svasdssvasds

อสส.สั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย" กับพวกรวม 8 คน คดีวิสามัญฯ ตากใบ 78 ชีวิต

อสส.สั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย" กับพวกรวม 8 คน คดีวิสามัญฯ ตากใบ 78 ชีวิต

อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร" กับพวกรวม 8 คน คดีวิสามัญฯ ตากใบ 78 ชีวิต ขณะที่คดีจะหมดอายุความ 25 ต.ค.67 นี้

วันที่ 18 ก.ย. 2567 เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย และ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงกรณีอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีตากใบ

นายประยุทธ กล่าวว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา จาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ซึ่งทั้งสองคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมตัวนายกามา กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหาที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์

อสส.สั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย" กับพวกรวม 8 คน คดีวิสามัญฯ ตากใบ 78 ชีวิต

ต่อมาวันที่ 25 ต.ค. 2547 เวลา 10.00 น. มีกลุ่มมวลชน 300-400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งพื้นที่อำเภอตากใบในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาของผู้ต้องหาทั้ง 6 คน มาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไข เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที พร้อมทั้งโห่ร้อง ขับไล่ ยั่วยุเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์วุ่นวายได้เพิ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรม (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกกำลัง จากหน่วยต่างๆ และจัดรถบรรทุก 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40 - 50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19.00 น. นำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.00 น. เมื่อนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน

โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 8 เป็นพลขับ โดยมีผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้ง 2 คดีมีรายละเอียด ดังนี้

  1. สำนวนวิสามัญฆาตกรรมมี พ.ต.อ.พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหา มีผู้ต้องหา ทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 คดีดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่

   2. สำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน ต่อมาในระหว่างไต่สวนได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย

และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ และในปี 2548 พนักงานอัยการ ได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาล พร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ฆ่าตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย

อสส.สั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย" กับพวกรวม 8 คน คดีวิสามัญฯ ตากใบ 78 ชีวิต

   3. หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของ ศาลจังหวัดสงขลาจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ส่งผลสอบสวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุด ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567

ต่อมา วันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถ เพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม

โดยผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 7 รู้อยู่แล้วว่า จำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว

 

เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 8 มารับข้อกล่าวหาตามข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดได้แจ้งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร. เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 8 พร้อมแจ้งสิทธิและพฤติการณ์แห่งคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 134 และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยอีกว่า ส่วนสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ตัวผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียงพลเอกเฉลิมชัย เป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันทั้งในสำนวนคดีของตำรวจและคดีของราษฎร ส่วนจะมีรวมสำนวนคดีทั้งของตำรวจและราษฎรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล สำหรับการพิจารณาในเรื่องของอายุความ ขึ้นอยู่กับที่ศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้แล้ว ในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีข้อมูล

อสส.สั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย" กับพวกรวม 8 คน คดีวิสามัญฯ ตากใบ 78 ชีวิต

 

สำหรับสำนวนคดีของราษฎร ซึ่งมี พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ต้องหานั้น ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้ง มีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้พลเอกพิศาล แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้พลเอกพิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่คดีตากใบใช้เวลาพิจารณาในชั้นพนักงานสอบสวนก่อนมาถึงชั้นอัยการนาน จนใกล้จะหมดอายุความในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ มาจากเหตุผลใดแต่ยอมรับว่าคดีนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ใช้เวลาจนเกือนจะหมดอายุความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้จะหมดอายุความ 20 ปี ในอีกประมาณ 1 เดือน คือวันที่ 25 ต.ค. 2567 นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related