svasdssvasds

“แสวง” แจงรูปแบบสมัคร ส.ว.ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เตือน! ฮั้ว 2 รูปแบบ ห้ามทำ

“แสวง” แจงรูปแบบสมัคร ส.ว.ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เตือน! ฮั้ว 2 รูปแบบ ห้ามทำ

แสวง แจงรูปแบบวิธีสมัคร สว. ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่สับสน บังคับใช้กับผู้สมัครไม่ห้ามสื่อประชาสัมพันธ์ ประชาชน-ผู้สมัคร ดูข้อมูลในแอพ Smart Vote-เว็บ กกต. ได้ เผยมีฮั้ว 2 รูปแบบ สมัครเพื่อแลกคะแนน-เพื่อเลือก ไม่หวังชนะ

SHORT CUT

  • กกต.แจงรูปแบบวิธีสมัคร สว. ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่สับสน บังคับใช้กับผู้สมัครไม่ห้ามสื่อประชาสัมพันธ์ ประชาชน-ผู้สมัคร 
  • ระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร สามารถทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ให้แนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกัน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
  • กฎหมายมีการออกแบบมาเพื่อป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการฮั้ว

แสวง แจงรูปแบบวิธีสมัคร สว. ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่สับสน บังคับใช้กับผู้สมัครไม่ห้ามสื่อประชาสัมพันธ์ ประชาชน-ผู้สมัคร ดูข้อมูลในแอพ Smart Vote-เว็บ กกต. ได้ เผยมีฮั้ว 2 รูปแบบ สมัครเพื่อแลกคะแนน-เพื่อเลือก ไม่หวังชนะ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และการแนะนำตัวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า รูปแบบและการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด แต่สิ่งที่ กกต. ทำคือ เรื่องการแนะนำตัว ซึ่งต้องแยกกันกับเรื่องประชาชนไม่มีสิทธิเลือก 

ส่วนการแนะนำตัว กกต. ไม่ได้ทำเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวกับผู้ที่มีสิทธิ์เลือก ก็คือผู้สมัครด้วยกันเอง เราตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน ถึงแม้ประชาชนไม่ได้เลือกโดยตรง แต่ก็เป็นตัวแทนปวงชนชาชาวไทย ต้องทำหน้าที่แทนดังนั้นประชาชนมีสิทธิ์ติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ หลังปิดรับสมัคร แต่ระหว่างที่สมัครไม่ให้เปิดเผยชื่อ เพราะจะมีมีส่วนได้เสีย ระหว่างกลุ่มต่างๆ

ซึ่ง กกต. จะนำรายชื่อผู้สมัครทุกคนลงในแอพพลิเคชัน Smart Vote และเว็บไซต์ กกต. ประชาชนก็จะทราบรายชื่อ ประวัติ ประสบการณ์การทำงาน ของผู้สมัคร สว. ทุกคน และผู้สมัครก็ต่างติดต่อกันได้ ทางช่องทางอีเมล์ และ LINE  ซึ่งระบบนี้เพียงพอ ทำให้ทั้งประชาชนและผู้สมัครด้วยกัน พิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้

การเชิญชวนกับการเปิดตัวทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนที่ผู้สมัครบางคนออกมาเปิดตัว แนะนำตัว ผิดหรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า ไม่ได้ผิดกฎหมาย การเชิญชวนกับการเปิดตัวทำได้ ซึ่ง กกต. เองก็เชิญชวน ขอให้ไม่ให้มีคุณสมบัติต้องห้าม และมีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพที่จะลง เช่นเดียวกับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หรือคนอื่นๆ ก็สามารถทำได้ ที่เชิญชวนให้คนลงสมัคร สว.

การเลือก สว. ช่วงเวลาไม่เหมือนกับ สส.

ส่วนกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.ก้าวไกล ออกมาระบุว่าไทม์ไลน์การเลือก สว. ยังไม่ชัดเจนนั้น นายแสวง กล่าวว่า การเลือก สว. ช่วงเวลาไม่เหมือนกับ สส. ที่ต้องกำหนดภายใน 45-60 วัน แต่การเลือก สว. จะนับหนึ่งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา จากนั้นจะมีเวลาของแต่ละกระบวนการในการเลือกระดับอำเภอ จังหวัด ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่ได้กำหนดว่าภายในกี่วัน

ส่วนระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร สามารถทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ให้แนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกัน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนประวัติและข้อมูลต่างๆ กกต. เผยแพร่ในเว็บไซต์อยู่แล้ว 

สำหรับผู้สมัครในระดับอำเภอ จะไม่ทราบจำนวน แต่ระดับจังหวัดจะเหลือ 55,000 คน ประชาชนสามารถติดตามได้ตลอด ส่วนในวันเลือกตั้งจะมีการถ่ายทอดผ่านระบบวงจรปิด ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศที่เมืองทองธานี เพื่อให้ผู้สื่อข่าวและประชาชน สังเกตการณ์บรรยากาศภายใน ที่ผู้สมัครไปออกเสียงลงคะแนน

นายแสวง ยังกล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่ง กกต. ได้ติดตามจากสื่อและผู้สมัคร ก็ยังไม่มีอะไรหมิ่นเหม่ล่อแหลมที่จะผิดกฎหมาย โดยระเบียบที่ออกมาใช้กับผู้สมัคร ไม่ได้บังคับใช้กับสื่อ และสื่อสามารถรายงาน วิเคราะห์ข่าวได้หมด แต่ให้พึงระวังในเรื่องกฎหมายอื่นที่อาจมีการหมิ่นประมาทได้

ส่วน กกต. มีกลไกป้องกันการทุจริต การฮั้วกันในการคัดเลือกอย่างไรนั้น นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายมีการออกแบบมาเพื่อป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการฮั้ว ซึ่งจากนี้ไปจะมีมาตรการ โดยเมื่อดูจากผู้สมัครที่มีเป็น 100,000 คน ดูเหมือนจะเยอะ แต่เมื่อพิจารณาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพ 928 อำเภอ ถ้าคนสมัคร 400,000 คน ในระดับอำเภอ จะเลือกแค่ 20 คนเท่านั้น  

ผู้สมัครสามารถศึกษาประวัติของคนที่จะเลือกในกลุ่มนั้นแค่ 20 คน ในระดับอำเภอของตัวเอง ไม่ต้องไปดูอำเภออื่น

มาตรการการฮั้วจะมี 2 รูปแบบ

  1. ทุกคนแลกคะแนนกัน ซึ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว เรามีการติดตามข้อมูลทุกกลุ่มไว้แล้ว ไม่ว่าจะทำบนดินหรือใต้ดิน
  2. การจัดตั้ง คือการเอาผู้สมัครมาเลือกคนที่จะเป็น ไม่ได้สมัครเพื่อเป็น แต่สมัครเพื่อจะเลือก นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายแสวง กล่าวติดตลกว่า  ตนได้ชี้แจงเรื่องการเลือก สว. ผ่าน Facebook หลายครั้ง และถูกทัวร์ลง แต่ไม่เป็นไรลานจอดยังเยอะอยู่

ซึ่งก่อนหน้านี้นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สว. รัฐธรรมนูญออกแบบไว้อย่างไร ทำไมต้องแนะนำตัว ห้ามหาเสียง มันต่างกันอย่างไร โทษการแนะนำตัว กับโทษทุจริตในการเลือก การให้ความรู้ เชิญชวนคนสมัครทำได้หรือไม่ ทำไม กกต. ออกระเบียบแนะนำตัวแบบนี้

สว. ตามรัฐธรรมนูญมีลักษณะอย่างไร

  1. วุฒิสภา ต้องต่างจาก สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ สภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาของนักการเมือง
  2. สมาชิกวุฒิสภา (สว.)"ต้องเป็นกลางทางการเมือง ตาม ม.114 ของรัฐธรรมนูญ แต่สภาผู้แทนราษฎร(สส.) "เป็นสภาของนักการเมือง"
  3. สว. เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ จากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ แต่ สส. เป็น สภาของสมาชิกพรรคการเมือง
  4. สว. มีที่มาจากการเลือกกันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ สส. มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน
  5. สว. ต้องเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งต่างจาก สส.โดยสิ้นเชิง ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่ต้องมีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และ เป็นนักการเมืองเต็มตัว

การแนะนำตัว(เลือก) และการหาเสียง(เลือกตั้ง)

ด้วยเหตุข้างต้นที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้ สว.มีลักษณะดังกล่าว กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัคร สว. ทำได้แค่แนะนำตัว นั้นหมายความว่าห้ามหาเสียงโดยปริยาย เพราะเชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองที่สมัครทุกคน มีความดี เด่น ดัง ในสาขาอาชีพของตัวเองเป็นที่ประจักษ์และทราบกันดีในวงการนั้นดีอยู่แล้ว และด้วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวิจารณญานในการเลือกที่ถูกต้องได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการจัดตั้ง ฮั้วกันในการเลือก  

