SHORT CUT
การเมืองอุบลราชธานี ในนาทีที่ยิ่งกว่า Game of Thrones เพราะมีหลายขั้วอำนาจที่พร้อมจะจับมือกันหรือต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ เรียกได้ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร
สัญญาณเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เริ่มขึ้นภายหลัง กานต์ กัลป์ตินันท์ ลาออกรื้อไพ่สนามเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานีใหม่
อุบลราชธานี ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น ไม่ว่าเป็นกลุ่มอิสระ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมถึงน้องใหม่สีส้มอย่างพรรคประชาชนที่ต้องการปักธงชิงพื้นที่สนามท้องถิ่น
แต่กระนั้นหากย้อนเกร็ดการเมืองอุบลราชธานี เต็มไปด้วยสีสันมีทั้งตำนาน รัฐมนตรีอีสาน สส. ดาวสภา ฟาดนายกฯ ตกเก้าอี้ รวมไปถึงการเมืองที่มีหลากหลายขั้วยิ่งกว่า Game of Thrones
อุบลราชธานีถือเป็นพื้นที่การเมืองที่มีบุคคลสำคัญมากมายก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) หนึ่งในนั้นคือตำนานรัฐมนตรีอีสานอย่าง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
ทองอินทร์ เป็น สส. จากอุบลราชธานี รวม 4 ครั้ง นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476, 2480, 2481, 2489 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 6 สมัย (ชุดของนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์, ทวี บุณยเกตุ, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชุดแรก, ปรีดี พนมยงค์ ชุด 3, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ชุด 1 และ 2 และได้ควบ 2 ตำแหน่งอีกด้วย)
ทองอินทร์นับได้ว่าเป็นชนชั้นผู้นำในระดับภูมิภาค เรียนหนังสือจบมัธยม 6 จากอุบลฯ แล้วมาจบมัธยม 8 จากสวนกุหลาบฯ ได้ประกาศนียบัตรครูประโยคมัธยม ดังนั้นก็มีชีวิตรับราชการเป็นครู ก่อนที่จะย้ายไปเป็นนายอำเภอ โยกย้ายไปหลายจังหวัด ทำให้เขา “ตีนติดดิน” และมองเห็นปัญหาของสังคมในระดับของประชาชน
ทองอินทร์เป็นผู้แทนครั้งแรกเมื่ออายุ 24 (เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มธก. เป็น “ตลาดวิชา” ครั้งแรก ทองอินทร์ก็เรียนจนได้ปริญญา “ธรรมศาสตรบัณฑิต” หรือ ธ.บ.)
กล่าวได้ว่าทองอินทร์เป็นเสมือนหัวหน้าทีมของ “4 เสืออีสาน” มีความเชี่ยวชาญในการอภิปรายอย่างมีสาระยิ่งในสภา ทองอินทร์สมรสกับเจ้าสิริบังอร ณ จัมปาศักดิ์ สร้างความสัมพันธ์สองฝั่งโขง มากเสียกว่าข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่รัฐนำมายัดเยียด ทองอินทร์เป็นพลพรรค “เสรีไทย” และถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน สส. รัฐมนตรี อีก 3 คน
เลียง ไชกาล เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445 ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายสาย มารดาชื่อ นางสำเนียง (นามสกุลเดิม ณ อุบล) โดยมารดามีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าเมืองอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี แล้วได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อวิชาครูยังกรุงเทพมหานคร ได้รับประกาศนียบัตร ประโยคประถม ที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ จังหวัดพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2464 และจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนจะเข้าสู่วงการการเมือง
เลียง ไชยกาล สมรสกับ อรพินท์ ไชยกาล มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน นายเลียงเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงลือลั่นจากการเป็นผู้อภิปราย เรื่องการฉวยโอกาสซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของพรรคคณะราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2480 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกรณีร้อนทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนต้องลาออกรวมไปถึงการยุบสภาของคณะรัฐบาลด้วย
