SHORT CUT
20 ปีตากใบ คนยังไม่ลืม จะมีความยุติธรรมปรากฏหรือไม่? นับถอยหลังคดีหมดอายุความ 25 ต.ค. นี้ ชาวบ้าน-ทนายขอลุยฟ้องเอง แม้โอกาศไปต่อจะริบหรี่
หากย้อนกลับไปในวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่ปลายด้ามขวานไทย จังหวัดนราธิวาส ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ ที่ทำให้ปัญหาชายแดนใต้ยังคงคุกรุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะที่อำเภอตากใบ เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมผู้ที่มาเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม
เหตุการณ์วันนั้น เจ้าหน้าที่มีการคุมตัวผู้ชุมนุมนับพันขึ้นรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี แต่ระหว่างเดินทางผู้ชุมนุมถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าทับกัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจให้กับญาติของเหยื่อจนถึงทุกวันนี้
ในปีนี้ วันที่ 25 ต.ค. 2567 จะเป็นวันครบรอบ 20 ปี โศกนาฏกรรมที่ตากใบ และเป็นวันหมดอายุความของคดีนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐทำแค่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และจ่ายเงินเยียวยาญาติของผู้เสียชีวิต แต่ในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
ในงานครบรอบ 19 ปีเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีการพูดคุยกันระหว่างผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตถึงคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความ ทุกคนยังต้องการทราบข้อมูลส่วนของคดีอาญา การหาผู้กระทำความผิดมีความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง ความจริงคืออะไร ซึ่งสุดท้ายยังไม่มีใครให้คำตอบได้ ทางชาวบ้านและทนายชาวบ้านจึงเริ่มเกิดความพยายามต้องการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาด้วยตัวเอง ขึ้นก่อนที่คดีจะหมดอายุความ
แต่หนทางของการต่อสู้คดีนี้ ยังเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะมีบางฝ่ายต้องการให้คดีล่าช้าออกไป จนหมดอายุความ ซึ่งทีม SPRiNG ขอพามาฟังเสียงของชาวบ้านและภาคประชาสังคม ที่ยังคงฮึดสู้อยู่ แม้โอกาสที่ชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรมจะริบหรี่ก็ตาม
ในปี 2547 ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ก่อนที่จะมีประโยคที่สังคมจดจำ จากคำพูดของ ‘นายทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า “โจรกระจอก. พร้อมมีการประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึก จากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้ว ในบางพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี
หลังจากนั้น ช่วงเช้าตรู่ของ 28 เม.ย. 2547 ได้เกิดเหตุ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการ ของเจ้าหน้าที่สิบจุด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน มีผู้เสียชีวิตรวม 108 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 คนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอีก 32 คน คือกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตขณะเข้าไปหลบภัย ในมัสยิดหรือเซะ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมนาน 9 ชั่วโมง และใช้อาวุธหนักยิงถล่ม
และแล้วก็มาถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุ ประชาชนประมาณ 2,000 คนได้มารวมตัวกัน บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชาวมลายูมุสลิม 6 คน ที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ถูกกล่าวหาว่า มอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ
เมื่อเจรจาไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมมีการขว้างปาก้อนหิน และพยายามจะบุกสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง ส่งผลให้ผู้ชุมนุม 7 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ
ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร ส่งผลให้มี 85 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับ หรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยทหาร และต่อมามีการส่งตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งชุมพรและสุราษฎร์ธานี เพื่อควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน
สรุปคือ เหตุการณ์ปล้นปืน จนถึงโศกนาฏกรรมตากใบ ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่แม้จะมีการลดระดับในบางครั้ง แต่อำนาจของเจ้าหน้าที่ ก็ยังมากเป็นพิเศษเหมือนเดิม
หลังจากทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 58 คน ในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ แต่ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมดโดยอ้างเหตุว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ส่วนการสอบสวนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง แต่ข้อเท็จจริงที่ คณะกรรมการเสนอต่อรัฐบาลไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยในสาธารณะ แต่มีการสรุปว่า วิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพราน ซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องยังละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียงผู้ชุมนุมอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตามที่คณะกรรมการระบุถึงแต่อย่างใด มีเพียงแต่รายงานข่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่นเพียงเท่านั้น
ส่วนวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งไต่สวนการตายว่า เป็นเพราะขาดอากาศหายใจเพียงเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงความผิดของเจ้าหน้าที่ชัดเจน และวันที่ 17 สิงหาคม 2555 รัฐจ่ายเยียวยาและค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บประมาณ 700 ล้านบาท แต่เป็นการทยอยแบ่งจ่าย
วันที่ 11 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จัดวงพูดคุยเรื่อง ‘20 ปีตากใบ ความหวัง ความท้าทาย ในวันที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องรัฐ ก่อนจะหมดอายุความ’ ซึ่งมีตัวแทนจากชาวบ้าน ทนายความที่ทำคดี มาพบสื่อมวลชนด้วย
ซึ่งเวลานี้ ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ดำเนินการฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง พร้อมกับทีมทนายความจาก 1) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 2) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ 3) ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ
โดยฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับ การขนย้ายผู้ชุมนุมที่ตากใบ มี 9 คนดังนี้
‘อูเซ็ง ดอเลาะ’ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทางชาวบ้านและทนายลุกขึ้นมาฟ้องคดีนี้ ก่อนหมดอายุความในเดือนตุลาคมปีนี้ ว่า “เมื่อเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ หรือมีการทำให้เสียชีวิตใดๆ ก็ตาม ความที่เป็นคดีอาญา มันเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะรับหน้าที่ตรงนี้ ในการที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เองกลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย เข้าใจว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ที่ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง เป็นข้าราชการระดับสูง
“ในส่วนของชาวบ้านเอง ที่ทำได้ก็คือการรำลึกถึงเหตุการณ์เท่านั้น แต่เมื่อแอมเนสตี้ลงพื้นที่ไปเมื่อปีที่แล้ว ทุกคนเห็นว่าระยะเวลามันใกล้แล้วนะ ชาวบ้านก็เลยเกิดการตื่นตัว แล้วก็ เอาวะ เมื่อมีช่องทางก็ลองดู เพราะว่าเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะสู้เรื่องนี้”
อูเซ็ง เล่าต่อว่า “ระยะเวลาเกือบ 20 ปี ไม่เคยเพียงพอที่จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบลบลืมเรื่องราวในวันนั้นออกไปจากความทรงจำ ขณะที่เวลาค่อยๆ เคลื่อนผ่านไป ก็แทบจะดับความหวังของพวกเขา เพราะเมื่อไหร่ที่คดีนี้มีอายุครบ 20 ปี ก็เท่ากับว่า ‘คดีหมดอายุความ’ และความยุติธรรมก็จะหายไปกับสายลม
“20 ปี ไม่ใช่แค่ตัวเลขอายุความคดีตากใบ แต่ยังเป็นอายุของกฎอัยการศึก กฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังซ้อนทับด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง และก่อนหน้านั้นยังมีกฎหมายมาตรา 44 ที่เพิ่งยกเลิกไป”
“น้ำหนักอันมหาศาลของกฎหมายพิเศษ กดทับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจและอภิสิทธิ์กับเจ้าหน้าที่รัฐเกินขอบเขต จนทำให้ประชาชนไม่สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้”
อูเซ็ง เล่าเพิ่มเติมว่า “สำหรับการลุกขึ้นสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียทุกคน ชาวบ้านได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยมีการพบปะพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้านอีกครั้ง และมีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะร่วมฟ้องคดีด้วยประมาณ 48 คน ประกอบด้วยญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม จากนั้นจึงยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567”