  1. การแนะนำตัว คือ การบอกว่าตัวเองเป็นใคร มีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพนั้นอย่างไร แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองมีข้อมูลในการเลือกในการเลือกกันเองแล้ว ไม่ว่าจะเลือกในกลุ่มหรือเลือกไขว้ก็ตาม
  2. การหาเสียง คือ การหา หรือขอคะแนนนิยม โดยการโฆษณา การเสนอนโยบาย หรือการแสดงวิสัยทัศน์ ของพรรคการเมืองและผู้สมัคร

ดังนั้นเมื่อพูดถึงที่มา ของ สว. ต้องรู้ให้จริงว่ามาจาก การเลือก/การแนะนำตัว อย่าไปสับสนกับที่มา สส.ที่มาจาก การเลือกตั้ง/การหาเสียง นั้นแสดงว่ารู้ไม่จริง หรือแกล้งไม่รู้เพื่อให้ประชาชนสับสนหรือประโยชน์ทางการเมือง

โทษการแนะนำตัว และโทษการทุจริตในการเลือก 

  1. โทษของการแนะนำตัว เช่น การขอคะแนนกัน การแลกคะแนนกัน(ยังไม่ซื้อเสียง) ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ศาลฏีกาได้วินิจฉัยฉัยใว้แล้วว่าเป็นการแนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามคำพิพากษาศาลฏีกา ที่ 5606/2562 และ ที่ 5217/2562 พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง(ใบดำ/ตลอดชีวิต) นั้นหมายความว่า การจัดตั้ง การฮั้ว (ยังไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง)ก็อยู่ในลักษณะความผิดนี้ด้วย
  2. โทษของการทุจริตในการเลือก เช่น การซื้อเสียง รวมทั้งโทษอื่น เช่น จ้างให้คนลงสมัคร รับจ้างสมัคร สมัครโดยเอกสารเท็จ รับรองการสมัคร กลุ่มความผิดนี้ มีทั้ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) จำคุก และเสียเงินค่าปรับด้วย

ดังนั้น ให้พึงระวังให้ดี แม้ไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 2)เรื่องการทุจริตในการเลือก แต่แนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความผิดโดนใบดำได้

การให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัครทำได้หรือไม่

การให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัครโดยทั่วไปแล้วหยุดแค่ให้ความรู้ หรือเชิญชวน ลักษณะนี้โดยตัวมันเองทำได้อยู่แล้ว แต่อาจเป็นเหตุให้เป็นความผิดอื่นได้ เมื่อได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการให้ความรู้ หรือการเชิญชวน อาทิ 

  1. การตั้งกลุ่ม เพื่อติดต่อกันไม่ว่าในช่องทางใดๆ เช่น การตั้งกลุ่มไลน์ และมีการแลกคะแนนกัน ขอคะแนนกัน การฮั้วกัน เป็นต้น
  2. การสร้างกลุ่มแต่มีการแนะนำตัว ไม่เป็นไปวิธีแนะนำตัวตามที่ระเบียบกำหนด เช่น การเสนอนโยบาย เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นกับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป

ทำไม กกต. ออกระเบียบแบบนี้ กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว บนหลักการ 3 ประการ

  1. เพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภา ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
  2. เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิเดินมาสมัครด้วยตัวเอง หากมีมีการจัดตั้ง การบริหารจัดการอยู่เบื้องหลัง การจัดตั้งกลุ่มทำไห้ได้ สว. ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง และเอาเปรียบคนตั้งใจดี
  3. หวังดี คุ้มครองผู้สมัคร ส่วนคนที่คิดจะไปเข้ากลุ่มจะได้คิดว่า กลุ่มนั้นจะทำผิดวิธีแนะนำตัวหรือไม่

อยากเป็น สว. ต้องแนะนำตัวให้ถูก ไม่ยากเลย และเป็นธรรมกับทุกคน อย่าคิดเอาเปรียบคนอื่น ทุกความเห็น เรารับฟังมาตลอด ไม่ว่าความเห็นนั้นจะไม่อยู่บนหลักกฎหมาย หรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ แต่สุดท้าย เราก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่อาจทำตามความต้องการของคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related