เป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในส่วนตัวนายเลียงเองก็ถูกจดหมายข่มขู่เอาชีวิต และถูกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจับตัวโยนลงสระน้ำหลังอาคารรัฐสภา (พระที่นั่งอนันตสมาคม) ต่อมาได้เข้าสังกัดกับพรรคก้าวหน้า ที่มี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค
ในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช นายเลียงได้มีชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาในการสมคบคิดในการสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ที่มีการยุบพรรคก้าวหน้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เลียงก็ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
เลียง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 3 วาระ คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ครม.21-ครม.22) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม.22) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ครม.22) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม.26)
หลังคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีผู้ตะโกนในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงว่า ปรีดีฆ่าในหลวง ในเวลาต่อมาผู้ตะโกนถูกจับได้ และซัดทอดนายเลียง ไชยกาล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ปราศรัยในกรณีนี้ตามที่ต่าง ๆ อย่างรุนแรง ที่สุด เลียงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไปคุมขังไว้ในเรือนจำลหุโทษเป็นเวลา 37 วัน
หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2491 ที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้แยกจากพรรคไป เลียง ไชยกาล ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และได้ก่อตั้งพรรคของตนเองชื่อ พรรคประชาชน มี นายสวัสดิ์ คำประกอบ เป็นรองหัวหน้าพรรค และ นายประสิทธิ์ ชูพินิจ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งต่อมา อรพินท์ ไชยกาล ภรรยาของ เลียง ก็ได้ลงสมัคร สส.จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2492 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของไทยด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 เลียง ได้จัดตั้งพรรคประชาชนขึ้นและรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกรอบ
ภาคอีสานพื้นที่ที่หลายคนคิดว่าพรรคทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นไทยรักไทย-เพื่อไทย คงเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่กระนั้นพรรคที่อยู่มานานที่สุดในสนามเลือกตั้ง สส. อุบลราชธานี กลับเป็นพรรคประชาธิปัตย์
นับแต่ปี พ.ศ. 2480 - 2562 ตลอด 85 ปี พรรคประชาธิปัตย์เคยมี สส. ในพื้นที่อุบลราชธานีเรื่อยมา ถึงบางครั้งจะเคยหายไปยกจังหวัดก็ตาม ขณะที่เลือกตั้งล่าสุด พ.ศ. 2566 กลับกลายเป็นการตอกฝาโลงประชาธิปัตย์ไปจากพื้นที่อุบลราชธานี
โดยอดีต สส. ประชาธิปัตย์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีมีอยู่หลายคนไม่ว่าจะเป็น สุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
อิสสระ สมชัย อดีตรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและแบบบัญชีรายชื่อ หลายสมัย และเป็นบิดาของบุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี
เกรียง กัลป์ตินันท์ ชื่อเล่น เบี้ยว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ
โดย เกรียง แจ้งเกิดในนามของพรรคประชาธิปัตย์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยสามารถเอาชนะ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เจ้าพ่ออีสานใต้ในยุคนั้น นับเป็นการโชว์ฝีไม้ลายมือในสนามการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสมัยแรกสำเร็จ ก่อนที่จะย้ายสังกัดพรรคไปเรื่อยๆ และลงเอยด้วยการมาอยู่กับพรรคทักษิณ
