในมิติอื่น จีนเป็นมหาอำนาจในทุกมิติ ในอดีตสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจด้านการทหาร แต่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีกองทัพ แต่จีนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่าจีนเป็นมหาอำนาจที่เทียบเคียงกับสหรัฐอเมริกา ในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การทหาร และอิทธิพลทางการทูต 

3.จีนเชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกา และโลก ในขณะที่เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตไม่ได้เชื่อมโยงกับใครมากนัก ไม่ได้เชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้เชื่อมโยงกับโลกมาก ตอนสหรัฐอเมริกาทุบสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่น สหรัฐจึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่จีนเชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 ประเทศเป็นคู่ค้าระหว่างกันยาวนาน เพราะว่าทุนสหรัฐไปใช้แรงงานราคาถูกที่จีน และส่งออกไปขายทั่วโลก

นอกจากนี้ จีนยังเป็นคู่ค้า 2 ใน 3 ของโลก ถ้าทุบจีนจะทำให้พังสหรัฐอเมริกาและโลกอาจจะพังไปด้วย ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาเองไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เกิดจีนวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและโลก แต่จุดประสงค์ของสหรัฐอเมริกาคือ ต้องการทำให้จีนโตช้าลงหน่อยนั่นเอง

3 เงื่อนไขข้อได้เปรียบของสหรัฐอเมริกา

แต่กระนั้นเอง ณ ขณะนี้ดูเหมือนว่าจีนจะน่ากลัวสำหรับสหรัฐอเมริกา แต่สหรัฐก็ยังมีข้อได้เปรียบอยู่ 3 ประการ อ.อาร์ม ชี้ให้เห็นข้อได้เปรียบของสหรัฐอเมริกามีดังต่อไปนี้

1. ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินสกุลหลักของโลก ที่ทำให้สหรัฐสามารถพิมพ์เงินได้ตามใจชอบ 

เพราะทุกคนต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเราทุกคนก็ผูกพันกับเงินดอลลาร์ ถ้าล้มเมื่อไร โลกก็ล้ม 

2. ภูมิศาสตร์ สหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างสองมหาสมุทร คือมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก และอยู่ระหว่างเม็กซิโกกับแคนาดา เป็นประเทศพันธมิตรที่ดี ซึ่งถือว่ามีฮวงจุ้ยดีที่สุดในโลก มีทางออกทางทะเล 2 ฝั่ง แต่จีน มีทางออกทางทะเลฝั่งเดียว คือทะเลจีนตะวันออกเต็มไปด้วยความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะในญี่ปุ่น และข้อพิพาทเรื่องไต้หวัน

ลงมาทางทะเลจีนใต้ก็มีขัดแย้งหลายประเทศในอาเซียน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จีนจริงจังมากเรื่องไต้หวัน และต้องเคลมเกาะทั้งหมดในทะเลจีนใต้ เพราะไม่อย่างนั้นจีนก็ไม่มีทางออกทางทะเล 

ดังนั้น ทุกคนที่มีชายแดนติดกับจีน มีปัญหาชายแดนกับจีนทั้งหมด จีนก็เคยเกลียดสหภาพโซเวียตยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์จีน-อินเดียตกต่ำที่สุดเพราะมีข้อพิพาทชายแดนมีคนเสียชีวิตด้วย ขณะที่ไทยถึงจะมีสถานะพิเศษในอาเซียนเพราะอยู่ใกล้จีน แต่ไม่มีชายแดนติดกับจีน ในทางกลับกันความสัมพันธ์จีน-ฟิลิปปินส์ตกต่ำ ตอนนี้ฟิลิปปินส์เลือกข้างสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไทยไม่มีเอี่ยวเรื่องทะเลจีนใต้ ไม่มีปัญหาข้อพิพาทชายแดน และไม่มีความขัดแย้งเรื่องชาวจีนโพ้นทะเล 

3. พันธมิตรทางเศรษฐกิจ แม้จีนจะมีประชากร 1,400 ล้านคน 4 เท่าของสหรัฐอเมริกา แต่มองกลับกันแค่ฉงชิ่งขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่กว่าไทยแล้ว แต่สหรัฐอเมริกาบอกว่านับเช่นนั้นไม่ถูกเพราะสหรัฐมีพันธมิตรเป็นประเทศอื่นๆ ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตอนนี้แบ่งโลกตามผลโหวตรัสเซีย ยูเครน ประเทศที่โหวตประณามซึ่งเป็นพวกสหรัฐ ขาดเศรษฐกิจคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ของโลก ส่วนที่งดออกเสียงหรือไม่ประณามคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์จีน ตอนนี้กำลังเป็นพี่ใหญ่ของเอาประเทศกำลังพัฒนาแอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง อาเซียน ที่ต้องการให้มาเป็นตลาดแทนสหรัฐอเมริกาและยุโรป 

ในทางกลับกันยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาต้องการอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาแทนจีน ทั้งในฐานะของการเป็นโรงงานและในฐานะการเป็นตลาด

เรียกได้ว่าการเติบโตของจีนทำให้สหรัฐอเมริกาหวั่นไหว ถึงขนาดเปิดสงครามการค้าที่ยอมเจ็บนั่นเอง

Trade War สงครามที่เจ็บแต่ก็ต้องทำ

ปกติเมื่อมีมหาอำนาจเบอร์ 1 แข่งกับเบอร์ 2 จะเกิดสงคราม แต่การที่สหรัฐอเมริกาขึ้นมาแทนอังกฤษ หรือญี่ปุ่น ขึ้นมาโดยไม่มีการปะทะกันกับสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่า เพราะเป็นระบบการเมืองเดียวกัน ขณะที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ ระบอบการปกครองแตกต่างกัน

อ.อาร์ม ชี้ให้เห็นว่า เมื่อก่อนสหรัฐชอบของราคาถูกจากจีน แต่หลังๆ มาสินค้าจีนเริ่มเป็นสินค้าไฮเทค ที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแล้ว และสินค้าไฮเทคก็มีมิติเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงมิติเรื่องความมั่นคงด้วย เพราะสามารถเอาไปใช้กับเทคโนโลยีการทหารได้ 

สหรัฐอเมริกาจึงยับยั้งการส่งออกชิปให้จีน เพราะชิปดังกล่าวสามารถเอาไปใช้ในอาวุธได้อีกด้วย และเมื่อพูดถึงอาวุธ ก็มีความสำคัญในแง่ว่าใครเป็นที่ 1 เรื่องการทหารคนนั้นเป็นเจ้าโลก วันนี้ที่คนศรัทธาสหรัฐอเมริกาก็เพราะรู้ว่าไม่มีใครสู้สหรัฐได้ 

แต่ถ้าต้องทำสงคราม หากจีนชนะ หรือยอมให้จีนรวมไต้หวันได้ ก็จะกึ่งเป็นการยอมรับว่าจีนมีเทคโนโลยีการทหารที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องไต้หวันสำคัญ เพราะมันเป็นเกมที่จะสะท้อนว่าใครเป็นเจ้าโลก 

เมื่อมองย้อนกลับไปสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเริ่มมาตั้งแต่ยุค โดนัลด์ ทรัมป์ และในยุค โจ ไบเดน ก็ไม่ได้เบาลง สงครามเทคโนโลยีหนักขึ้นด้วยซ้ำ เหตุเพราะนโยบายการค้าเสรีไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา และรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญในการทำให้ชนะเลือกตั้งไม่เอานโยบายการค้าเสรี ไม่เอาจีน ในส่วนของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกา ก็ต้องการให้สหรัฐอเมริกาจีนการจัดการจีนเหมือนกัน เพราะตอนนี้จีนกำลังกินเรียบ 

การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

อ.อาร์ม มองว่า มีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะชนะ และถ้าชนะจะไม่ใช่ทรัมป์ 1.0 ที่ทำสงครามการค้ากับจีนแบบเดิม เพราะจะขึ้นกำแพงภาษีจีน 60% 4 เท่าจากเดิม และขึ้นภาษีกับทุกประเทศอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้พูดลอยๆ แต่มีคนคิดให้ บุคคลนั้นคือ Robert Lighthizer ที่ปรึกษานโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์ และเป็นคนเดียวในรัฐบาลทรัมป์ที่ไม่ถูกปลด ทั้งยังได้รับการคาดหมายด้วยว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา นโยบายที่ทรัมป์ใช้หาเสียง มาจากหนังสือ No Trade Is Free โดยมี 4 นโยบาย

  1. เลิก Globalization
  2. โรงงานต้องกลับมาตั้งฐานการผลิตที่สหรัฐอเมริกา
  3. ต้องการให้มีสมดุลการค้า ไม่ใช่ขาดดุล
  4. อย่าขาดจากจีน เพราะต้องการให้โรงงานกลับมาที่สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ย้ายจากจีนไปเวียดนาม 

ทางจีนเองคิดว่า ทรัมป์จะชนะ และถ้าออกนโยบายจริงจะเจ็บตัวทั้งจีน ทั้งสหรัฐอเมริกา แต่จีนจะเจ็บตัวกว่า เพราะฉะนั้นเราอาจได้เห็นเคลื่อนทะลักของสินค้าจีนและทุนจีนมากขึ้น เพราะเขาเตรียมตัวว่าทรัมป์จะกลับมา 

แต่หากแฮร์ริสจะชนะ นโยบายแบบทรัมป์จะไม่ตายตามไปด้วย ตัวแทนพรรคคนถัดไปจากทรัมป์ จะยังคงยึดนโยบายไม่เอาการค้าเสรี ไม่เอาผู้อพยพ ลดภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสหรัฐชอบ จากปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ ทำให้นโยบายของสหรัฐอเมริกา ผลักไปในทิศทางตรงกันข้ามกับโลกาภิวัตน์ คือเป็นจุดจบของโลกาภิวัตน์ และนี่จะเป็นเรื่องระยะยาวอีก 10-20 ปี 

ดังนั้นสินค้าจีนทะลักจึงไม่ใช่แค่เพราะว่าวันนี้ เศรษฐกิจจีนไม่ดี ต่อให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้นกว่านี้ แต่สินค้าจีนก็จะทะลักอยู่ดี เพราะมันยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จีนต้องการประเทศอื่นๆ แทนยุโรป ดังนั้น ผลกระทบต่อไทย อาเซียน และโลก 

ในกรณีที่ทรัมป์ได้ และทำนโยบายอย่างที่พูด จะเกิดความกดดันต่อเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา ต้องกระทบต่อนโยบายธนาคารกลางของสหรัฐ อาจต้องทบทวนนโยบายดอกเบี้ย และนักเศรษฐกิจก็จะคาดการณ์ได้ยากขึ้น เพราะแม้แต่เรื่องที่มองว่า การให้โรงงานกลับมาตั้งที่สหรัฐ จะเป็นดูเป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้เพราะระบบการผลิตส่วนใหญ่เป็นออโตเมชั่น 

เราจึงคาดเดาได้ยากว่า ปลายทางของนโยบายนี้จะเป็นอย่างไรเพราะเป็นนโยบายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อาจเกิดผลที่คาดคิดไม่ถึงก็ได้ 

ทางจีนบอกว่า ต่อไปจีนจะชูธงโลกาภิวัตน์แทน กลายเป็นว่าสถานการณ์โลกสลับกันจากอดีตที่สหรัฐอเมริกาชูธงค้าขายเสรี แต่มาวันนี้จีนกลับพยายามเข้าสู่โลกการค้าเสรีมากกว่าสหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดนี้ เป็นสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านสงครามเทคโนโลยีและสงครามราคา การแข่งขันนี้อาจกินเวลาอย่างน้อย 30 ปี เราจึงต้องเข้าใจว่าภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนไปแล้ว อ.อาร์ม กล่าว