svasdssvasds

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw แฉ ตัดแปะลอกข้อมูลหลายแหล่งใส่เล่มจบด็อกเตอร์ ยอมรับตกหล่นอ้างอิงในบททบทวนวรรณกรรม แต่ได้แก้ไขแล้ว

SHORT CUT

  • iLaw เปิดหลักฐานแฉ สว.สมชาย แสวงการ ลอกข้อความจากหนังสือและบทความหลายแหล่งมาประกอบดุษฎีนิพนธ์ประกอบการศึกษาระดับปริญญาเอก
  • สว.สมชาย ออกมาโต้กลับ ยืนยันไม่ใช่การคัดลอกผลการวิจัย แต่เป็นข้อผิดพลาดในบททบทวนวรรณกรรม ที่ไม่ได้ใส่อ้างอิง ได้แก้ไขอย่างถูกต้องแล้วภายหลัง เป็นการทำวิจัยด้วยตัวเอง จ่อดำเนินคดีเหตุเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก
  • นายสมชาย แสวงการ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2565

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw แฉ ตัดแปะลอกข้อมูลหลายแหล่งใส่เล่มจบด็อกเตอร์ ยอมรับตกหล่นอ้างอิงในบททบทวนวรรณกรรม แต่ได้แก้ไขแล้ว

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยกับ Spring News หลังจาก iLaw โพสต์กล่าวหา ว่ามีการคัดลอกข้อมูลเพื่อมาเขียนดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกของตน “ไม่เป็นความจริง” ตนได้ทำงานงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์นี้เอง ในเรื่องการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งตนศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ในการเรียนกฎหมายมหาชน จนมาถึงการศึกษาปริญญาเอก ตนสนใจเรื้องนี้มาโดยตลอด โดยดุษฎีนิพนธ์นี้ ได้มีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง สสร.เก่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 และ 2560 , อดีต สส.และ สว.ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง, สัมภาษณ์ Focus Group นักวิชาการและประชาชน รวมถึงการออกแบบสอบถามแก่ประชาชนหลายร้อยคน เพื่อนำรัฐธรรมนูญ 2560 มาวิเคราะห์ร่วมกับฉบับที่ผ่านมาและบทความต่างประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น นายสมชาย เผยว่า เป็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่แก้ไขแล้ว คือการตกหล่นเชิงอรรถและบรรณานุกรม การอ้างอิงที่มาในบททบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยท่านหนึ่งของสถาบันแห่งหนึ่ง

”ซึ่งมีสองเล่ม แล้วเราก็ได้ทบทวนวรรณกรรมของทุกส่วน ทุกหน่วย ทุกท่าน แล้วเราก็ให้เครดิตทุกท่านมาตลอดรวมถึงท่านนี้ด้วย เพียงแต่ในเล่มที่สอง ที่ตกหล่นตอนพิมพ์เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน และเมื่อพบความผิดพลาดภายหลังก็ได้แก้ไข พร้อมได้รับการอนุมัติแก้ไขจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในภายหลังแล้ว“

นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนที่ถูกอ้างถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย แต่อยู่ในส่วนทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ซึ่งเป็นหลักวิจัยทั่วไป มีบทนำ มีการทบทวนวรรณกรรมทั้งในและต่างประเทศของงานวิจัยที่เราเห็นว่าดี เรายกย่องเอามาอ้างอิง แต่อันนี้ตนยอมรับว่าพิมพ์ตกหล่นจริง การพิมพ์ตกหล่นนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำ เราได้ขออนุมัติการแก้ไข และได้แก้ไขแล้ว สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของห้องสมุดธรรมศาสตร์ มีคำขออนุญาตแก้ไข และได้รับการอนุมัติแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

'สมชาย' แจง ทบทวนวรรณกรรมไม่ใช่การคัดลอก

นายสมชาย ย้ำว่า การทบทวนวรรณกรรมไม่ใช่งานวิจัย และเป็นหลักปกติที่ต้องทบทวน โดยนักวิชาการ นักวิจัยทุกคนหากอ่านดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้แล้วก็ย่อมรู้ว่าไม่ได้เป็นการคัดลอก หรือตัดแปะงานวิจัยตามที่ iLaw กล่าวหา เพราะการทบทวนวรรณกรรมคือการนำงานวิจัยของเขามาใส่แล้วอ้างอิงเชิงอรรถและบรรณานุกรม ในเล่มนี้มีการอ้างอิงมาตลอด แต่มีสองเล่มที่เขียนจากท่านเดียวกันจึงทำให้เกิดการตกหล่น เป็นความผิดพลาดทางเอกสารที่ตนยอมรับ แต่ได้รับการอนุมัติให้แก้ไขแล้ว จึงถือว่าครบถ้วนแล้ว ดังนั้นการที่ iLaw นำเสนอจึงถือเป็นการให้ข้อมูลอันทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรือเป็นข้อมูลเท็จทำให้ตนเสียหาย ระหว่างนี้กำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีหรือไม่

 

ส่วนที่มีการหยิบยกข้อเขียนของ iLaw มาประกอบ ก็เหมือนการนำข้อความจากหนังสือพิมพ์ หรือห้องสมุดวิชาการของ สว. มาประกอบ เราก็ให้เครดิตเขา เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์จึงนำมาใส่ เรื่องมีอยู่แค่นี้ ย้ำว่า “ไม่ใช่การคัดลอกตัดแปะวิทยานิพนธ์อย่างแน่นอน”

 

นายสมชาย กล่าวว่า ผู้ที่จะยืนยันได้คือ ผู้ถูกสัมภาษณ์ในงานวิจัย ผู้ร่วมกิจกรรมสัมมนา Focus Group ถึงสองครั้ง และงานวิจัยของตนยังอ่านได้ ดังนั้น การให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการบิดเบือนให้ข้อมูลอันเป็นเท็จและทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมเตือนว่าหากคิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทก็ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องเพราะเรื่องนี้ตนจะไม่ยอมแน่ เป็นการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิอย่างยิ่ง เพราะงานวิจัยนี้ตนทำเองอย่างแน่นอน ทำเพราะอยู่ในแวดวงนี้และศึกษาวิจัยมาตลอด

 

นายสมชาย ยังมองว่า การเลือกมาเปิดเผยข้อมูลในตอนนี้ตนก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร อาจเพราะใกล้เลือก สว.คนจึงค้นคว้าแล้วเจอ หรือมีวาระแอบแฝงทางการเมืองก็ได้ เพราะตนเป็นคนออกมาทักว่ามีกระบวนการฮั้วกันในการเลือก สว. มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มลงไปเคลื่อนไหวให้คนสมัครเพื่อมาเลือก สว. ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประสงค์รับสมัครผู้อยากเป็น สว. แล้ว กกต.ยังไม่ทำหน้าที่ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกันหรือไม่ แต่เกิดหลัง 2 วันที่ตนออกมาทักท้วงเรื่องนี้

ที่มาของข้อกล่าวหา iLaw จับโป๊ะ มีการลอกงานมาใส่ในเล่มวิจัย

โดยประเด็นนี้เกิดหลังจากที่ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เปิดเผยข้อมูลว่า ดุษฏีนิพนธ์ ของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ประกอบการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2565 โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต  มีการคัดลอกข้อความจากหนังสือ เอกสารทางวิชาการ งานวิทยานิพนธ์ ตลอดจนบทความของ iLaw มาประกอบเล่มจบด็อกเตอร์ของตัวเอง ทั้งแบบอ้างที่มาและไม่อ้างที่มา โดยพบว่าเป็นการคัดลอกในลักษณะการตัดแปะข้อความ พิมพ์เหมือนกันทุกตัวอักษร มีเพียงการสลับตำแหน่งกันเล็กน้อย

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

iLaw ระบุว่า เล่มดุษฎีนิพนธ์ของนายสมชาย มีความยาว 264 หน้า เพื่อสำรวจที่มาของ สว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า สว. ระบบ เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

 

ลอกงานสถาบันพระปกเกล้า

เมื่อตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย พบว่ามีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่น ๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

ตั้งแต่หน้า 38 ในดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย หัวข้อ 2.3.1 กลุ่มที่หนึ่ง: กลุ่มประเทศที่กำหนดให้ความเป็นตัวแทนของวุฒิสภายึดโยงกับพื้นที่” ไปจนถึงหน้า 64 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของบทที่สอง มีเนื้อหาตรงกับหน้าที่ 77-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า ในหน้า 38 ของดุษฎีนิพนธ์ของสมชายถึงกับลอกเอาเชิงอรรถของหน้า 77 ในหนังสือสถาบันพระปกเกล้ามาทั้งหมด

 

รูปแบบการลอกนั้นไม่ได้มีแค่การลอกทางตรงเท่านั้น ในหน้า 80 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า มีเชิงอรรถขนาดยาวที่อธิบายพลวัตของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในระบอบประธานาธิบดี งานวิจัยของสมชายก็ยกเอาเชิงอรรถทั้งหมดนี้มาใส่ในเนื้อหาในหน้า 40-41

 

ลอกทั้งหมดโดยแค่ใส่อ้างอิง

นอกจากการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

ยกตัวอย่างเช่น ในหน้า 65 ของดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาประเทศอังกฤษ” ห้าบรรทัดแรกของเนื้อหาเหมือนกับเนื้อหาส่วนแรกของงาน สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ในวารสารจุลนิติของ สว. เอง แม้ว่าจะมีการใส่เชิงอรรถถึงงานของปณิธัศร์ไว้ด้านล่าง แต่เนื้อหาก็เหมือนเกือบทั้งหมด หรือในหน้าที่ 66 ของดุษฎีนิพนธ์ก็มีการคัดลอกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Parliament Act 1911 จากงานของปณิธัศร์มาไว้ด้วยอีกเช่นกัน

 

ยังพบอีกว่ามีการคัดลอกเนื้อหาในหน้า 72-73 จากหน้าที่ 117-119 ในวิทยานิพนธ์ของวัชรพล โรจนวงรัตน์ รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2560 โดยมีการใส่เชิงอรรถไว้ด้านล่าง แต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกันคำต่อคำ

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

ลอกงาน iLaw

ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ หลัง iLaw กล่าวหาตัดแปะข้อมูล เขียนเล่มจบปริญญาเอก

related