ในยุคที่ เกรียง และ ตระกูล กัลป์ตินันท์ ขึ้นหม้อใหม่ๆ สามารถส่งน้อยชายอย่าง กานต์ กัลป์ตินันท์ ปักธง นายก อบจ. อุบลราชธานีได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2563 หักด่านฝ่าตระกูล “โควสุรัตน์” ที่ส่ง “นายกแอนสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และ พรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี ขณะเดียวกันในสนามท้องถิ่น ตระกูล กัลป์ตินันท์ พยายามปักฐานให้มั่นคง โดย พิศทยา ไชยสงคราม ลูกสะใภ้ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานีด้วย เลือกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก๊กที่พยายามยึดฐานที่มั่นในอุบลราชธานี
ขณะเดียวกันมีข้อมูลจาก พิทักษ์ชัย จิตจันทร์ อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของการเมืองอุบลราชธานีแบ่งเป็น 4 ขั้ว คือ 1.ขั้วตระกูลกัลป์ตินันท์ ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุนลงรักษาเก้าอี้นายก อบจ ภายใต้การนำของ กานต์ กัลป์ตินันท์
คู่แข่งคนสำคัญก็คือ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มตระกูล หวังศุภกิจโกศลอาจส่ง จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล หรือ มาดามกบ อดีต สส.นครราชสีมา น้องสะใภ้กำนันป้อ และมีกองหนุนอย่างพรรคไทรวมพลังที่สามารถเจาะอุบลราชธานีในสนามเลือกตั้ง สส. ปี 2562 ได้ถึง 2 เขต และยังมี สส. รำพูล ตันติวณิชชานนท์ พรรคไทยสร้างไทย เป็นอีกแนวร่วม ซึ่งคงพกความมั่นใจไว้ไม่น้อย
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มพรรคภูมิใจไทยที่ได้ สส. ถึง 3 คน ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตา
ขณะที่ พิทักษ์ชัย ให้ข้อมูลเพิ่มว่า กลุ่มตระกูลหวังศุภกิจโกศล น่าจะจับมือกับภูมิใจไทยในสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. หาก มาดามกบ เอาจริง ก็จะมี “เจ๊รวย” สุขสมรวย วันทนียกุล สส.อำนาจเจริญ สายตรงเนวิน ชิดชอบ เป็นกองหนุน เพราะเจ๊รวย ดูแล สส.อุบลราชธานี สายสีน้ำเงินกลายเป็นว่ากลุ่มที่ 2 อาจจะจับมือกับกลุ่มที่ 3 หากเพื่อไทย หนุนกลุ่มที่ 1 ลงปักธงนายก อบจ. อุบลราชธานี
ขณะที่ สมคิด เชื้อคง ให้ข้อมูลว่า พรรคเพื่อไทยจะส่ง กานต์ ลงแข่งขันนายก อบจ. อุบลราชธานีเช่นเดิม แต่ในการคุยกับพรรคร่วมในพื้นที่คงต้องให้ กานต์ ไปคุยเอง
แต่ก็มีอีกกระแสข่าวว่า คุณสมบัติของ กานต์ ก็ยังเป็นที่กังขา ต้องรอลุ้นว่าจะสะดุดคดีหรือไม่ เพราะมีการยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการจัดทำและการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566-2568 ของ อบจ. อุบลราชธานี ขณะที่ กานต์ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. อยู่ ว่าส่อไปทางทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง กรณีทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และมีข้อร้องเรียนเรื่องดังกล่าวใช้วิธีจัดหาเป็นการตกลงราคากับผู้รับเหมาที่เป็นพรรคพวกของตนเองหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม รวมงบประมาณทั้งหมด 669,172,200 บาท จำนวน 1,083 โครงการ หรือไม่
กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มของพรรคประชาชน พิทักษ์ชัย ให้ข้อมูลว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ฐานเสียงกลุ่มเดิมบวกกับฐานเสียงใหม่ที่เบื่อระบบการเมืองแบบเดิม จะส่งคนปักธง นายก อบจ. เช่นเดียวกัน
เรียกได้ว่าสนาม อบจ. อุบลราชธานีน่าติดตาม เพราะมีหลากหลายกลุ่ม มีการจับมือของหลากฝักหลายฝ่าย เพราะอุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่ที่ทุกๆ พรรคต้องการใช้เป็นฐานคะแนนเสียงนั่นเอง
อ้างอิง
Theisaanrecord / คมชัดลึก / SilpaMag 1 / SilpaMag 2 / กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง