SHORT CUT
"พิเชษฐ์" ยอมรับให้ "พิศาล" ลาประชุมเดือนตุลาคม ไม่ทราบเรื่องคดีตากใบกำลังจะหมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคม รวบรวมท่าทีพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องนี้ สุดท้ายจะเอายังไงกับแผลใจคนปลายด้ามขวาน?
วันที่ 5 ตุลาคม 2567 หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวของ สส.พรรคฝ่ายค้าน กดดันไปยังพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง "พรรคเพื่อไทย" ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา กับท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อการตามตัว "พล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ปัจจุบันเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ให้กลับมารายงานตัวตามหมายจับในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น จากการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 ตามหมายจับจังหวัดนราธิวาสนั้น
ล่าสุด นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ภายหลังมีการเปิดเผยว่านายพิเชษฐ์ เป็นผู้ลงนามอนุมัติใบลาของ พล.อ.พิศาล นั้น นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า พล.อ.พิศาล อ้างเหตุว่าป่วยและเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ สส.ทุกคนสามารถลาประชุมได้ เรื่องนี้เป็นคนละเรื่อง และเรื่องอื่นตนเองไม่เกี่ยว และย้ำว่า สส.ทุกคนในสภามีสิทธิลาได้ ทั้งลาป่วย ลากิจ หรือลาไปทำธุระ และในสัปดาห์หนึ่งมีคนลากว่า 20-30 คน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ในหนังสือขอลาประชุมสภา กำหนดเวลาวันที่ 26 สิงหาคม - 30 ตุลาคม 2567 นั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ศาลฯ รับฟ้องคดีตากใบ นายพิเชษฐ์ ระบุว่า "ตนไม่ทราบ เป็นสิทธิส่วนบุคคล"
เมื่อไปดูท่าทีอื่นๆจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เคยกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่จี้ถามเรื่องการตามตัว พล.อ.พิศาล ให้สนใจเรื่องน้ำท่วมดีกว่า หรือการตอบกระทู้ถามสดของนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับคดีนี้ และเสียใจกับเหตุที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย รวมถึงรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เคยจ่ายเงินเยียวยาแล้วรายละ 7 ล้านบาท ลดหลั่นตามความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น
.
ส่วนการตามตัวผู้ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ขอให้ใจเย็น หากมีหลักฐานว่าตำรวจดึงคดีตนก็พร้อมตรวจสอบให้ พร้อมให้ความเป็นธรรมทั้งญาติผู้เสียชีวิตและผู้ถูกกล่าวหา
25 ตุลาคม 2567 นี้เท่านั้น คือเส้นเวลาที่ต้องนำบุคคลตามหมายจับขึ้นศาลให้ได้ หากล่วงเลยไปก็จะไม่สามารถดำเนินคดีต่อใครได้เนื่องจากคดีหมดอายุความแล้ว ซึ่งโศกนาฏกรรมนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คน บาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจเป็นพันคน หลายคนต้องพิการตลอดชีวิตและอยู่อย่างทรมาน เป็นบาดแผลใจของคนชายแดนใต้ที่ต้องการความเป็นธรรม และความยุติธรรม