ขณะที่ ‘ซาฮารี เจ๊ะหลง’ ตัวแทนภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามและการดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ จากการพยายามตีแผ่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เล่าเปิดจับสื่อมวลชนว่า “ผมเองอยู่ในพื้นที่ก็ทำสื่อด้วย ในฐานะคนทำสื่อก็ถูกคุกคาม เราทำเรื่องคนหายก็ถูกเรียกตัวเข้าไปสอบในค่ายทหาร จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังถูกดำเนินคดีจากการทำสื่อ จากการทำกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ ก็ถือว่าพัฒนาขึ้นจากการเรียกไปสอบในค่าย ทำให้สูญหาย หรือการวิสามัญ ก็มาสู่การใช้กฎหมายเข้ามาเล่นงาน”
เมื่อถามว่า คดีผ่านไปเกือบ 20 ปี ทำไมชาวบ้านถึงเพิ่งมาฟ้อง ซาฮารีเล่าว่า “คดีตากใบ ทำไมถึงเพิ่งฟ้อง มันเป็นความกลัวของชาวบ้าน ในขณะที่อำนาจรัฐที่มีอยู่ก็พยายามทำให้ประชาชนลืมเรื่องนี้ไป ถ้าพูดตรงๆ ก็คือความผิดพลาดจากนโยบายของรัฐ รัฐไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ซ้ำยังกดทับไม่ให้ประชาชนจำได้ว่านี่คือความผิดพลาดของเขา และในคดีอื่น ก็มีการกดดันจนผู้พิพากษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ฆ่าตัวตายมาแล้ว”
“อีก 3 เดือน ก็จะครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ เราจึงรวมตัว พูดคุยกันว่าเราจะให้มันจบโดยไม่เดินเรื่องอะไรเลยเหรอ หรือเราจะลองสู้เพื่อความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนที่เสียชีวิตแล้ว”
ซาฮารี ย้ำด้วยว่า “แม้ไม่มีความยุติธรรมในคดีตากใบ ก็ยังต้องสู้กันต่อ ยังมีอีกหลายเรื่องต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี และการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แม้มีกลุ่มคนเลือกใช้ความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่ในฐานะประชาชนต้องยึดมั่นแนวทางสันติวิธี”
ขณะที่ ‘พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ’ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เริ่มกล่าวถึงเส้นทางสู่ความยุติธรรม ที่ทั้งยาวไกลและเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะจำเลยทั้ง 9 คน ต่างก็งัดสารพัดกลยุทธ์ทางกฎหมาย เพื่อชะลอให้การพิพากษาช้าที่สุด จนกระทั่งหมดอายุความไปเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองไม่ใช่แค่เทคนิคทางกฎหมายของจำเลยเท่านั้น แต่ดูเหมือนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะไม่เอื้อให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้รับความเป็นธรรมสักเท่าไร
พรเพ็ญเล่าว่า “ถ้ามีคนตายโดยผิดธรรมชาติ มันจะมี 2 สำนวน คือสำนวนไต่สวนการตาย และสำนวนที่เกี่ยวข้องกับใครทำให้ตาย เพราะมันเป็นอาญาแผ่นดิน ทีนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราก็แทบจะไม่รู้ความคืบหน้าของคดี แต่พอชาวบ้านจะฟ้องเองขึ้นมา ตำรวจก็รีบทำสำนวนขึ้นมา ในระยะเวลาเดียวกับที่ทีมทนายกำลังรวบรวมพยานหลักฐาน ในความเข้าใจของชาวบ้าน ในระยะเวลา 20 ปี ไม่เคยมีใครเรียกพวกเขาไปสอบปากคำเลย แล้วพอเขาลุกขึ้นมาจะดำเนินคดี ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ ชาวบ้านก็รู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขู่คุกคาม ตำรวจอ้างว่าเรียกมาสอบสวนในฐานะพยาน ก็เลยทำให้ชาวบ้านบางส่วนก็มีถอนไปบ้าง บางส่วนก็รู้สึกว่าต้องอาศัยความกล้ามากเป็นพิเศษ เพราะว่าถูกคุกคามต่อเนื่อง และนอกจากตำรวจซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมแล้ว อัยการก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่มีความผิดปกติ เพราะหลังจากที่ตำรวจไม่ฟ้องคดี ญาติของผู้เสียชีวิตได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ให้พิจารณาฟ้องสำนวนคดีของพนักงานสอบสวน ปรากฏว่าสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งมาว่าให้ประชาชนยุติการร้องขอความเป็นธรรม”
แบมะ (นามสมมุติ) ผู้ซึ่งสูญเสียพี่ชายคนโตในเหตุการณ์ตากใบเล่าว่า “สิ่งที่ยังคาใจก็คือการเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ผมขอถามว่า คนที่เสียชีวิตมีไหมที่ไม่ขาดอากาศหายใจ จริงๆ แล้วการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยตรง ที่ทำให้ 85 ศพ เสียชีวิตวันนั้น กี่เปอร์เซ็นต์ที่โดนยิง เพราะว่าพี่ชายของผม ถ้าไม่เอาศพกลับ ไม่รู้เลยว่ามีร่องรอยถูกยิง 2 ที่ แล้วก็คนในหมู่บ้านนั้น เสียชีวิต 4 คน ทุกคนคอหักหมดเลย โดนอะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าศพที่เอากลับ ลูบอาบน้ำศพ ลูบแรงๆ ก็ไม่ได้เลย เพราะว่าบวม จำหน้าก็ไม่ได้ แต่ว่าพี่ชายผมจำได้เพราะมีแหวนติดนิ้วอยู่”
“สำนวนคดีที่เสียชีวิต 85 ศพ ไม่ใช่คนเดียว แต่สำนวนคดีไม่รู้ไปไหน ทำไมรัฐไทยไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โยนไปโยนมา สภ.ตากใบ บอกว่าไป สภ.หนองจิก โยนไปอัยการ ทำให้ชาวบ้านที่เสียชีวิตและพิการ ยังค้างคาใจ ว่าคนทำผิด คนร้ายยังลอยนวล อีก 3 เดือนอายุความก็จะจบ ครบรอบเหตุการณ์ตากใบ เราจึงรวมตัวพูดคุยกันว่าจะให้จบโดยไม่เกิดเรื่องอะไรเลยหรือ หรือจะลองสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้คนที่เสียชีวิต ที่เขากลับมาบอกเราไม่ได้ว่าเขาถูกทารุณกรรม เพราะการขนย้ายวันนั้น ชาวบ้านยังพูดปากต่อปากเลยว่าเหมือนสัตว์ จับแขนไขว้หลังกัน ให้นอนทับกัน 4-5 ชั้น ทำไมให้ทำอย่างนั้นในเดือนถือศีลอด เหมือนจงใจทำ ชาวบ้านคิดอย่างนั้น”
แบมะย้ำว่า “ความจริงชาวบ้านยอมรับการเสียชีวิต เพราะเราหนีการเสียชีวิตไม่พ้น แต่เราต้องการรู้ความจริงของการเสียชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ใช่การทำให้เสียชีวิตแต่อ้างว่าขาดอากาศหายใจ แต่ที่จริงแล้วเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ต้องการคำขอโทษที่จริงๆ ไม่ใช่แค่ลมปาก และหากสิ้นอายุความ หรือมีคำสั่งว่าการฟ้องร้องของชาวบ้านนั้นไม่มีมูล ชาวบ้านก็จะยิ่งค้างคาใจ และความรู้สึกคงจะยิ่งแย่ลง”
ส่วนทางด้าน ‘ทนายอูเซ็ง’ เมื่อถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมได้ในที่สุด เขาตอบว่า “อย่างน้อย อาจช่วยให้อำนาจของกฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความรุนแรงน้อยลง เจ้าหน้าที่จะกระทำการใด ต้องมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น รวมไปถึงปัจจุบัน สถานการณ์การวิสามัญฆาตกรรมมีกราฟที่สูงมาก ถ้าคำสั่งตรงนี้มันมีผล ก็คิดว่าอัตราการวิสามัญฆาตกรรมก็อาจจะตรวจสอบได้ และความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมก็จะดีขึ้น”
แต่ทนายอูเซ็งยังมองว่า เป็นเรื่องที่อีกยาวไกลที่ จะเอาผิดจำเลยทั้ง 9 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวันนั้น แต่เพียงแค่ศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ก็เท่ากับว่าคดีของประชาชนชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว
ส่วนทางด้าน” ซาฮารี’ ตัวแทนภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้ บอกว่า “มันมีสำนวนฝรั่งที่บอกว่า No justice, No peace หากปราศจากซึ่งความยุติธรรมก็ไม่มีสันติภาพ แต่ว่าพื้นที่บ้านเราก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า เพราะว่ายังให้ความเป็นธรรมกับประชาชนไม่ได้ ซึ่งถ้าคดีตากใบทำให้เห็นได้ จะทำให้เห็นถึงความสนใจของนโยบายของรัฐต่อประชาชนที่รัฐเรียกเต็มปากว่าเป็นประชาชนของตัวเอง”
“ประเด็นคือความจริงใจตรงนี้มันเป็นนามธรรม มันจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็ด้วยการปฏิบัติของรัฐ มันต้องทำให้เห็น อย่างน้อยมันต้องคลี่คลาย แต่ในทางปฏิบัติมันยังมีอุปสรรค ทำให้ยังไม่สามารถทำให้ความยุติธรรมประสบความสำเร็จได้ ผมคิดว่าถ้าแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ก็คงยาก”
เมื่อถามถึงกรณีที่สุดท้ายสู้ไป ก็ไม่ได้รับความยุติธรรม ซาฮารี ตอบว่า คงทำอะไรไม่ได้นอกจากต่อสู้เรื่องอื่นด้วยสันติ วิธีต่อไป แต่ก็ยังแอบหวังว่า รัฐบาลเพื่อไทยที่มาจากประชาชนจะมีบทบาทเข้ามาดูแลเรื่องผู้เสียหายในเหตุการณ์ตากใบมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาทหารแก้ปัญหามา 20 ปี ใช้งบ 50,000 กว่าล้าน แต่ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เลยอยากให้รัฐบาลพลเรือนช่วยบ้าง
ส่วนทาง ฝั่ง ‘ชนาธิป ตติยการุณวงศ์’ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ได้เสนอสนอว่า การเยียวยาด้วยเงินของรัฐ เป็นแค่การรับผิดชอบส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การเยียวยาประชาชนที่แท้จริงต้อง เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิของการเข้าถึงการเยียวยา ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ ดังนี้
ชนาธิปทิ้งท้ายว่า หลายครั้งเวลารัฐอยากลองใช้มาตรการอะไร มักจะเอามาใช้กับภาคใต้ก่อน ซึ่งตากใบเป็นหนึ่งในห้องทดลองสลายการชุมนุมของรัฐ ก่อนนำมาใช้จริงในกรุงเทพ ดั่งที่เห็นในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. หรือขบวนการนักศึกษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่รัฐไทยไม่เคยเรียนรู้เลยว่ามันไม่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง