SHORT CUT
สมาชิกวุฒิสภา ไทย จากลากตั้งสู่ระบอบเลือกกันเอง เป็นอย่างไรต้องไปดูย้อนรอยประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คุณคิด
ปรี๊ด เริ่ม!!! สัญญาณไฟเขียวเตรียมเลือกตั้ง (กันเอง) ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไทยกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะงบ 227,105,500 บาท เป็นค่าใช้จ่าย กำหนดวันเลือกระดับประเทศ 26 มิ.ย. 67
มีการเปิดรับสมัครผู้ประสงค์ดำรงตำแหน่ง สว.ในวันที่ 13 พ.ค. เลือกระดับอำเภอ 9 มิ.ย. เลือกระดับประเทศ 16 มิ.ย. เลือกระดับประเทศ 26 มิ.ย. และประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็น สว.ในวันที่ 2 ก.ค.2567 เล่นเอาการเมืองไทยคึกคักอีกครั้งหนึ่ง แต่คำถามที่ตามมาว่าเอ๊ะ สว.ไทยรอบนี้ท่านได้แต่ใดมา อ้อประชาชนนั้นหนาไม่ได้เลือกท่านนั้นไซร้
>>>>>>>ดูไทม์ไลน์ เลือกตั้ง สว. 67 หลัง ครม.ไฟเขียวร่าง พรฎ. เคาะงบให้กกต. 227 ล้าน
เล่นเอาหลายคนงงงวยกันใหญ่นึกว่าจะได้เลือกตั้ง สว.กันสะแล้ว แต่เชื่อไหมครับว่าระบบประหลาดนี้ไม่ใช่ผิดแปลกอะไรไปจากเมืองไทย ถ้าหากย้อนไปในอดีตเพื่อนๆ จะรู้ว่า สว.ไทยบางอารมณ์มาจากการแต่งตั้งบ้าง เลือกตั้งบ้าง เป็นเรื่องปกติ
SPRiNG พาเพื่อนๆ ย้อนไปชมประวัติศาสตร์ สว.ไทย จากรากตั้งสู่ระบอบเลือกกันเอง จะเป็นอย่างไรไปชมพร้อมๆ กัน
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยคณะราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475) และรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475) มีสมาชิกผู้แทนราษฎรทำหน้าที่นิติบัญญัติเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นยุคตั้งไข่ของระบอบประชาธิปไตย ทำให้ต้องเริ่มต้นสร้างแนวคิดหรือจัดรูปแบบอำนาจเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
แต่ในสมัยการบริหารประเทศของคณะราษฎรสาย ปรีดี พนมยงค์ ได้มีแนวคิดในการจัดโครงสร้างทางการเมืองให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีกลไกที่เรียกว่า “สภาผู้แทนประเภทที่สอง” หรือ “สภาพี่เลี้ยง” โดยโอนสภาผู้แทนประเภทที่สองเปลี่ยนเป็นสมาชิกพฤฒสภา (พรึด-สะ-พา) โดยทำหน้าที่เป็นสภาสูงในรัฐสภาไทย ในปี พ.ศ.2489
โดยผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นพฤฒสภาต้องมีคุณสมบัติ คือ 1) จะต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ 2) อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี บริบูรณ์ 3) มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าอย่างน้อยห้าปี หรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือ สส.มาแล้ว (มาตรา 24 วรรคสอง และมาตรา 25)
สะท้อนให้เห็นว่าในยุคนั้นมีแนวคิดเรื่องสภาสูงต้องมีวัยวุฒิ และคุณวุฒิด้วย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์การเมืองจากภายนอกประเทศเริ่มคลายตัวลง ทำให้การเมืองในประเทศไทยตึงเครียดอีกครั้งเกิดการรัฐประหารที่นำโดยนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในปี 2490 มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารมาประกาศใช้ โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 มาตรา 33 กำหนดให้ สว. (เปลี่ยนคำเรียกจากพฤฒสภามาเป็นวุฒิสภา) มีจำนวน สว. ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี วาระแรกเมื่อครบกำหนดสามปีให้มีการเปลี่ยนสมาชิกออกกึ่งหนึ่งโดยการจับสลาก
ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาของ สว. ก็ได้เปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ 2492 มาตรา 82 โดยกำหนดให้มีวุฒิสภา 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
ภายหลัง สว.ชุดที่สองก็สิ้นสุดลงเนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐประหารตัวเองในปี 2494 มีการนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ช่วงหนึ่ง และแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2494 โดยกำหนดรูปแบบของรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว มีแค่สภาผู้แทนราษฎร โดยบทเฉพาะกาล กำหนดให้ สส.มีสองแบบ คือแบบที่ 1 มีที่มาจากการเลือกตั้ง และแบบที่ 2 มีที่มาจากการแต่งตั้ง
เท่ากับว่าในยุคนี้มีจุดเปลี่ยนคือเปลี่ยนจากคำว่า พฤฒสภา มาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขณะเดียวกันในยุคจอมพล ป. เป็นการพยายามใช้รับธรรมนูญ 2475 อีกครั้งให้เหมือนในยุคที่สภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งและจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เพื่อฝ่ายบริหารจะได้คุมฝ่ายนิติบัญญัติได้ง่ายจากการมีสมาชิกในสภานิติบัญญัติอยู่ครึ่งหนึ่งนั่นเอง
หลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร จอมพล ป.ในปี 2500 รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2494 ถูกยกเลิกไป และมีการบังคับใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ จำนวน 200 คน ทำหน้าที่ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
หลังใช้รัฐธรรมนูญ 2502 ไปได้เก้าปีกว่า รัฐธรรมนูญ 2511 ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ สสร. ได้ประกาศใช้ ในมาตรา 78 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2511 จะมีจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทน พูดง่ายๆ คือมีมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งได้ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี นับแต่เริ่มดำรงตำแหน่ง ให้มีการจับสลากออกกึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ 2511 มาตรา 177 ยังกำหนดไว้ว่าภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง สว. มีจำนวน 120 คน เมื่อได้มีการเลือกตั้ง สส.แล้ว ให้เพิ่มหรือลดจำนวนสว. ให้มีจำนวนเท่ากับที่กำหนดในมาตรา 78 แต่ในภายหลังการรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514 ส่งผลให้วุฒิสภาชุดนี้สิ้นสุดลง
เท่ากับว่าในยุคดังกล่าวอำนาจ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจมากกว่า สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นว่ากลไกควบคุมนิติบัญญัติที่เผด็จการเลือกใช้คือ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั่นเอง
หลังการรัฐประหารในปี 2514 ต่อมาปลายปี 2515 ก็มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 299 คน มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ภายใต้ช่วงเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เรียกได้ว่าเป็นยุคเผด็จการทำให้เกิดเหตุการณ์เดือนตุลาขึ้น
คือในเดือนตุลาคม ปี 2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลถนอม จนนำมาสู่เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2517
ที่มาของ สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน ผู้ที่จะเป็น สว. ต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งกำหนดอายุขั้นต่ำไว้กว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2517 มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละหกปี นับแต่ตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และเมื่อครบสามปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีการจับสลาก (มาตรา 108) อย่างไรก็ดี วุฒิสภาชุดนี้ทำงานได้ปีกว่าๆ ก็ถูกยุบไปเมื่อมีการรัฐประหารในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้งในยุคที่ฝ่ายขวากำลังหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารและใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ในเย็นวันเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ก็เข้ายึดอำนาจและแต่งตั้งให้ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เวลา 16 วัน ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2519 โดยมีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
รัฐธรรมนูญ 2519 ใช้ได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกไปเนื่องจากมีการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ตามมาด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520 กำหนดให้มี สนช. ไม่น้อยกว่า 300 คนแต่ไม่เกิน 400 คน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และส่งกลับให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาสามวาระ จนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2521 ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดรูปแบบรัฐสภาเป็นสภาคู่ มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
โดยวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการ หรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีจำนวนไม่เกิน 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่จะเป็น สว. ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ในมาตรา 85 กำหนดอีกว่า สมาชิกภาพของวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปี นับแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบสองปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดโดยวิธีการจับสลาก และเมื่อครบกำหนดสี่ปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ให้วุฒิสภาในจำนวนที่เหลือจากการจับสลากออกเมื่อครบสองปีแรก ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของจำนวนดังกล่าวโดยวิธีจับสลาก หากจำนวนที่คำนวณได้มีเศษให้ปัดทิ้ง และให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระด้วย ทั้งนี้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ที่จะออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกก็ได้
วุฒิสภาชุดนี้สิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
ภายหลังบรรยากาศทางการเมืองในช่วงปี 2534-2539 ส่งผลให้เกิดกระแสการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 ปี 2539 บัญญัติเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มี สสร. จำนวน 99 คน มาจัดทำรัฐธรรมนูญ จนประกาศเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2540 ได้ประกาศใช้ และภายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทำให้พัฒนาการของที่มา สว. มีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 200 คน การเลือกตั้งวุฒิสภาให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยใช้วิธีคำนวณจำนวน สว. ต่อเขตเลือกตั้งจากจำนวนราษฎร เหมือนการคำนวณจำนวน สส. และ สว. จะมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
ผู้ที่จะเป็น สว. ได้นั้นกำหนดว่าต้องมีสัญชาติไทย สำเร็จการศึกษาระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี เรื่องเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็น สว. ได้ กลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2589
เท่ากับว่าในยุคนี้ มีการกำหนดเรื่องเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็น สว. ได้ กลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2589 รัฐธรรมนูญ 2492 และรัฐธรรมนูญ 2511 และที่สำคัญยังให้ความสำคัญกับคุณวุฒิของสภาสูงที่ต้องมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีอีกด้วย
ภายหลังการรัฐประหาร ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 กันยายน 2549 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี สนช. ไม่เกิน 250 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และกำหนดให้มี สสร. จำนวน 100 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง สสร. ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และส่งกลับให้ สสร. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
19 สิงหาคม 2550 เป็นวันที่ลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน จนได้ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550
ที่มาของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ สว. เลือกตั้ง 100% แต่เปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งผสมสรรหา กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน ส่วนจำนวนที่เหลือมาจากการสรรหา เท่ากับว่าต้องคำนวณจำนวนทั้งหมด 150 คนหักลบจำนวนที่มาจากการเลือกตั้งจึงจะเท่ากับจำนวนที่มาจากการสรรหา โดยวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
โดย สว. มีสมาชิกภาพคราวละหกปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้งหรือวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหา โดยสว. จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้
โดยสรุปแล้วในสมัยนี้มี สว.จากการเลือกตั้ง 76 คน และจากการสรรหา 74 คน รวม 150 คน ก่อนที่จะเพิ่มจำนวน สว.อีก 1 คนจากจังหวัดบึงกาฬ กลายเป็นมี สว.จากการเลือกตั้ง 77 คนและ สว.จากการสรรหาจำนวน 73 คน
ภายหลังการรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบ คสช. รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ถูกประกาศใช้หลังการรัฐประหารผ่านไป 2 เดือนกำหนดให้มี สนช. ไม่เกิน 250 คนซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งโดยคำแนะนำของ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและมีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสำหรับทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
หลังการจัดทำประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 เกือบเจ็ดเดือนเต็มก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งตรงกับวันจักรี
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ
กลับกลายเป็นว่าในยุค คสช. มี สว. ที่มาจากการแต่งตั้งเต็มจำนวน เป็นทั้งไม้ค้ำองคาพยพ คสช.และภายหลังการเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญที่ชี้ชะตา กฎหมาย การแก้รับธรรมนูญ รวมถึงผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
สำหรับที่มาของวุฒิสภาหลังจาก สว.ที่ได้รับการแต่งตั้งกำลังจะหมดวาระ “วาระเริ่มแรก” รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดที่มาของ สว. ไว้ในมาตรา 107 ว่า วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
โดยให้ดำเนินการตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยจะกำหนดรายละเอียดของการแบ่งกลุ่มไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยกำหนดกลุ่มไว้ทั้งสิ้น 20 กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ กลุ่มอดีตผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มเกษตรกร กลุ่มลูกจ้าง กลุ่ม SMEs กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี กลุ่มสื่อ เป็นต้น
และกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่ม และอำเภอเดียวเท่านั้น
เมื่อย้อนดูวิธีการได้มาซึ่ง สว. แม้ในอดีตจะมีการออกแบบให้ สว. เป็นเครื่องมือควบคุมสภานิติบัญญัติ แต่ก็มีบางช่วงที่ สว.มาจากประชาชนอย่างเช่น ปี 2540 ที่ สว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลายเป็นกลไกที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย
แต่การออกแบบให้มี สว. จากการเลือกกันเองแบบงงๆ ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ เป็นวิธีการที่ยากและชวนสับสนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการออกแบบที่มาของ สว. จากการเลือกกันเองในบรรดาผู้สมัคร ยังมีประเด็นชวนให้น่าตั้งคำถามว่า วุฒิสภาที่มีที่มาแบบนี้จะมีความยึดโยงกับประชาชนมากน้อยเพียงใด และมากน้อยสักกี่คนที่จะยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
เพราะที่แน่ๆ การออกแบบให้งง สับสน วุ่นวาย สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง สส.มาแล้วที่ทำให้ระบบมีปัญหานำไปสู่ความวุ่นวายที่นำไปสู่การตีความโดยองค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน
อ้างอิง
ilaw / รัฐสภา / Decode / สถาบันพระปกเกล้า /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง